สถาพร ศรีสัจจัง ได้ดูสกู๊ปจากทีวีช่องหนึ่ง ออกชื่อให้ก็ได้ว่าคือช่องหมายเลข 22 เขาตามไปลงพื้นที่ทางการเมืองที่นักการเมืองทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่กำลังลงพื้นที่เดินหน้าใช้ยุทธวิธี “ไหว้ดะ” ตามสูตรเก่าเพื่อขอคะแนนเสียงจากบรรดาราษฎรทั้งมีอันจะกินและไม่มีจะกิน ทั้งหาเช้ากินค่ำ และหาเย็นกินดอกเบี้ย ในพื้นที่สลัมเก่าแก่ดั้งเดิมที่ชื่อ “คลองเตย”            นักข่าวช่องดังกล่าวได้สุ่มสัมภาษณ์ตัวแทนพรรคการเมืองที่ลงสมัครผู้แทนฯได้ “เบอร์” เรียบร้อยแล้วหลายคนด้วยกัน ว่ามี “นโยบาย” เฉพาะพื้นที่ “คลองเตย” นี้อย่างไรบ้าง?            เท่าที่สังเกตุพบว่า ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาฯเดี๋ยวนี้มีลักษณะร่วมประการหนึ่ง คือพูดเก่งพูดคล่องเป็นอย่างยิ่ง            ไม่ไดับอกว่า “พูดดี” นะ!           ใครอยากรู้ว่า “พูดดี” กับ “พูดเก่ง” ต่างกันอย่างไร ไม่มีเวลาแนะนำในที่นี้ ถ้าอยากรู้จริงก็ขอแนะนำให้ไปหาหนังสือชื่อ “พูดดี พูดเก่ง” ของ “ซิเซโร” นักการเมืองชาวโรมันยุคก่อนคริสตกาลเล็กน้อย (106-43) ที่ถูกกลุ่มทหารและนักการเมืองเผด็จการกลุ่ม “มาร์ค แอนโทนี” ลอบสังหารแล้วนำหัวไปเสียบประจานไว้ใน “สภาสูง” ในฐานะมีความติดสนับสนุนระบบ “สาธารณรัฐ”           หนังสือเล่มนี้ได้รับการยืนยันว่า “ดีจริง” ทั้งจากผู้รู้ฝรั่งและไทยมาอย่างยาวนาน คงทนต่อการพิสูจน์ จำชื่อคนแปลไม่ได้เสียแล้ว แต่ดูเหมือนผู้จัดพิมพ์จะคือสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยยุคที่ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ยังมีบทบาทในสมาคมนั้นอยู่             ออกนอกเรื่องไปเสียยาว (แต่ได้ประโยชน์?) ที่นี้กลับเข้าเรืองสกู๊ปของทีวี ช่อง 22 ต่ออีกหน่อย นอกจากจะสัมภาษณ์นักการเมืองที่ลงสมัครในเขตคลองเตย ประเวศแล้ว เขายังสัมภาษณ์ชาวบ้านร้านช่องในเขตนั้นควบคู่ไปด้วย             จุดน่าสนใจก็เรื่องที่สัมภาษณ์ชาวบ้านนี่แหละ!             ชาวบ้านแถบคลองเตยที่ให้สัมภาษณ์เกือบทุกคนเห็นตรงกันอยู่เรื่องหนึ่ง คือ พวกเขาเสนอว่า พรรคการเมืองและนักการเมืองที่ผ่านๆมามักชอบ “ขายฝัน” คือเสนอนโยบายสวยหรูเฉพาะช่วงหาเสียงเท่านั้น พอได้รับเลือกตั้งแล้วก็เหมือนกันทุกพรรค คือ “หายจ้อย” แล้วค่อยกลับมา แก้ตัว ในการหาเสียงครั้งต่อๆไป ในทำนอง “ที่ทำไม่ได้คราวที่แล้วเพราะ...” (ไม่ใช่เพราะข้อบกพร่องของตัวเองหรือพรรคตัวเอง)             ครั้งนี้ชาวบ้านเขาบอกว่าไม่ต้องการ “ภาพฝันๆ” อย่างนั้นอีกแล้ว ต้องพูดให้เป็นรูปธรรมว่าจะทำอย่างไร ทุกอย่างของชาวบ้านจึงจะดีขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ในทำนองต้องทำให้ชาวบ้านเชื่อได้เหมือนสำนวนไทยที่ว่า “กำขี้ดีกว่ากำตด” หรือเปล่า? (สำนวนไทยสำนวนนี้ชวนงงนะ เพราะที่จริง การกำตดน่าจะดีกว่ากำขี้ อย่างน้อยก็ไม่เลอะและเหม็นมือเท่าไหร่นัก)             ดูสกู๊ปเรื่องนี้แล้วรู้สึกขัดแย้งๆยังไงพิกล เพราะในความเป็นจริงทั่วไป คนไทยชอบความฝันมาก ทั้งฝันกลางวันและฝันกลางคืน ก็อย่างเช่นที่รู้กัน ก่อนที่สลากกินแบ่งรัฐบาลจะออกทุกงวด ชาวบ้านมักจะถามกันในทำนอง “มีใครฝันดีบ้าง?” อยู่เป็นประจำ สภากาแฟในหมู่บ้านภาคใต้ มักเป็นสถานที่ “แก้ฝัน” ให้เป็นตัวเลขอยู่เสมอ เพื่อนำไป “ซื้อฝัน” (ลมๆแล้งๆ) กันตลอดมา(ทั้งจากหวยรัฐและหวยใต้ดินนั่นแหละ) ซื้อกันทุกเดือน เดือนละอย่างน้อยตั้ง 2 ครั้งมิใช่หรือ?             หรือชาวบ้านเขาเข็ดหลาบเฉพาะ “ฝัน” ที่มาจาก “นักการเมือง” เท่านั้น เพราะพวกเขาสรุปได้ว่าฝันที่นักการเมืองนำมาบอกตอนหาเสียง มักทำให้พวกเขาต้อง “เจ๊ง” ตลอดมา!!!