ขณะที่ความเงียบเข้าปกคลุมที่ทำการพรรคไทยรักษาชาติ ไม่มีแกนนำคนสำคัญเข้า-ออกที่พรรค ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งนัดฟังคำวินิจฉัย "คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ" ในวันที่ 7 มี.ค.นี้ และดูเหมือนว่าหลายคนในพรรคจะรู้ชะตากรรมของทั้งพรรคและ "กรรมการบริหารพรรค" ว่าผลที่จะออกมา จะเป็นไปในทางที่เป็นลบ ไม่เป็นผลดีต่อพรรค
บรรยากาศอันเงียบเหงาที่พรรคไทยรักษาชาติ กำลังทำให้พรรคการเมืองในปีกเดียวกันทั้ง พรรคเพื่อไทยและพรรคเพื่อชาติ ไปจนถึงพรรคประชาชาติ และพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะพรรคพันธมิตร อาจต้องขบคิดกันอย่างหนัก ว่าหากพรรคไทยรักษาชาติ มีอันต้องถูกยุบกันจริงๆแล้ว "คะแนนเสียง" ของไทยรักษาชาติ จะสามารถเทไปยังพรรคสาขา พรรคใดได้บ้าง
จะเป็นพรรคในเครือข่ายพันธมิตร หรือจะไหลไปยัง "พรรคอนาคตใหม่" ที่มี "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หัวหน้าพรรค ได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้ คะแนนของไทยรักษาชาติ ต้องสูญเปล่า เพราะต้องไม่ลืมว่าพรรคไทยรักษาชาติ ถูกตั้งขึ้นมาและชูภาพของ "คนรุ่นใหม่" หวังเปิดแนวรบ ที่แตกต่างไปจาก "พรรคเพื่อไทย" ซึ่งถือเป็นพรรคหลัก อย่างชัดเจน
ทั้งเพื่อต้องการลดโทนภาพของ "นักการเมืองรุ่นเก่า" จึงมีการผลักดัน "ปรีชาพล พงษ์พานิช" นักการเมืองหนุ่มขึ้นมานั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค รวมทั้งยังส่งคนรุ่นใหม่ เข้าไปนั่งเป็นกรรมการบริหารพรรค ไปจนถึงการวางตัวผู้สมัครส.ส.ปาร์ตี้ลสิต์ ของพรรค
แต่เมื่อหนทางสำหรับไทยรักษาชาติกำลังริบหรี่ลง ไร้ซึ่งความหวัง ทำให้กองเชียร์พากันคาดหวังว่า อาจจะเกิด "คะแนนสงสาร" จากไทยรักษาชาติ ไหลไปสมทบกับพรรคเพื่อไทย !
อย่างไรก็ดีคะแนนสงสารที่ว่านี้กำลังก่อตัวขึ้นเพื่อหวังซัพพอร์ตทั้งตัว ธนาธร และพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากสถานการณ์ของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไม่สู้ดีนัก ทั้งตัวธนาธรเองที่ดูเหมือนว่าจนถึงวันนี้ เขาเองยังไม่สามารถดิ้นรนได้พ้นจากความผิดทางอาญาในมาตรา 112
เพราะในท่ามกลางกระแส # ฟ้ารักพ่อ หรือการแห่แหนต้อนรับธนาธร จากกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า จนถึงวันนี้ยังมีคำถามไปยังธนาธร เรื่องความจงรักภักดี นอกจากนี้ล่าสุดยังมีความเคลื่อนไหว ขอให้มีการยุบพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นตามมา
เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา "บุญถาวร ปัญญาสิทธิ์" ทีมงานประชาชนและปกป้องรัฐธรรมนูญ ยื่นหนังสือขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการพิจารณาส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ ตามมาตรา 92 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพราะมีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
จากกรณีที่ธนาธร และปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ใช้วาทะกรรมที่ส่อว่ามีเจตนาดังกล่าวหลายครั้ง ตั้งแต่ปี 2554 รวมไปถึงการประกาศยกเลิกมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และล่าสุดกับคำให้สัมภาษณ์ที่ระบุว่าจะสานต่อภารกิจของคณะราษฎร์ให้สำเร็จ ซึ่งต้องถามนายธนาธร ว่าหมายถึงอะไร ?
เค้าลางแห่งความวุ่นวาย ความสุ่มเสี่ยงผุดขึ้นมาก่อนหน้านี้เป็นระลอก แต่ดูเหมือนว่ากำลังจะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เมื่อมี "ผู้ร้อง" ขยับออกมาเคลื่อนไหว พุ่งเป้าไปยังพรรคอนาคตใหม่เช่นนี้แล้ว สิ่งที่ต้องจับตาจากนี้ไป คือการลุ้นว่ากกต.จะหยิบคำร้องดังกล่าว ขึ้นมาพิจารณาเป็นคิวต่อไป หรือไม่ ?