ณรงค์ ใจหาญ
กฎหมายวัตถุออกฤทธิ์์ต่อจิตและประสาทของไทย ซึ่งใช้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2518 มีความไม่ทันสมัยในหลายๆ ประการ ดังนั้น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงได้ให้ความเห็นชอบกฎหมายวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทฉบับใหม่ เพื่อบังคับใช้แทนฉบับเดิม ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนที่ 107 ก ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2559 โดยมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ทั้งนี้เหตุผลในการแก้ไขกฎหมายเพื่อควบคุมสภาพปัญหาเกี่ยวกับวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท การขออนุญาต และการออกใบอนุญาตเกี่ยวกับวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หน้าที่ของผู้รับอนุญาต หน้าที่ของเภสัขกร การโฆษณา และอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับด่านตรวจสอบวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และการให้โอกาสผู้เสพ เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อขาย หรือเสพและขายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทได้สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาล รวมถึงปรับปรุงบทกำหนดโทษและอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
วัตถุออกฤทธิ์่ต่อจิตและประสาทในกฎหมายใหม่นี้ ยังคงกำหนดไว้สี่ประเภท โดยจัดทำเป็นประกาศระบุชื่อ ซึ่งจำแนกจากปัจจัยสองประการคือ การนำไปใช้ในทางแพทย์และอาจก่อให้เกิดการนำไปใช้ในทางที่ผิดหรือมีแนวโน้มในการนำไปใช้ในทางที่ผิดสูงแตกต่างกันออกไป ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการกระทรวงสาธารณสุข จะออกประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (มาตรา 7)
มาตรการในการควบคุมการผลิต นำเข้า หรือส่งออก หรือขาย หรือใช้พาหนะในการนำเข้าวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทกำหนดไว้ในหมวด 2 ซึ่งกำหนดให้ขออนุญาตและผู้อนุญาต ซึ่งได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย โดยมีอำนาจในการอนุญาตนอกเหนือจากการอนุญาตของผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดอื่นนอกกรุงเทพมหานครเฉพาะในการขายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท2 ประเภท 3 และประเภท 4 ทั้งนี้ภายใต้หลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 14-17) ส่วนประเภท 1 กำหนดไว้เคร่งครัดตามมาตรา 20
ในหมวดที่สาม กำหนดมาตรการของผู้รับใบอนุญาตจะต้องดำเนินการหลังได้รับใบอนุญาตโดยแยกแต่ละประเภทของวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท อาทิเช่น การจัดให้มีป้ายแสดงว่าเป็นสถานที่ส่งออก ป้ายแสดงชื่อและวันเวลาของเภสัชกร ลักษณะของป้าย ดูแลให้มีสลากและเอกสารกำกับวัตถุออกฤทธิ์ การแยกเก็บวัตถุออกฤทธิ์เป็นสัดส่วนจากยาหรือวัตถุอื่น การทำบัญชีเกี่ยวกับการส่งออก เป็นต้น ทั้งนี้รวมถึงการย้าย เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มสถานที่ผลิต สถานที่ขาย สถานที่นำเข้า จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาต (มาตรา 43)ทั้งนี้ ผู้รับอนุญาตไม่อาจครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ประเภท 3 และ 4 ไม่เกินที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด (มาตรา 47) ทั้งนี้มาตรการเหล่านี้มีวัตถุประสงค์จะควบคุมการผลิต จำหน่าย การนำเข้า ส่งออก รวมถึงควบคุมการครอบครองเพื่อจำหน่ายของผู้ได้รับใบอนุญาต และการดำเนินการเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ จำนวน ปริมาณ และคุณภาพด้วย
ในหมวด 4 เป็นการกำหนดหน้าที่ของเภสัชกร ได้แก่การควบคุมให้สถานที่ผลิต ขาย วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ดำเนินการตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 3 และเภสัชกรมีหน้าที่อยู่ประจำควบคุมกิจการตลอดเวลาที่เปิดทำการ (มาตรา 48-55) และมีหน้าที่ในการตรวจสอบว่าผู้รับใบอนุญาตได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในหมวดที่ 3 หรือไม่
หมวด 5 กำหนดมาตรการควบคุมวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ปลอม ผิดมาตรฐานและเสื่อมคุณภาพ ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับในกรณีที่ต้องขึ้นทะเบียนตำรับ หรือที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียนวัตถุตำรับ โดยการห้ามผลิต ขาย นำเข้าหรือส่งออก วัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าว (มาตรา 57) และมีบทบัญญํติให้ถือว่าเป็นวัตถุออกฤทธ์ต่อจิตและประสาทปลอม วัตถุออกฤทธิ์ผิดมาตรฐาน และวัตถุออกฤทธิ์เสื่อมคุณภาพไว้ในมาตรา 58, 59 และ 60 ตามลำดับ เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อการบังคับใช้กฎหมายของพนักงานเเจ้าหน้าที่
