ทวี สุรฤทธิกุล
ทำไมการหาเสียงเลือกตั้งจึงดูรุนแรงทุกครั้ง?
แน่นอนว่าการเลือกตั้งคือ “การแข่งขัน” ซึ่งก็คือการต่อสู้เพื่อให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับชัยชนะ ความรุนแรงจึงเป็นสิ่งปกติในการต่อสู้ทุกชนิด เพียงแต่ว่ามนุษย์ได้สร้าง “กฎกติกา” ขึ้นมาควบคุมการแข่งขัน เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายในการแข่งขัน กระนั้นผู้เข้าแข่งขันก็ยังนิยมใช้ความรุนแรง ทั้งที่เป็นความรุนแรงในกติกาและความรุนแรงนอกกติกา ดังที่ได้เกิดขึ้นในการแข่งขันเพื่อเอาชนะการเลือกตั้งก็อยู่ในลักษณะเดียวกัน
สำหรับสังคมไทยยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้การแข่งขันในการเลือกตั้งเต็มไปด้วยความรุนแรง
ประการแรก สังคมไทยเป็นสังคมที่ชอบ “ความสะใจ” หรือทำอะไรเพื่อ “เอามัน” ในทำนอง “ให้มันตายไปข้างหนึ่ง” ดังจะเห็นได้จากในเกมกีฬาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ชนไก่ ชนวัว กัดปลา หรือต่อยมวย ก็จะชอบดูความรุนแรงจากเกมกีฬาเหล่านั้น รวมถึงการละเล่นพื้นบ้านบางอย่าง เช่น เพลงฉ่อย หรือลำตัด ก็จะมีการประทะคารมกันอย่างดุเดือด เช่นเดียวกันกับการชมละครหรือดูหนัง ผู้สร้างก็จะต้องใส่ความรุนแรงทางอารมณ์ต่างๆ เข้าไปอย่างเต็มที่ หนังและละครประเภท “ตบจูบๆ” จึงเป็นที่นิยมในหมู่คนไทย ซึ่งพอมาถึงการเมือง การหาเสียงที่มีคนสนใจก็คือการหาเสียงที่ “ฉะกัน” อย่างถึงพริกถึงขิง รวมถึงการอภิปรายในสภา ส.ส.ที่จะเป็น “ดาวเด่น” หรือ “ดาวสภา” ก็จะต้องแสดงบทบาทให้ “หนักกระหน่ำ” อย่างเต็มที่
ประการต่อมา แม้ว่าคนไทยจะเป็นคนที่นอบน้อมขี้เกรงใจ แต่ครั้นได้ใกล้ชิดสนิทสนมกันก็จะเริ่มหมดความเกรงใจ หรือเริ่มที่จะคุ้นเคยและแสดงอาการ “เล่นหัว” แบบที่ว่า “ทะลึ่ง” มากขึ้น ซึ่งเราก็จะพบเห็นสิ่งเหล่านี้อยู่ในสังคมทุกระดับ ยิ่งในสังคมการเมืองที่ในระยะที่ผ่านมา แต่เดิมเราเคยกลัวทหาร เราเคยพินอบพิเทาให้ข้าราชการ หรืออ่อนน้อมต่อท่านผู้พิพากษาและอัยการ แต่เมื่อมีการสร้าง “คอนเน็คชั่น” เช่น การได้มาอบรมในหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงต่างๆ ทำให้คนเหล่านี้ได้มา “สังสันทน์” กับคนทั่วไปมากขึ้น คนทั่วไปจึงเริ่มเห็นว่า “ท่าน” เหล่านั้นก็ไม่ได้วิเศษสูงส่งแตกต่างๆ จากพวกเขาทั้งหลายมากนัก ยังเป็นพวกที่นิยม “กิน กาม เกียรติ” เป็นปกติทุกคน ความเกรงอกเกรงใจหรือเกรงกลัวและพินอบพิเทาก็หายไป กลายเป็นความคุ้นเคยและกล้าเล่นหัวหยอกล้อ จนถึงขั้นที่นินทากันและกันได้ในที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นในภายหลังการรัฐประหารหลายครั้ง ทหารนั้นเองก็ได้เอาเพื่อนจากเอกชนและภาคส่วนต่างๆ ที่ร่วมรุ่นในหลักสูตรของทหาร เข้ามามีตำแหน่งในทางการเมืองและการบริหาร ดังสุภาษิตที่ว่า “ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง”
