รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กระแสข่าวการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นเป็น โดยเฉพาะการแข่งขันลงพื้นที่หาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ เป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจของประชาชนอย่างกว้างขวาง และถือเป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมของการเข้าสู่เทศกาลเลือกตั้งทั่วไปอย่างเป็นทางการ และในช่วงเวลาอีกหนึ่งเดือนข้างหน้าจะเป็นช่วงเวลาที่กระแสการบ้านการเมืองไทยกลับมาทวีความดุเดือดขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะกระแสการหาเสียงเพื่อแย่งชิงคะแนนนิยมของพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งในขณะนี้มีสัญญาณที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการเลือกตั้งสนามใหญ่ในครั้งนี้ จะเป็นสมรภูมิการเลือกตั้งที่มีการต่อสู้กันอย่างดุเดือดเผ็ดมันชนิด “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” อย่างแน่นอน ยุทธวิธีที่พรรคการเมืองต่างตระเตรียมไว้เพื่อแย่งชิงคะแนนนิยมในการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นยุทธวิธีที่มีความพิถีพิถันเป็นพิเศษ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกตัวแทนเพื่อลงชิงชัยในนามตัวแทนพรรค ซึ่งพรรคการเมืองต่างๆ ต่างพยายามเลือกเฟ้นบุคคลจากกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่มีชื่อเสียง มีความรู้ความสามารถ เป็นที่รู้จัก และได้รับการยอมรับจากสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ลูกนักการเมือง ไฮโซ รวมถึงศิลปินดารา หรือแม้แต่นักกีฬาที่มีชื่อเสียง ต่างพาเพรดเข้าสู่สมรภูมิการเลือกตั้งแบบชนิดที่เรียกได้ว่าล้นหลาม การใช้ยุทธวิธีดังกล่าว สิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับการหาเสียงเพื่อแย่งชิงคะแนนนิยม เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับการนำบุคคลที่ไม่เป็นที่รู้จัก และบุคคลที่มีชื่อเสียงในเชิงลบในสังคมมาลงสมัครแล้ว ก็คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าการกระทำดังกล่าว น่าจะ “เพิ่มแต้มต่อทางการเมือง” อย่างน้อยก็ในมิติของการประชาสัมพันธ์พรรคการเมืองได้ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตามสิ่งที่อยู่คู่กับการหาเสียงในทุกยุคทุกสมัย จนเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการหาเสียง ก็คือ ป้ายหาเสียงของผู้สมัครจากพรรคต่างๆ ซึ่งในอดีตกรรมวิธีการผลิตป้ายเป็นสิ่งที่ยุ่งยากมาก เนื่องจากจะต้องใช้ช่างฝีมือวาดภาพผู้สมัครคนนั้นๆ แต่ต่อมาเทคโนโลยีด้านการพิมพ์ได้รับการพัฒนาให้มีความเจริญขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการผลิตป้ายหาเสียงได้รับการพัฒนาให้มีขนาด และรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ล้วนเป็นแรงหนุนที่ทำให้ “ป้ายหาเสียง” ยังคงเป็นอุปกรณ์เสริมที่เข้าถึงประชาชนทุกเพศทุกวัย แม้สังคมไทยจะเข้าสู่ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ก็ตาม นอกจาก “ป้ายหาเสียง” แล้ว “ช่องทางสื่อสารอื่นๆ” ยังถือเป็นจุดเด่นของการเลือกตั้งครั้งนี้ที่ได้รับความสนใจจากสังคมไม่น้อย ซึ่งปัจจุบันพรรคการเมืองต่างๆ ใช้ “สื่อ” ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ แต่ “สื่อ” ที่เป็นสีสันของการเลือกตั้งครั้งนี้ คงหนีไม่พ้น “สื่อออนไลน์” หรือ Internet ส่งสารผ่าน Website Blog Face Book และ Twitter เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ใช้สื่อสารกับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ เรียกได้ว่า “การหาเสียงการเลือกตั้งในปี 2562” เป็นการหาเสียงที่พรรคการเมือง ต่างงัดกลเม็ดเด็ดพรายที่หลากหลายในการสื่อสารเพื่อโน้มน้าวใจประชาชนให้ได้มากที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม แม้พรรคการเมืองจะใช้ยุทธวิธีการหาเสียงที่หลากหลายเพียงใด แต่หากยุทธวิธีการหาเสียง “ไม่โดนใจ” ก็คงไม่สามารถโน้มน้าวจิตใจของประชาชนได้ นอกจากนั้นกระแสข่าวการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นเป็นที่จับตามองและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการแข่งขันลงพื้นที่หาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ จนเกิดการกระทบกระทั่งกันบ้างทั้งในเรื่องนโยบายและกลุ่มบุคคลที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ล้วนเป็น “เรื่องน้ำเน่าทางการเมือง” ซึ่งอาจฉุดให้คะแนนนิยมของพรรคการเมืองต่างๆ ดิ่งเหวลงก็เป็นได้ จากการเหตุผลดังกล่าวทำให้ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของ ประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 1,157 คน ในประเด็น การหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส. ในทัศนะประชาชน ทำให้พบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้ ประชาชนมีความกังวลใจกับการหาเสียง ณ วันนี้ ในเรื่องใดบ้าง? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 39.62 คือ แข่งขันสูง ใช้วิธีรุนแรง ไม่สร้างสรรค์ รองลงมา ได้แก่ จ่ายเงินซื้อเสียง ทุจริต ร้อยละ 32.01 ทำไม่ได้ตามที่พูด ชูนโยบายเกินจริง ร้อยละ 27.32 หาเสียง ลงพื้นที่ เข้าหาประชาชนเฉพาะช่วงเลือกตั้ง ร้อยละ 20.02 และปล่อยข่าวเท็จ ใส่ร้าย โจมตีกันไปมา ร้อยละ 14.49 สิ่งที่ประชาชนอยากขอร้องจากนักการเมือง กรณี การหาเสียง คืออะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 35.57 คือ นโยบายทำได้จริง พูดจริง ไม่ขายฝัน รองลงมา ได้แก่ ทำตาม กฎหมายเลือกตั้ง ไม่ซื้อเสียง ร้อยละ 24.66 ไม่ใส่ร้ายคู่แข่ง สร้างความวุ่นวาย ร้อยละ 21.36 เป็นแบบอย่างที่ดี ร้อยละ 16.02 และติดป้ายหาเสียงในที่เหมาะสม ไม่กีดขวางทางเท้า ร้อยละ 12.50 นื่คือ ภาพสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งหากพรรคการเมือง ไม่สามารถทำตามความต้องการของประชาชนได้แล้ว คงต้องยอมรับว่าการจะได้ใจ “ประชาชน...คงแป็นเรื่องยาก..!!” แม้จะใช้ยุทธวิธีที่หลายหลากก็ตาม เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการหาเสียง คือ ความจริงใจ ความตั้งใจจริง ตลอดจน การใช้ยุทธวิธีที่โปร่งใส ถูกกฎหมาย ถูกใจ กกต. ..!! แต่หาก “ไม่เชื่อ” ยังหาเสียงแบบ “นอกลู่นอกทาง” การหาเสียง ก็อาจสร้างความเสื่อมไม่เพียงแค่ตัวผู้สมัคร พรรคการเมือง แต่อาจล่ามไปถึงระบอบประชาธิปไตยแบบไทยไทยก็เป็นได้...!! ถ้าไม่เชื่อกัน!!.. ก็อย่าหาว่า “ไม่เตือน”..!!