เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
ภาษาเกลียดชัง (hate speech) สร้างความแตกแยก ความขัดแย้ง ความรุนแรง และอาชญากรรม ในหลายประเทศจึงมีการตรากฎหมายและโทษทางอาญา
ภาษาเกลียดชัง (hate speech) เป็นพี่น้องท้องเดียวกับการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้เกลียดชัง (hate propaganda) ซึ่งมีอุดมการณ์หนุนหลัง มีพลังล้างผลาญรุนแรง อย่างนาซีเยอรมันที่ฆ่ายิวไป 6 ล้านคน ฆ่ากันเองในรวันดาเมื่อปี 1994 เพียง 3 เดือนเกือบล้านคน เพราะการปลุกระดมโหมไฟแห่งความโกรธ เกลียด เคียดแค้นระหว่างคนสองเผ่า
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภาษาและโฆษณาให้เกลียดชังกันระหว่างเผ่าพันธุ์ที่ยูโกสลาเวีย เกิดสงครามที่ทำให้คนตายไป 140,000 คน พลัดถิ่น 4 ล้านคน ยูโกสลาเวียแตกออกเป็น 7 ประเทศ
หรือโฆษณาชวนเชื่อของทั้งค่ายคอมมิวนิสท์และเสรีประชาธิปไตยในยุคสงครามเย็น ที่สาดโคลน ใส่ร้ายป้ายสี ทำให้เกลียดกลัวมนุษย์ดัวยกัน (xenophobia) เห็นเป็นผีห่าซาตาน ผู้สูงวัยวันนี้ถ้าอยู่บ้านนอก ตอนเป็นเด็กคงเคยดูหนังขายยากลางแปลง น่าจะจำหนังสารคดีที่เขาฉายก่อนหนังเรื่องได้ เป็นของยูซิสที่ทำให้เห็นว่า คอมมิวนิสท์ไม่ใช่คน แต่เป็นผีร้ายที่จะต้องกำจัด
การสื่อสารภาษาเกลียดชังใช้ทุกช่องทาง โดยเฉพาะทางสื่อที่ถึงมวลชนกว้างไกล ได้ยินได้ฟังกรอกหูทุกวัน ที่สุดก็เชื่อว่าจริง เหมือนคนที่ใช้วิทยุชุมชนหลายพันสถานีทั่วประเทศไทยไม่กี่ปีก่อน ชาวบ้านฟังจนติด ฟังจนเชื่อ แม้ว่าเรื่องราวที่พูดกันจะจริงบ้างเท็จบ้าง มีการไส่ร้ายป้ายสี
และคงไม่มีใครปฏิเสธว่า ภาษาเกลียดชังที่ใช้กันทางสื่อวิทยุที่ว่านั้นมีส่วนในการปลุกระดมให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงช่วง 6 ปีก่อนรัฐประหาร 2557
ย้อนไปก่อน 6 ตุลาฯ 2519 ภาษาและการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อความเกลียดชังทวีขึ้น เหตุการณ์ 6 ตุลาคือความรุนแรงและความโหดเหี้ยมที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ประเทศที่ชอบอ้างว่ารักสันติ
สถานีวิทยุโทรทัศน์ โดยเฉพาะในกำกับทหาร คือ เครื่องมือสื่อสารและโฆษณาภาษาเกลียดชัง ปลุกระดมผู้คนให้เกลียดชังนักศึกษา ให้ขวาพิฆาตซ้าย ได้ยินเพลง “หนักแผ่นผดิน” ทุกวัน โดยเฉพาะทาง “วิทยุยานเกราะ”
ความรุนแรงของการปลุกระดมทำให้เกิดภาพที่ไม่น่าเชื่ออย่างการแขวนคอนักศึกษาที่ต้นมะขาม สนามหลวง การทุบตี การที่มด้วยไม้ การเผายาง และอื่นๆ ที่รอดตายหลายพันคนก็หนีเข้าป่า และออกมาด้วยนโยบาย 66/23 ที่พูดกันด้วยภาษาแห่งสันติและการคืนดี
