ดูเหมือนว่าเสียงเรียกร้อง จากบรรดา “คู่แข่ง” ของ “พรรคพลังประชารัฐ” ต่างพากันออกแรงกดดัน ด้วยหวังว่าพวกเขาจะได้มีโอกาส “ดีเบต”กับ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งอยู่ในฐานะผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ เพียงรายเดียว
เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็น “จุดแข็งจุดขาย”ของพรรคพลังประชารัฐ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตัวบิ๊กตู่ เองก็ยังสามารถเป็น “จุดอ่อน” ได้ในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะการร่วมดีเบตบนเวทีร่วมกับ “นักการเมือง” จากพรรคอื่นๆ ที่ประกาศตัวลงสนาม ย่อมจะนำมาซึ่งทั้งผลในทางที่เป็นบวกและลบในเวลาเดียวกัน
“มือกฎหมาย” อย่าง “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี กำลังรับบทหนัก เพราะงานนี้จะต้องพลิกตำราเพื่อดูว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะขยับอย่างไร เพื่อไม่ให้หมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย รวมทั้งยังต้องไม่ลืมว่า ทุกความเคลื่อนไหวของแดนดิเดต นายกฯ ยังจะส่งผลต่อ “คะแนนนิยม” ของพลังประชารัฐ ไปด้วยในคราวเดียวกัน
ล่าสุด วิษณุ ได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชน เมื่อถูกถามกรณีการร่วมเวทีดีเบตของพล.อ.ประยุทธ์ ว่าสามารถทำได้หรือไม่
“ การที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะสอบถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถือเป็นการดี เพราะมีความไม่ชัดเจนอยู่ เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ ต่างจากแคนดิเดตนายกฯของพรรคอื่นที่เป็นผู้สมัคร ตรงนั้นจะไม่มีปัญหา แต่คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคไม่ได้เป็นผู้สมัคร อาจจะมีความหมิ่นเหม่อยู่ แต่ขณะนี้ไม่ทราบว่าพปชร.ถามไปหรือยัง และได้คำตอบแล้วหรือยัง
ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าแคนดิเดตนายกนั้น นายกฯ ควรรวมดีเบตไม่มีใครสงสัย เพราะใครๆ ก็อยากดู อยากฟัง ผมก็อยากด้วย แต่ปัญหาคือมีข้อจำกัดสำหรับพล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ และการที่พปชร.นำรูปพล.อ.ประยุทธ์ ไปขึ้นป้ายตามเวทีปราศรัย เพราะกกต.บอกว่าทำได้ หากไม่บอกมาเช่นนี้ ก็ไม่เชื่อว่าจะมีใครกล้า เช่นเดียวกับเรื่องดีเบต ถ้ากกต.บอกว่าได้ จะได้สบายใจ หากมีการฟ้องร้องตรงนี้จะช่วยได้เยอะ และ หาก กกต.ตอบว่าได้แล้ว การจะไปหรือไม่อยู่ที่พล.อ.ประยุทธ์” (25ก.พ.2562)
อย่างไรก็ดี การเรียกร้องและเชิญชวนให้พล.อ.ประยุทธ์ ลงมาร่วมวงดีเบตกับนักการเมืองในเวลานี้นั้น มีแนวโน้มว่า “เป็นไปได้ยาก” โดยเฉพาะทีมกุนซือของ คสช.เองย่อมประเมินได้ดีว่า เป้าหมายของนักการเมืองคืออะไร และที่สำคัญตัวพล.อ.ประยุทธ์ เองจะมีความพร้อมมากพอที่จะเปลี่ยนสังเวียนลงไปเล่นกับนักการเมือง นักเลือกตั้งในสนามที่ตัวเองไม่คุ้นเคยหรือไม่
เพราะผลลัพธ์ที่ได้ อาจจะไม่คุ้มเสีย !
เมื่อพรรคพลังประชารัฐ และคสช.เองได้วางบทบาท และแผนการเล่นให้กับพล.อ.ประยุทธ์ เอาไว้อีกมิติหนึ่งที่ทิ้งระยะห่าง จาก “นักการเมือง” อย่างชัดเจน แม้พรรคจะเสนอชื่อบิ๊กตู่ให้เป็นนายกฯ ก็ตาม รวมทั้งยังชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ไปเดินสายหาเสียงให้กับผู้สมัครรายใด เว้นแต่ที่จะเดินสายตรวจราชการและประชุมครม.สัญจร แม้จะถูกโจมตี หรือมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ ก็ตามที
ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องจับตามองกันต่อไป คือการกดดันจากพรรคการเมืองต่างๆที่เรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ มาร่วมวงดีเบตนั้นจะยืนระยะได้ยาวนานยืดเยื้อแค่ไหน เพราะหากปิดเกมเร็ว พลังประชารัฐ จะเปิดเกมใหม่ ขึ้นมาเพื่อกลบกระแส ดึงพล.อ.ประยุทธ์ ออกจากความสุ่มเสี่ยง การลงทุนที่ไม่คุ้มค่าทันทีเช่นกัน
เสียงยั่วเย้ย ท้าทายที่หน้าป้อมค่าย จากศัตรู กำลังวัดใจ วัดใจบิ๊กตู่ อย่างที่เห็น !