ทวี สุรฤทธิกุล “ตาอยาก” ก็คือ “อยากเป็นรัฐบาล” ตอนนี้มีผู้ลองประเมินแล้วว่า ผลการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้ แต่ละพรรคจะได้ ส.ส.จำนวนเท่าใด โดยแยกเป็น 3 กลุ่มตามจำนวนของ ส.ส.ที่แต่ละพรรคจะได้มา กลุ่มแรกคือกลุ่มพรรคขนาดใหญ่ที่น่าจะได้ ส.ส.มาเกิน 100 คน กลุ่มที่สองคือกลุ่มพรรคขนาดกลางที่น่าจะได้ ส.ส.ระหว่าง 20 – 100 คน และกลุ่มที่สามคือพรรคขนาดเล็กที่ได้ ส.ส.ต่ำกว่า 20 คนลงไป กลุ่มพรรคขนาดใหญ่น่าจะมีอยู่เพียง 3 พรรค คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ โดยคำนวณว่าทั้งสามพรรคนี้น่าจะได้ ส.ส.เกินกว่า 100 คน แต่ไม่เกิน 150 คน ซึ่งเมื่อรวม ส.ส.ทั้งระบบเขตเลือกตั้งและระบบบัญชีรายชื่อของทั้งสามพรรคนี้น่าจะอยู่ระหว่าง 340 – 360 คน โดยมีสมมุติฐานตามขนาดของ “ความทุ่มเท” และ “ฐานเสียง” ของแต่ละพรรค ซึ่งจะทำให้พรรคเพื่อไทยน่าจะได้ ส.ส.มากที่สุด ราว 120 – 130 คน พรรคพลังประชารัฐราว 110 – 120 คน และพรรคประชาธิปัตย์ราว 100 – 110 คน ในขณะที่พรรคขนาดกลางจะมีอยู่ราว 4 – 5 พรรค ที่น่าจะได้ ส.ส.รวมกันไม่เกิน 100 คน ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และพรรครวมพลังประชาชาติไทย (หรืออาจจะมี “พรรคเสือซุ่ม” บางพรรคที่ดูฟอร์มเล็กๆ แต่อาจจะได้ ส.ส.มาเป็นกอบเป็นกำก็ได้ เช่น พรรคพลังท้องถิ่นไท เป็นต้น) ทั้งนี้ไม่ขอนับพรรคไทยรักษาชาติที่น่าจะอยู่ในกลุ่มนี้ แต่ทราบว่ากำลังมีปัญหาถึงขั้นอาจจะต้องถูกยุบพรรค จึงขอเว้นไว้ไม่นับจำนวน ส.ส.ให้ ส่วนกลุ่มพรรคขนาดเล็กนั้นก็อาจจะมีสอดแทรกเข้ามาไม่น่าจะเกิน 10 พรรค โดยมี ส.ส.รวมกันแล้วไม่น่าจะเกิน 50 คน ส.ส.ทั้งสามกลุ่มนี้ถูกประเมินอีกว่า สามารถแยกออกไปได้อีก 3 กลุ่ม โดยพิจารณาจาก “จุดยืนในการตั้งรัฐบาล” ของแต่ละพรรค คือ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่สนับสนุนทหาร โดยต้องการให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ที่ประกาศตัวออกมาอย่างชัดแจ้งแล้วก็คือ พรรคพลังประชารัฐกับพรรครวมพลังประชาติไทย กลุ่มต่อมาคือกลุ่มที่ไม่เอาทหารและไม่ต้องการให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อ ก็ได้แก่ พรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ ที่การแสดงจุดยืนอย่างมั่นคงมาโดยตลอด ส่วนพรรคอื่นๆ ที่เหลือนั้นยังไม่อาจ “มั่นใจ” ถึงจุดยืนที่ชัดเจน เพราะยังวางตัว “เป็นกลางๆ” จนถึงขั้น “วางเฉย” ไม่แสดงจุดยืนอะไรออกมา ซึ่งเมื่อถึงเวลาจัดตั้งรัฐบาลอาจจะไม่อยู่ข้างไหนหรือรวมกับพรรคอะไรก็ได้ แบบที่เรียกว่า “ตาอยู่” โดยหลักของการจัดตั้งรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย เริ่มต้นต้องให้โอกาสแก่ “พรรคที่ได้เสียงข้างมาก” เป็นผู้ตั้งรัฐบาลขึ้นก่อน ในกรณีนี้ก็คือต้องให้โอกาสแก่พรรคเพื่อไทยในการฟอร์มรัฐบาลก่อนพรรคอื่นๆ แต่ผู้ที่ต้องการสืบทอดอำนาจก็ได้วาง “หมากกล” ไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ว่า การที่พรรคใดจะจัดตั้งรัฐบาลได้ก็จะต้องมีการเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีให้รัฐสภาเลือกเสียก่อน ซึ่งผู้ลงคะแนนเลือกนายกฯก็คือ ส.