เสือตัวที่ 6 ความร่วมแรงร่วมใจของพี่น้องพุทธและมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพื้นที่ของวัดเทพนิมิต หรือวัดบ้านกลาง ซึ่งเป็นวัดในพื้นที่ ตำบลบ้านกลาง อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี จากประวัติ วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่ ที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยดูจากสถาปัตยกรรมและลวดลายศิลปะ บ้างก็ว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นในช่วงต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ราวปี พ.ศ.2406 โดยกิจกรรมของวัดเทพนิมิตแห่งนี้ ได้ทำให้เป้าหมายของการเป็นพหุสังคมในพื้นที่แห่งนี้ เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้วจริงๆ เมื่อวันมาฆบูชาตามหลักของศาสนาพุทธ ก็ได้เกิดความร่วมมือกันระหว่างคนสองศาสนาในพื้นที่อย่างกลมกลืนและงดงามยิ่ง นับเป็นตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนถึงความสมัครสมานสามัคคีของพี่น้องในพื้นที่ ไม่ว่าจะมีความเชื่อ ความศรัทธาในศาสนาไหน ความเป็นพหุสังคม ที่หมายถึงคนในสังคมที่อยู่ร่วมกันได้อย่างมิตรภาพ ท่ามกลางความหลากหลายของกลุ่มคนที่ว่านี้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ ที่วัดเทพนิมิต พระอาจารย์เรวัต ถิรสัทโธ อายุ 53 ปี บวชมากว่า 30 พรรษา เป็นชาวอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดนิมิตแห่งนี้ ภายหลังจากวัดนี้ถูกทิ้งร้างมานาน จากเหตุความไม่สงบ ความรุนแรงที่กลุ่มคนหัวรุนแรงไร้มนุษยธรรม ได้กระทำสิ่งเลวร้ายให้เกิดขึ้นกับทุกคนอย่างไม่เลือกหน้า ที่แม้แต่ผู้ทรงศีลยังถูกลอบทำร้าย โดยพระอาจารย์เรวัต เป็นพระที่ทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิมให้ความเคารพนับถือ ทำให้พี่น้องพุทธและมุสลิมร่วมมือกันเข้าไปซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างที่ชำรุดเสียหายจากการถูกทิ้งร้างมานาน ปรากฏการณ์นี้สะท้อนถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนบ้านกลางที่แม้จะมีความเชื่อในหลักศาสนาที่แตกต่างกัน แต่ก็หาได้เป็นเส้นแบ่งผู้คนทั้งสองศาสนาออกจากกันตามที่แกนนำขบวนการแบ่งแยกผู้คนในพื้นที่พยายามทำให้เกิดความแตกต่าง สู่ความแตกแยกระหว่างผู้คนสองศาสนาขึ้นได้ ปรากฏการณ์ที่วัดเทพนิมิตครั้งล่าสุดนี้ สะท้อนถึงภาพในอดีต ภาพแห่งการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนต่างศาสนิก ซึ่งเป็นภาพที่เป็นปกติธรรมดาที่สามารถพบเห็นได้อยู่ทั่วไปในดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ภาพที่ชาวไทยพุทธร่วมงานของชาวมุสลิม และคนมุสลิมก็มาร่วมกิจกรรมในงานของชาวไทยพุทธ เป็นภาพที่บ่งบอกถึงความสวยงามของพหุสังคมที่ร้อยรัดผู้คนต่างวัฒนธรรม เข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกันได้ โดยไม่มีแบ่งแยกด้วยเหตุผลของความแตกต่าง หากแต่หลังจากเกิดขบวนการแบ่งแยกผู้คนต่างศาสนาให้เกิดความหวาดระแวง เกิดความรังเกียจเดียดฉันท์ต่อกัน