แสงไทย เค้าภูไทย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับ พ.ศ.2559 กลายเป็นยาขมของประชากรเน็ต เนื่องจากเนื้อหาควบคุมเข้มงวดและมีบทลงโทษรุนแรงจนเข้าข่ายล่วงล้ำสิทธิส่วนบุคคล สมาร์ทโฟนเครื่องมือสื่อสารผ่านระบบอินเตอร์เน็ตทุกวันนี้มีบทบาทในชีวิตของมนุษย์มากเสียจนจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต ถ้าเป็นคนไทยก็ต้องถือเป็นปัจจัยที่ 5 ต่อจากปัจจัย 4 ดั้งเดิมคือที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรค ของฝรั่งตอนนี้ถือเป็น Internet of things คืออะไรๆก็อินเตอร์เน็ต เพราะอินเตอร์เน็ตเข้าไปแทนที่หลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นองค์ประกอบในการดำรงชีวิตหรือดำเนินชีวิต ล่าสุดเข้าไปแทนที่ตลาดค้าปลีกได้บางส่วน จนถึงกับร้านค้าปลีกในอเมริกาที่มีสาขาเป็นพันๆแห่งต้องปิดสาขากันปีละหลายร้อยสาขา เหตุจากลูกค้าหันไปซื้อสินค้าผ่านระบบอินเตอร์เน็ต อีกด้าน การสื่อสาร ส่งข้อความ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฏปฏิบัติของมนุษย์ส่วนหนึ่งของโลกไปแล้ว บางคนถึงกับเป็นโรค”ติดเน็ต” หรือเสพติดอินเตอร์เน็ตใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตวันละหลายๆชั่วโมง คนไทยนั้นมีการใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตถึง 7.7 ชั่วโมง ต่อวันขณะใช้เวลากับการนอนแค่ 6.3 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ประเทศที่มีคนใช้อินเตอร์เน็ตมากที่สุดในโลกคือจีนจำนวน 674 ล้านคนจากจำนวนประชากร 1.374 ล้านคนคิดเป็น 49% รองลงมาคืออินเดีย 375 ล้านคนจากจำนวนประชากร1.267 พันล้านคนคิดเป็น 30% สหรัฐ 280 ล้านคนจากจำนวนประชากร 324 ล้านคนคิด 86.41 % ญี่ปุ่น 115 ล้านคนจากจำนวนประชากร 127 ล้านคน คิดเป็น 90.55% ส่วนไทย 38 ล้านคนจากจำนวนประชากร 68 ล้านคน คิดเป็น 55.88% ดูกันตามสัดส่วนของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตกับจำนวนประชากรแล้ว ญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีประชากร(อินเตอร์)เน็ตมากที่สุดในโลก แต่ไม่ค่อยมีข่าวเรื่องการใช้อินเตอร์เน็ตในทางที่ไม่ดี ไม่ว่าจะด้านการใช้ก่ออาชญากรรม ใช้ในทางผิดศีลธรรม ใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตมากจนเสียงาน จะมีก็แต่ทำงานเสียจนตายคางานหรือเครียดกับงานจนฆ่าตัวตายอย่างที่เป็นข่าวเมื่อเร็วๆนี้ที่เกิดกับพนักงานสาวของบริษัทเดนสึ ยักษ์ใหญ่โฆษณาระดับโลก ซึ่งยังมีการวิพากษ์วิจารณ์กันในสื่อต่างโดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ ส่วนที่ใช้กันในทางที่ก่อให้เกิดปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวันมากก็คือจีน โดยเฉพาะกับเด็กวัยเรียน ทางการจีนถึงกับตัดกระแสไฟร้านบริการอินเตอร์เน็ตเวลา 22.00 น.ทุกวัน เหตุจากเด็กนักเรียนไปใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตมากเกินไป ประชากรเน็ตส่วนหนึ่งเป็นโรคเสพติดอินเตอร์เน็ตอย่างรุนแรงจนถึงกับทางการต้องตั้งโรงเรียนรักษาโรคเสพติดอินเตอร์เน็ต โดยใช้กระบวนการฝึกทหารเข้ามาล้างอาการติดเน็ต เมืองไทยก็มีโรงเรียนรักษาโรคเสพติดอินเตอร์เน็ตเหมือนกัน ใช้ชื่อว่า “ศูนย์บำบัดรักษาผู้ติดไลน์” เพราะขณะนี้ มีวัยรุ่นไทยจำนวนมากที่เสพติดอินเตอร์เน็ตอย่างหนักจนเสียการเรียนและตัดขาดวงจรชีวิตประจำวัน การใช้อินเตอร์เน็ตของคนไทยส่วนใหญ่ใช้ด้านสื่อสังคมออนไลน์ เช่นเฟซบุ้ค ไลน์ อินสตาแกรม เว็บส่วนตัวฯลฯ เนื้อหาส่วนใหญ่ที่โพสต์กันมีตั้งแต่คุยกัน แสดงความเห็นส่วนตัว วิพากษ์วิจารณ์ส่วนตัวส่วนรวมการเมือง ส่งคลิปเหตุการณ์แปลกๆ สร้างกระแสสังคม ความเชื่อ ขายสินค้า ขายบริการทุกด้าน แม้กระทั่งบริการทางเพศ กิจกรรมทางสังคม กิจกรรมการเมือง หลอกลวง ก่ออาชญากรรมทางการเงิน ฯลฯ การสื่อสาร บันเทิง ข้อมูลทุกด้านกิจกรรมของมนุษย์ที่ต้องผ่านระบบสื่อสาร ล้วนมารวมกันอยู่ในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว สื่อหนังสือพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ ถูกสื่อ IT หรือสื่อสารโทรคมนาคมระบบอินเตอร์เน็ตแย่งไปหมดจนหนังสือพิมพ์หลายฉบับเริ่มทยอยปิดตัว นิวยอร์กไทม์ นิวสวีค เป็นตัวอย่างที่เห็นกันชัดเจน โดยปิดการพิมพ์จำแหน่าย หันมาให้บริการทางอินเตอร์เน็ตอย่างเดียว ของไทยเชื่อว่าภายใน 5 ปีข้างหน้าจะเหลือหนังสือพิมพ์ในรูปสิ่งพิมพ์ไม่เกิน 10 ฉบับ มหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนวิชาสื่อสารมวลชนหรือนิเทศศาสร์หลายแห่งยุบคณะ ผู้สื่อข่าวทุกวันนี้ไม่ต้องเรียน ก็เป็นนักขาวได้ เพียงแต่มีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียว ลงทะเบียนไลน์หรือเฟซบุ้คเท่านั้นก็สามารถส่งข่าว ส่งข้อความ ส่งภาพส่งวีดิโอได้แล้ว นักข่าวหรือสื่อมวลชนดั้งเดิมใช้เวลาเรียนถึง 4 ปี ต้องฝึกงานตามหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ วิทยุกันเป็นเดือนๆถึงจะจบได้รับปริญญาออกมาประกอบอาชีพตามวิชาชีพที่เรียนมาได้ แต่นักเลงเน็ตวันนี้ ไม่ต้องเรียนวิชาชีพเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนเลยก็ทำอะไรๆเหมือนกับนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงหลักจรรยาบัน เพราะไม่เคยเรียน ไม่เคยรู้ วุฒิการศึกษาของคนเล่นเน็ตมีตั้งแต่จบป.4 อ่านออก เขียนได้ ไปจนจบดอกเตอร์ วัยตั้งแต่อนุบาลไปจน 70-80 ขึ้น ประชากรเน็ตที่เป็นคนสูงอายุนับวันจะเพิ่มขึ้น ตามสภาพสังคมที่ไทยกำลังย่างเข้าสู่สังคมสูงวัย คนแก่มีเวลาว่างมาก มีประสบการณ์ในชีวิตและการงานมาก เป็นกลุ่มที่”ชอบตื่นเช้า ชอบเล่าความหลัง” วันๆไม่รู้จะทำอะไร จึงใช้เวลาอยู่กับอินเตอร์เน็ตมาก พฤติกรรมในการใช้อินเตอร์เน็ตของคนไทยมีความหลากหลายมาก ผันแปรไปตามปัจจัยและปัจเจก ขึ้นอยู่กับตัวบ่งชี้ เช่นวัย ระดับการศึกษา อาชีพ กลุ่มสังคม กลุ่มรายได้ สถานที่ สิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมฯลฯ การออกกฎหมายควบคุมพฤติกรรมในการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก เพราะต้องครอบคลุมพฤติกรรมที่ทำกันเป็นประจำและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เรามีกฎหมายการพิมพ์ควบคุมหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ และสื่อมวลชนสาขาอื่นๆซึ่งเข้มงวดมาก หากถือว่าอินเตอร์เน็ตเป็นสื่อสารมวลชนแขนงหนึ่งก็น่าจะนำมาปรับใช้ หนังสือพิมพ์นั้นผู้รับผิดชอบ คือบรรณาธิการ ระวางโทษสูงสุดคือจำคุก หรือหนังสือพิมพ์ถูกปิด ในกรณีที่มีการนำเสนอข้อความที่เข้าข่ายผิกฎหมาย แต่ก่อนบรรณาธิการโดนคนเดียวเดี๋ยวนี้คนเขียนโดนด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็น่าจะไม่ต่างไปจาก พ.ร.บ.การพิมพ์เท่าใดนัก แต่ชาวหนังสือพิมพ์ก็อยู่กันได้ในกรอบกฎหมายนั้น คนไทยใช้เน็ต 38 ล้านคน ลองอยู่ในกรอบกฎหมายคอมพิวเตอรฉบับนี้ดู ถ้าเดือดร้อนเกิน 10% หรือ 3.8 ล้านคน ค่อยดินขบวนประท้วงกันดีไหม?