เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
ประเทศไทยกำลังจะมีมหาวิทยาลัยกีฬาในแต่ละภาค โรงเรียนกีฬา วิทยาลัยกีฬาหรือพละศึกษาก็มีอยู่แล้ว แต่ก็ยังดูจะไม่ใหญ่พอตามแนวคิดของผู้เกี่ยวข้องที่มักคิดว่า ถ้าได้ชื่อ “มหาวิทยาลัย” แล้วจะยิ่งใหญ่และมีอะไรต่อมิอะไรมากกว่า
อาจจะจริง เพราะได้งบประมาณมากกว่า มีคนสนใจเข้าเรียนมากกว่า เพราะคนไทยชอบชื่อใหญ่ๆ วิทยาลัยครูก็ขอเป็นสถาบันราชภัฏ ไม่พอขอเป็นมหาวิทยาลัยรากภัฏ คุณภาพดีขึ้นใหญ่ขึ้นมากขึ้นตามชื่อหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรียนจบแล้วตกงาน ชื่อใหญ่ๆ ก็ช่วยไม่ได้
เช่นเดียวกับชื่อโรงเรียนเตรียมอุดม เทพศิรินทร์ สวนกุหลาบ สตรีวิทย์ และอื่นๆ ที่ “ขายได้” ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าที่จะได้ชื่อนั้น ครูแทบจะไหว้ผู้ปกครองให้นำเด็กมาเรียน พอเปลี่ยนชื่อกลายเป็นว่าผู้ปกครองต้องไปไหว้ครูขอให้รับ หรือไม่ก็ฝากหรือติดสินบนเพื่อให้ลูกได้เข้าเรียน คุณภาพของโรงเรียนสูงขึ้นตามชื่อหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง บางแห่งครูบางคนบอกว่าแย่กว่าเดิม
ถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรี แทนที่จะให้ตั้งมหาวิทยาลัยกีฬา ผมจะตั้งเงื่อนไขอย่างน้อย 2 ข้อ ถ้าทำได้ดีอาจจะมีหรือไม่มีหาวิทยาลัยกีฬาก็ได้ คือ
1. ผู้เกี่ยวข้องต้องทำยุทธศาสตร์และแผนพัฒนากีฬาแห่งชาติอย่างชัดเจนว่าจะพัฒนาทุกระดับได้อย่างไร ไม่ใช่คิดแต่เรื่องสถานศึกษา แต่บูรณาการการกีฬาเข้ากับสุขภาพและการพัฒนาคน ส่งเสริมกีฬาในชุมชน ในทุกอบต. เทศบาล มีเกณฑ์และตัวชี้วัดด้วยว่าจะทำได้อย่างไร เพียงใด
2. ให้โรงเรียนกีฬา วิทยาลัยพลศึกษา สถาบันการศึกษาที่มีสาขาการกีฬา มีแผนพัฒนาบุคลากร ครู อาจารย์ ผู้ฝึกสอน ไม่ใช่เน้นสร้างแต่นักกีฬา วัดกันที่เหรียญ แต่ไม่สร้าง “ครู” ที่จะไปทำหน้าที่เป็นโค้ช เป็นผู้ฝึกสอน และดูแลเรื่องกีฬาไม่ใช่ในโรงเรียนเท่านั้น แต่ในชุมชนทุกแห่งทั่วประเทศดังในข้อที่ ๑
ข้อที่ 2 นี้ ต้องมีเกณฑ์และตัวชี้วัดชัดเจนว่าทำได้ พัฒนาได้ พร้อมกับมีเป้าหมายปริมาณครูอย่างเพียงพอ และให้บุคลากรเหล่านี้ออกไปฝึกปฏิบัติในสถานศึกษาและในชุมชน ไม่ใช่เรียนแต่ในสถาบัน
ถ้าหากไม่มีเงื่อนไขสองข้อนี้ แม้มีมหาวิทยาลัยกีฬา กีฬาอาจไม่เป็นยาวิเศษสำหรับสังคมไทยจริงๆ แต่ถ้าจาก “ฐานราก” คือ สร้างกีฬาจากชุมชน “จากข้างล่าง” (bottom up) ไม่ใช่ “จากข้างบน” (top dowm) การกีฬาจะมีคุณค่าสำหรับสังคมอย่างกว้างขวางจริงๆ ไม่ได้มาจากมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษา แต่มาจากการปฏิบัติจริงที่ทำได้ทุกแห่งทุกที่ ถ้าหากมีการส่งเสริมอย่างจริงจัง
ประเทศบราซิล ประเทศเยอรมนี ไม่มีมหาวิทยาลัยกีฬา แต่เป็นแชมป์ฟุตบอลโลกประเทศละ 4-5 สมัย เพราะมีการเล่นกีฬากันทุกชุมชนหมู่บ้าน ทุกมุมเมือง มีสโมสรกีฬาเป็นหมื่นๆ แห่ง เด็กไปโรงเรียนประถมก็เป็นสมาชิกสโมสรฟุตบอลหรือกีฬาที่ตนชอบแล้ว