สถานการณ์ในพื้นที่ ก็เกิดความไม่สงบ ความเสียหาย ความไม่ก้าวหน้า ไม่พัฒนา ก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้นแบบของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ รักใคร่กลมเกลียว ของคนที่มีความนิยมชมชอบในวิถีชีวิตที่แตกต่างกันที่วัดเทพนิมิต และชุมชนบ้านกลาง จึงเป็นต้นแบบ ตัวอย่างที่จะช่วยผลักดันกระแสของพหุสังคมในชุมชนอื่นๆ ในพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้ให้กล้าแข็งขึ้น และต้นแบบของพหุสังคมที่กำลังขับเคลื่อนได้อย่างงดงามครั้งนี้ ก็จะช่วยสะท้อนกลับไปยังกลุ่มคนที่ยังมีแนวคิดสุดโต่ง นิยมใช้ความรุนแรงเข้าห้ำหั่นคนที่มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า หมดเวลาแล้วในการสร้างความแตกแยกบนความเห็นต่างของคนในพื้นที่ เพราะพี่น้องชาวไทยมุสลิมในพื้นที่แห่งนี้แหละที่จะเป็นเกราะป้องกันอันตรายใดๆ ที่จะเกิดขึ้นกับเจ้าอาวาสผู้เป็นผู้นำพหุสังคมท่านนี้ ตลอดถึงการป้องกันการคุกคามจากคนหัวรุนแรงนอกพื้นที่ชุชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งนั่น จะส่งผลให้กลุ่มคนแนวคิดสุดโต่ง ต้องคิดหนัก หากพยายามจะทำลายความสวยงามของพหุสังคมแห่งนี้ให้พังทลายลงอีกครั้งหนึ่ง และต้นแบบของพหุสังคมของวัดเทพนิมิตแห่งนี้ จะเป็นต้นแบบให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมในพื้นที่อื่นๆ มีความปรารถนาให้ความสวยงาม สงบร่มเย็น ร่วมมือกันสร้างสรรค์ความเจริญให้ชุมชนเพื่ออนาคตที่ดีของลูกหลาน เกิดขึ้นกับชุมชนของพวกเขาเองอย่างเต็มใจ เหล่านี้จะเป็นต้นทางของการทำให้ทุกศาสนา ผู้นำทุกกลุ่ม ทุกแบบ มีสติยั้งคิด ทบทวน สิ่งที่ผ่านมา และมุ่งหน้าหาหนทางที่สร้างสรรค์มากกว่าในการพัฒนาอนาคต แล้วร่วมกันสร้างสังคมที่มีความสงบสุขให้กลับมาอีกครั้ง ด้วยการตอกย้ำถึงบรรยากาศแห่งมิตรภาพและสมานฉันท์ในพื้นที่วัดนิมิต ที่เจ้าอาวาสท่านใหม่ กล่าวอย่างน่าชื่นชมว่า "ชาวบ้านที่นี่อยู่ร่วมกันอย่างสามัคคีและให้เกียรติกันระหว่างศาสนา มุสลิมมาช่วยกันสร้างกุฏิเพราะในวัดตอนนั้นมีอยู่กุฏิเดียว เกือบจะพังแล้ว เมื่อฉันมาเป็นเจ้าอาวาส พวกเขาจึงมาช่วยกันสร้างกุฏิหลังใหม่ เราช่วยกันทั้งพระ ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ บางที 4 ทุ่มยังทำกันอยู่เลย" พระนักพัฒนาท่านนี้ ยังพูดถึงการบำเพ็ญภาวนา ซึ่งแต่ละศาสนามีจุดมุ่งหมายไม่ต่างกัน อย่างน่าคิดว่า “ คิดว่าตื่นเช้าแล้วให้มีเวลาถึงหลับ ตอนก่อนหลับก็ภาวนาให้ถึงสว่าง พอสว่างก็ภาวนาขอให้อยู่จนถึงหลับ เมื่ออายุยืนแล้วทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ดีกว่าคำสอน" เหล่านี้นับเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เป็นต้นแบบที่จับต้องได้ ดีกว่าคำอ้อนวอนใดๆ ที่ประสงค์ให้สังคมที่มีวิถีต่างกัน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างร่มเย็นเป็นสุข จากการร้อยรัดผู้คนในสังคมให้มีสัมพันธ์แนบแน่น เป็นสังคมเดียวกันของพหุสังคมอันงดงาม