หมวด 6 เป็นการควบคุมวัตถุตำรับ โดยการขึ้นทะเบียน ผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้า และควบคุมคุณภาพของวัตถุตำรับที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ หากไม่มีสรรพคุณตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ก็อาจเพิกถอนได้โดยขอเสนอของคณะกรรมการฯ เพื่อขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้เพิกถอน ตำรับได้ แต่ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 68)
หมวด 7 การโฆษณา มีข้อจำกัดในการโฆษณาแก่บุคคลทั่วไป ให้โฆษณาได้เฉพาะที่ระบุไว้ในสลาก หรือเอกสารกำกับวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ที่ภาชนะหรือหีบห่อ หรือต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม เภสัชกรรม หรือสัตวแพทย์ชั้นหนึ่งแต่ในกรณีหลังนี้ต้องได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาตก่อน และหากมีการฝ่าฝืน ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งให้แก้ไขหรือห้ามใช้ข้อความบางอย่างได้ตามมาตรา 71
หมวด 8 ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ตามมาตรา 74 ซึ่งเป็นอำนาจในการค้น สถานที่ เคหสถาน ยานพาหนะ ค้นตัวบุคคล และเรียกมาให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสาร วัตถุใดได้ รวมถึงการนำวัตถุออกฤทธิ์ จากสถานที่นั้นไปเพื่อเป็นตัวอย่างในการตรวจสอบหากเป็นวัตถุออกฤทธิ์ที่ไม่ปลอดภัย หรืออาจเป็นอันตรายแก่ผู้ใช้ ได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 75 ซึ่งอำนาจตามที่กำหนดนี้ ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถทราบได้ว่ามีการปฏิบัติการตามมาตรการที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือไม่ และหากมีการฝ่าฝืนก็จะต้องดำเนิ นการตามกฎหมายซึ่งอาจใช้มาตรการในทางปกครองหรือทางอาญาเพื่อดำเนินการแก่ผู้รับใบอนุญาตหรือเภสัชกรได้ต่อไป
หมวด 9 เป็นมาตรการพักใช้ใบอนุญาตหากมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎกระทรวง หรือประกาศ โดยผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท โดยมีอำนาจสั่งพักใบอนุญาตได้ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน แต่ถ้ามีการฟ้องคดีอาญาว่าได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญํตินี้ ผู้อนุญาตอาจสั่งพักได้จนกว่าคดีจะถึงที่สุดก็ได้ (มาตรา 79) แต่ต้องแจ้งเป็นหนังสือ อย่างไรก็ดี คำส่ังพักใบอนุญาตนี้ อาจเพิกถอนก่อนได้
หมวด 10 มีมาตรการในการห้ามครอบครอง เสพ หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ หรือห้ามจูงใจหรือชักนำ หรือยุยงส่งเสริม ใช้อุบายหลอกลวงหรือบังคับให้ผู้อื่นเสพวัตถุออกฤทธิ์ เว้นแต่จะเช้าข้อยกเว้เนที่กฎหมายให้กระทำได้ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการในการตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเสพวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทว่ามีอยู่ในร่างกายหรือไม่ ซึ่งต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 94 พระราชบัญญัตินี้มีมาตรการในทางอาญาและกำหนดโทษไว้สูงสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตที่ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนด และมีมาตรการในการบำบัดผู้เสพวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทด้วย แต่จะขอกล่าวรายละเอียดในอีกบทต่อไป
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นมาตรการทางกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองการผลิต จำหน่าย การนำเข้า วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท บนพื้นฐานว่า วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เป็นสิ่งจำเป็นในการที่จะนำมาใช้ในทางการแพทย์ทั้งในด้านการรักษาทางอายุรกรรม ทันตกรรม และสัตว์แพทย์ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุม รวมถึงการจำกัดปริมาณในการครอบครองเพื่อขาย หรือตรวจสอบจำนวนที่จำหน่าย การจำหน่วยต้องเป็นไปตามใบสั่งของแพทย์ การขนส่งที่ป้องกันการสูญหาย ทั้งนี้เพื่อป้องกันการขายโดยเสรี หรือการนำไปใช้ในทางที่ผิดหรือเกินขนาด อันมีผลต่อสุขภาพของผู้เสพ และนำไปสู่คุณภาพของประชากรที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ยาเกินขนาด หรือใช้โดยขาดการควบคุม นอกจากนี้ มาตรการในการควบคุมการปลอม หรือวัตถุออกฤทธิ์ที่เสื่อมคุณภาพ ก็เป็นหลักประกันที่จะตรวจสอบผู้ผลิตจำหน่ายที่จะขายวัตถุออกฤทธิ์อันมีผลต่อสุขภาพของผู้เสพด้วย อย่างไรก็ดี มาตรการในการควบคุมนี้ จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจตราและเฝ้าระวังว่ามีการฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจำเป็นต้องมีจำนวนมากเพียงพอ หรืออาศัยอาสาสมัครแจ้งเบาะแส หรือมีกระบวนการตรวจสอบอย่างเข้มงวด มิฉะนั้นแล้วก็อาจมีการผลิต จำหน่าย ครอบครองที่ไม่เป็นไปตามมาตรการที่กฎหมายกำหนด อันจะส่งผลให้มาตรการควบคุมไม่มีประสิทธิภาพตามเจตนารมณ์ที่กฎหมายกำหนด