ส. 500 คน ร่วมกับ ส.ว.อีก 250 คน ที่จะต้องได้คะแนนเสียงรวมกันเกินครึ่ง คือ 376 คนขึ้นไป โดยหมากกลสำคัญก็คือผู้ที่ต้องการสืบทอดอำนาจมีคะแนนจาก ส.ว.ที่พวกเขาแต่งตั้งตุนไว้แล้ว 250 คน จึงต้องการคะแนนจาก ส.ส.อีกเพียง 126 คน ดังนั้นแม้พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.มามากที่สุด แต่ก็คงไม่สามารถได้เป็นรัฐบาล เพราะไม่สามารถตั้งนายกรัฐมนตรีได้ เนื่องจากไม่สามารถรวบรวมสมาชิกรัฐสภาให้มาร่วมรับรองชื่อนายกรัฐมนตรีที่พรรคเพื่อไทยเสนอได้ ตามหมากกลนี้พลเอกประยุทธ์ต้องได้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอน และพรรคพลังประชารัฐก็จะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลอย่าง “สะดวกโยธิน” (“โยธิน” ตามพจนานุกรมแปลว่า “ทหาร” ขอรับ) การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐอาจจะไม่สง่างามนัก แต่ “ความไม่สง่างาม” นี้เองก็เกิดขึ้นกับการเมืองไทยได้เสมอ ทั้งยังเป็นที่ยอมรับของคนหลายๆ คนได้อย่างหน้าตาเฉยด้วย เพราะตามหมากกลนี้(การใช้คะแนนจากสมาชิกรัฐสภา 376 เสียง)จะมีเพียงพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวคือพรรคพลังประชารัฐเท่านั้นที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แน่นอนว่าจะต้องถูกพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากคือพรรคเพื่อไทย รวมทั้งพรรคที่ไม่เอาทหารอย่างพรรคอนาคตใหม่ “ดาหน้าถล่ม” อย่างหนักอย่างแน่นอน แต่ว่าก็จะมีพรรคที่ไม่ได้แสดงจุดยืนอะไรชัดเจน ที่เรียกว่า “ตาอยู่” (คนรุ่นเก่าน่าจะรู้จักนิทานเรื่องนี้เป็นอย่างดีทุกคน ที่ว่าตาอินแย่งปลากับตานา แล้วตาอยู่ก็มาช่วยแบ่งปลา ให้ตาอินได้หัวปลา ตานาได้หางปลา ส่วนตาอยู่ได้ตัวปลาทั้งตัวนั้นไป) ที่ในตอนหาเสียงอาจจะไม่ได้แสดงอาการสนิทสนมกับพรรคพลังประชารัฐมากนัก แต่เมื่อเห็นสภาพว่า “ไพ่ทั้งหมด” อยู่ในกำมือของพรรคพลังประชารัฐ ก็จะไม่คิดอะไรมาก และจะหันมาให้ความสนใจ “อยาก” ร่วมรัฐบาลขึ้นในทันที แม้แต่พรรคที่ว่าเก่าแก่ที่สุดก็มีคนเชื่อว่าอาจจะ “ใจอ่อน” ยอมร่วมหอลงโรงกับเขาด้วย ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามหมากกลนี้ แม้ในระยะแรกพรรคพลังประชารัฐอาจจะไม่ใช่พรรคที่ได้เสียงมากที่สุด แต่สุดท้ายกลุ่ม ส.ส.ที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ก็จะเป็นกลุ่ม ส.ส.ที่มีจำนวนมากที่สุด ความไม่สง่างามในตอนแรกจึงถูก “แปลงโฉม” ด้วยการดึงพวก “ตาอยาก” เข้ามาอยู่ในกลุ่มนี่เอง ซึ่ง “ความอยาก” อาจจะมีทั้งที่อยากมาร่วมรัฐบาลโดย “สมัครใจ” และที่ต้องมาร่วมเพราะ “ไม่สมัครใจ” แต่ก็จำเป็นต้องมาร่วม อย่างที่มีบางคนเรียกว่า “รัฐบาลในภาวะพิเศษ” แรกๆ อาจจะ “ขัดๆ เขินๆ” อยู่ไปอาจจะ “ติดใจ” ใครจะไปรู้