อีกประการหนึ่ง อันเป็นผลจากประการก่อนหน้านี้ นั่นก็คือเมื่อผู้คนในสังคมไม่มีความ “สูง-ต่ำ” ถ้าหากว่าเป็นมิตรกันก็จะสนิทสนมกันและให้ความเป็นกันเองต่อกันและกัน แต่ถ้าเกิดเป็นศัตรูกัน หรือจะต้องมาแข่งขันกันเพื่อเอาแพ้เอาชนะอย่างในการเลือกตั้ง ความเป็นมิตรที่สนิทสนมกันมาก่อนนั่นเอง กลับกลายเป็น “หอกและดาบ” ที่สามารถย้อนคืนมาทิ่มแทงพวกเดียวกันนั้นก็ได้ และยิ่งจะเป็นหอกดาบที่แหลมคมมากขึ้น เพราะเคยสนิทสนมกันมา ย่อมรู้จุดอ่อนจุดด้อยของคู่แข่งขันนั้นเป็นอย่างดี อย่างสุภาษิตที่ว่า “ไก่ก็เห็นนมงู งูก็เห็นนมไก่” ต่างฝ่ายก็ต่างรู้เท่าทันกัน ทำให้การแข่งขันกลายเป็นการ “เชือดเฉือน” กันอย่างเข้มข้น
อย่างไรก็ตามอาจจะมีคนแย้งว่า แล้วทำไมในการเลือกตั้งครั้งนี้(หรือทุกครั้งที่ผ่านมา) “พวกเด็กเมื่อวานซืน” หรือกลุ่มนักการเมืองที่เรียกว่าเป็น “คนรุ่นใหม่” จึง “หาญกล้า” ที่จะต่อสู้ออกมา “ท้าทาย” กับบรรดานักการเมืองหน้าเก่าที่รวมถึงผู้มีอำนาจคนใหญ่คนโตทั้งหลาย เช่น กล้าที่จะสู้กับทหารที่ปกครองประเทศอยู่ ดังที่กำลังเกิดขึ้นในการเลือกตั้งที่กำลังดำเนินอยู่นี้ คำตอบก็คือเพราะ “ผู้ใหญ่ทำตัวเอง” ให้หมดความเคารพนับถือนั่นแล เพราะในการเลือกตั้งทุกครั้งจะเกิดสภาพการณ์ที่เรียกว่า “การต่อสู้กันอย่างเมามัน” หรือ “เอาเป็นเอาตาย” จนไม่มีใครเกรงกลัวหรือเกรงใจใคร เมื่อคนหนุ่มคนสาวเห็นผู้ใหญ่เป็นอย่างนั้น ก็ย่อมจะหมดความเกรงใจหรือความเคารพนับถือ แถมยังกล้าที่จะออกมา “ประจาน” ผู้ใหญ่เหล่านั้น ให้คนรุ่นใหม่ได้หมดความเคารพนับถือตามไปด้วย ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่า “เป็นเรื่องปกติ” ของการเมืองไทยก็ได้
ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้ความเชื่อความคิดที่ว่า “ยิ่งแรงยิ่งดี” จึงมีความพยายามที่จะสร้างความรุนแรงขึ้นใน “อารมณ์ความรู้สึก” ของผู้คน อย่างที่เรียกว่า “การสร้างกระแส” ที่อยู่ 2 กระแสหลักๆ คือ กระแสที่จะให้ “รักใคร” กับกระแสที่จะให้ “เกลียดใคร” โดยมีสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสมัยใหม่จำพวกโซเชียลมีเดียทั้งหลาย “สร้างและปล่อยกระแส” ทั้งสองลักษณะนั้นอยู่เป็นระยะ โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ฝ่ายที่ต่อต้านระบบ(เช่น ต่อต้านเผด็จการทหาร)จะเป็นฝ่ายรุกหรือ “กระหน่ำ” ได้รุนแรงกว่า ในขณะที่ฝ่ายที่ถูกโจมตี(เช่น ผู้มีอำนาจและผู้สนับสนุนทหาร)ต้องคอยเป็นฝ่ายตั้งรับและปรับแก้กระแสโจมตีนั้นอยู่ตลอดเวลา
โชคร้ายที่สื่อสังคมสมัยใหม่เหล่านั้นส่วนมากมีลักษณะเป็น “สื่อเฉพาะกลุ่ม” คือเลือกที่จะส่งสารและรับสารกันอยู่ในแต่เฉพาะกลุ่มของตนเท่านั้น ซ้ำร้ายคือไม่สนใจที่จะรับข่าวสารหรือข้อมูลจากของฝ่ายอื่น ทำให้กระแสอารมณ์ทั้งหลายจะแสดงออกอยู่ในเฉพาะกลุ่มแต่ละกลุ่มเท่านั้น ดังนั้นจึงมีความลำบากที่จะล่วงรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของฝ่ายตรงข้าม เว้นแต่จะมีการใช้ “สายสืบ” หรือสร้าง “หนอนบ่อนไส้” เข้าไปแอบแฝงอยู่ในสื่อสังคมของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งในแต่ละฝ่ายก็จะมีความระมัดระวังในการคัดสรรสมาชิกเข้าในกลุ่มอยู่พอสมควรเช่นกัน
โซเชียลมีเดียทั้งหลายนี้ก็คือ “ระเบิดนิวเคลียร์” ที่น่ากลัวอย่างยิ่งนั่นเอง