ถ้าคิดว่ามหาวิทยาลัยกีฬาต้องทำการวิจัย การทดลอง ประเทศพัฒนาแล้วเขาแทรกวิชากีฬาในคณะต่างๆ อย่างวิทยาศาสตร์การกีฬา จิตวิทยาการกีฬา โภชนาการเพื่อการกีฬา การบริหารจัดการการกีฬา ฯลฯ ซึ่งดูจะง่ายกว่าที่จะต้องสร้างทุกอย่างขึ้นมาเอง หาผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ในแต่ละสาขาก็ใช่ว่าง่าย
นายกรัฐมนตรีส่งเสริมการออกกำลังกายนับเป็นเรื่องน่าชื่นชม จะดียิ่งกว่านี่อีกถ้าหากท่านส่งเสริม “มวยไทย” เพราะเห็นเตะให้นักข่าวดูมาแล้ว เพราะวันนี้มวยไทยได้กลายเป็นกีฬาระดับโลกไปแล้ว ทั่วโลกรู้จักมวยไทย นักมวย UFC หรือ MMA ต่างก็ต้องเรียนมวยไทยเป็นองค์ประกอบสำคัญทั้งนั้น แต่นับวันมวยไทยจะกลายเป็นเพียงธุรกิจ การพนัน ความโหดบนเวทีที่สะใจซาดิสท์ที่อยากเห็นเลือดและความเจ็บปวด
มีการถ่ายทอดสดมวยไทยเกือบทุกช่อง ยิ่งศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ หมุนไปช่องไหนเจอแต่มวยไทย ซึ่งมีหลายรูปแบบ แล้วแต่กติกาประยุกต์ที่กำหนดกันขึ้นมาใหม่ ครบสูตรบ้าง ไม่ครบบ้าง เพื่อเรียกเรตติ้ง ส่วนใหญ่มีการจัดคู่ชกต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ และก็ไม่ใช่หมูเหมือนเมื่อก่อนแล้ว
อยากให้นายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้โรงเรียนทุกแห่งสอน “ศิลปะป้องกันตัว” โดยใช้พื้นฐานมวยไทย ซึ่งมีอยู่แล้วและฝึกครูได้ไม่ยาก หาไม่ได้ก็ให้นักมวยที่เลิกชกแล้วมาเป็นครูเป็นอาจารย์พิเศษให้ก็ได้ หรือให้อาจารย์วิชิต ชี้เชิญ และทีมงานเครือข่ายของท่านช่วยฝึกสอนให้ หรือมอบหมายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ซึ่งมีหลักสูตรมวยไทยจากปริญญาตรีถึงปริญญาเอกจัดการเรื่องนี้
วันนี้มียิมมากมายในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ ที่สอนมวยไทยเพื่อการออกกำลังกายและเป็นศิลปะป้องกันตัว มีคนเรียนกันมาก มีการสอนการเต้นแอโรบิกโดยท่ามวยไทยพื้นฐานต่างๆ ซึ่งเป็นอะไรที่น่าจะได้รับการส่งเสริมและเผยแพร่ไปทั่วประเทศ จะได้ทั้งสุขภาพดีและศิลปะป้องกันตัวไปด้วย
การส่งเสริมศิลปะป้องกันตัวด้วยมวยไทยในทุกโรงเรียน ทุกชุมชนเท่ากับส่งเสริมการพัฒนาคนที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง เพราะ “กีฬา“ยาวิเศษ...ทำคนให้เป็นคน” มวยไทยสอนให้เป็นนักกีฬา มีน้ำใจนักกีฬา มีวินัย ไม่ได้สอนให้ไปทำร้ายรังแกคนอื่น คนที่เรียนมวยไทย และ “เป็นมวย” จริงๆ เป็นคนมีคุณธรรม มีวินัย ทำให้ดี กีฬาจะเป็น เริ่มจากโรงเรียนอาชีวะ กระทรวงศึกษาธิการอาจจะกลัวว่าเป็นการยื่นอาวุธให้นักเรียน การเรียนมวยไทยอย่างถูกต้องจะสร้าง “นักเลง” ตัวจริง ไม่ใช่ “อันธพาล” เพราะคนที่มีใจนักเลงจะเคารพคนอื่น เสียสละ ช่วยเหลือ ไม่ทำร้ายใคร จะใช้ศิลปะป้องกันตัวเพื่อปกป้องผู้ที่อ่อนแอกว่า ป้องกันตนและคนอื่นจากภัยอันตราย มวยไทยทำให้มีสติ สติมาปัญญาเกิด ช่วยกันส่งเสริมมวยไทยอย่างถูกวิธีเถิดครับ