สังคมไทยไม่ควรอับอายกับเรื่องที่เกิดขึ้น ควรมีพิพิธภัณฑ์ถาวร ไม่ใช่แค่นิทรรศการชั่วคราว เพื่อเป็นบทเรียนให้คนรุ่นหลัง เพราะคนไม่เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ก็จะทำให้เกิดซ้ำอีก ถ้าได้เรียนรู้จริง เพลง “หนักแผ่นดิน” ไม่น่าจะถลับมาในปี 2562 น่าจะถูกแบนไปนานแล้ว
เครื่องหมายอักษะของนาซีถูกแบนไม่ใช่เพียงจากเยอรมันและอิสราแอล แต่จากประชาคมโลก ไม่เช่นนั้นเจ้าชายแฮรี่คงไม่ถูกประณาม ทางสำนักพระราชวังอังกฤษต้องออกมาขอโทษที่เจ้าชายน้อยเอาเครื่องหมายต้องห้ามนี้ไปทำเล่นแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์
เช่นเดียวกับนักเรียนหญิงที่เชียงใหม่ที่ไม่รู้กาละเทศะ รวมทั้งนักร้องที่ไม่นานมานี้ต้องเร่ไปขอโทษถึงสถานทูตอิสราแอล แล้วเอาเพลง “หนักแผ่นดิน” มาเปิดอีกทำไมก็ไม่รู้ สะใจบางคนและปลุกระดมได้ก็จริง แต่สะเทือนใจไม่แต่ญาติผู้ตายในเหตุการณ์ 6 ตุลา เท่านั้น แต่คนไทยที่รักสันติทุกคน
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหประชาชาติได้ตั้ง คณะกรรมการกำจัดการแบ่งแยกทางเผ่าพันธุ์ (CERD) ซึ่งรวมไปถึงการเหยียดและแบ่งแยกเพราะสีผิว เผ่าพันธุ์ ศาสนา ความเชื่อ เชื้อชาติ อุดมการณ์
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง การพิจารณาอาชญากรรมสงครามผู้นำเยอรมันที่ “ศาลนูแรมเบอร์ก” หนึ่งในผู้ที่ถูกตัดสินว่าทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คือ นาย Julius Streicher บรรณาธิการนิตยสาร Der Stuermer ที่ปลุกระดมการฆ่าล้างชาวยิว
ภาษาเกลียดชัง เป็นอคติที่ก่อให้เกิดความรุนแรง ทนไม่ได้ต่อความคิดเห็น ความเชื่อที่แตกต่าง แสดงออกแบบก้าวร้าวด้วยการอ้างความรักชาติ ซึ่งน่าจะเป็นความคลั่งชาติมากกว่า ต้องการรักษาสถานภาพ ผลประโยชน์และอำนาจของตนเอง
ไม่แบนเพลง “หนักแผ่นดิน” แต่ไปแบนหนังสือดีๆ หลายเล่มที่ประเทืองปัญญาอย่าง “ฟ้าบ่กั้น” ที่ถูกเก็บเรียบในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อปี 2504 และอีกมากมายหลายเล่มหลัง ๖ ตุลา
ฟ้าบ่กั้น ของ “ลาวคำหอม” พิมพ์ถึง 22 ครั้ง แปลออกไป 9 ภาษาทั่วโลก แสดงให้เห็นว่า เนื้อหาสาระของหนังสือเล่มนี้ผู้คนให้การยกย่องยอมรับขนาดไหน หนังสือเล่มนี้ไม่ได้หนักแผ่นดิน แต่ “หนักใจ” คนมีอำนาจ
การใช้ภาษาเกลียดชัง (hate speech) วันนี้น่ากลัวมาก ระบาดไปทั่ว โซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยถ้อยคำ ที่สะท้อนความเกลียดชัง และปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกแห่งความรุนแรง โหมไฟแห่งความแตกแยกและหายนะของบ้านเมือง
การวิจารณ์นั้นใช้สติปัญญา การด่าว่าใช้อารมณ์ความรู้สึก ภาษาเกลียดชังใช้อย่างหลังนี้ เป็นการพูดที่ขาดสติ ใช้แต่สัญชาติญาณดิบ ที่ตัดสินความขัดแย้งด้วยกำลังและความรุนแรง