มีความพยายามในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ เข้ามาเป็นผู้ช่วยในด้านต่างๆ ทั้งดูแลความมั่นคง ความปลอดภัย วินัยจราจร และการดำเนินชีวิตประจำวัน
แต่ปัจจุบันมีการนำเอไอ เข้ามาช่วยในการกำกับพฤติกรรมของพลเมือง ให้เคารพกฎหมายแล้ว อย่างที่เป็นข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศว่า ในประเทศจีน ได้นำระบบ Social Credit หรือ คะแนนความดี มาใช้ โดยเป็นระบบการตัดคะแนนพฤติกรรมของประชาชนที่ไม่เคารพกฎหมาย โดยมีบทลงโทษคือ ผู้ที่ฝ่ากฎหมายเหล่านั้นจะไม่สามารถซื้อตั๋วเครื่องบิน หรือรถไฟความเร็วสูงได้
โดยเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี2014 ทำการหักคะแนนจากผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ในที่ต้องห้าม กระทั่งการพาสุนัขไปเดินเล่นนอกบ้านโดยไม่มีสายจูง เป็นต้น
ที่สำคัญมีการใช้เทคโนโลนีระบบจดจำใบหน้าของประชากร เพื่อสอดส่องและควบคุมพฤติกรรมด้วย โดยเมื่อปีที่ผ่านมา มีชาวจีนกว่า 17.5 ล้านคนถูกตัดสิทธิไม่ให้ซื้อตั๋วเครื่องบิน และอีก 5.5 ล้านคนไม่สามารถซื้อตั๋วรถไฟได้ เนื่องจากคะแนนความดีไม่เพียงพอ
National Public Credit Information Center ยังเปิดเผยรายชื่อคนที่อยู่ในบัญชีดำกว่า 169 รายชื่อผ่านทางเว็บไซต์ Credit Chinaซึ่งคนที่ถูกขึ้นบัญชีดำ จะไม่มีสิทธิ์ในการซื้อตั๋วเครื่องบินหรือรถไฟได้เลยเป็นเวลานาน 1 ปีเต็ม
อย่างไรก็ตาม ระบบดังกล่าวมีข้อดีในการช่วยดูแลและตรวจสอบปัญหาต่างๆ ได้มากกว่าเดิม ซึ่งในประเทศจีนที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์นั้น นั้นมีความเด็ดขาดและสามารถไปได้ดีกับระบบนี้
แต่สำหรับประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนอาจมีความกังวลเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว และการลิดรอนสิทธิเสรีภาพต่างๆ โดยเฉพาะระบบจดจำใบหน้า
สำหรับประเทศไทย หากจะพัฒนาระบบดังกล่าวนำมาใช้คงต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ระหว่างผลได้ ผลเสียที่จะเกิดขึ้น และคงมีข้อถกเถียงกันอ่างกว้างขวาง ด้วยอาจเป็นช่องทางให้ผู้มีอำนาจใช้ประโยชน์ในทางการเมือง ในการกำจัดคูแข่ง หรือสร้างความได้เปรียบต่างๆ
กระนั้น ในหลายครั้งที่เราเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ จากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น ล่าสุดที่กลุ่มวัยรุ่นฝ่าฝืนดื่มสุราในวัด และเป็นเหตุให้เกิดการทำร้ายร่างกาย ครูและนักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ การใช้ปัญญาประดิษฐ์อาจเข้ามาเป็นตัวช่วยได้
แต่ที่สำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด และมีประสิทธิภาพ ไม่ให้เกิดเหตุกาารณ์เหมือนบ้านป่าเมืองเถื่อน อย่างกรณีที่เกิดขึ้น