ทีมข่าวคิดลึก
การปรับคณะรัฐมนตรี ครั้งล่าสุดจาก "ประยุทธ์ 3" มาสู่ "ประยุทธ์ 4" กลายเป็นประเด็นที่ถูกจับตามากที่สุดนับตั้งแต่ก่อนและหลังการประกาศรายชื่อ "รัฐมนตรีใหม่" ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง พร้อมทั้งได้เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา
เพราะการปรับ ครม.รอบนี้ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัดสินใจ "ปรับใหญ่" ด้วยกันถึง 12 ตำแหน่ง และโดยเฉพาะเป็นการ "ปรับทัพทีมเศรษฐกิจ" อย่างชัดเจน โดยการปรับเปลี่ยนตัวผู้เล่นที่มาจากอดีตข้าราชการประจำไปจนถึงการดึงคนจากภาคธุรกิจเอกชนเข้ามาร่วมงานใน ครม.ชุดใหม่ เพื่อรองรับกับงานใหญ่ที่จะประเดประดังเข้ามา โดยเฉพาะปัญหาปากท้องที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หลายคนประเมินว่าเมื่อเห็นโฉมหน้า ครม. "ประยุทธ์ 4" กันแล้วอาจไม่มีอะไรหวือหวามากนัก โดยเฉพาะยิ่งไม่พบว่า พล.อ.ประยุทธ์ดึงเอา "อดีตนายทหาร" ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นหรือรุ่นน้องเข้ามาร่วมทำงาน ตามที่เคยมีกระแสข่าวสะพัดมาก่อนหน้านี้
รวมทั้งนักวิเคราะห์ด้านการเงินการตลาดเองก็ยังมองว่าไม่มีน่าตื่นเต้นหรือส่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ของภาพรวมเศรษฐกิจ เพราะ "ของจริง" ที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์นั้นย่อมขึ้นอยู่กับ"ผลงาน" ไม่ใช่ "ภาพลักษณ์" ยิ่งเมื่อในปีหน้า 2560 ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาและยืนระยะยาวนาน ที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศต่างหาก ที่จะเป็นเครื่องชี้วัด "ฝีมือ" ของครม.ชุดใหม่ ได้อย่างชัดแจ้ง
อย่างไรก็ดีในขณะที่ คสช. ยังไม่ยอมให้ไฟเขียวเปิดทางให้พรรคการเมืองสามารถจัดกิจกรรมใดๆ ได้และแม้ล่าสุดจะมีการส่งสัญญาณจากกรธ.ออกมาแล้วว่าจะให้เวลากับพรรคการเมืองได้บริหารจัดการงานทางด้านการเมืองก่อนการเลือกตั้งเป็นเวลา 10 เดือน !
นั่นหมายความว่า จากนี้ทุกพรรคการเมืองจะยังคงถูกล็อกเอาไว้ ไม่ให้เคลื่อนไหวอย่างใดอย่างหนึ่ง ไปจนกว่า คสช. จะเห็นสมควร เมื่อพรรคการเมืองขยับได้ยากการสร้างผลงาน การหาเสียง หรือการลงไปใกล้ชิดกับประชาชน ย่อมไม่อาจกระทำได้อย่างตรงไปตรงมา และกว้างขวาง แม้พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ จะใช้วิธีการให้อดีตส.ส.และ "เบอร์หนึ่ง" ทั้ง "ยิ่งลักษณ์ชินวัตร" อดีตนายกฯ และ "อภิสิทธิ์เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เดินสายพบปะประชาชนได้อย่างเสรี ก็ตาม แต่สำหรับสมาชิกพรรคคนอื่นๆ ยังพากันอยู่ในที่ตั้งเป็นส่วนใหญ่
หากมองกลับมาที่การเคลื่อน ไหวของฝ่ายรัฐบาล กลับน่าสนใจว่า ครม.ชุดใหม่ จะต้องเข้ามาทำหน้าที่ในการสร้างและผลิตผลงานให้ออกมาเป็นรูปธรรมมากที่สุด และอาจไม่ใช่เฉพาะงานด้านเศรษฐกิจเท่านั้นที่ คสช.วางเป้าหมายเอาไว้ หากแต่ยังเป็นการขับเคลื่อนงานในด้านการศึกษา
รวมทั้งงานด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อสานงานต่อจาก "พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา"อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ต้องพ้นตำแหน่งเพื่อไปทำหน้าที่องคมนตรี ด้วยเหตุนี้พล.อ.ประยุทธ์ จึงเลือกส่ง "สุวพันธุ์ตันยุวรรธนะ" อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรอง มือทำงานที่ได้รับความไว้วางใจ มานั่งในเก้าอี้ รมว.ยุติธรรม
ผลงานและแต้มต่อคือภาระหน้าที่ ที่ ครม.ชุดใหม่ ต้องร่วมกันเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเหลือเวลาอีกไม่นาน ทุกอย่างจะเข้าสู่โหมดของการเลือกตั้ง โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้