สมบัติ ภู่กาญจน์ หลังจากการเกริ่นนำปาฐกถาเรื่อง ‘ประชาธิปไตยกับเสรีภาพ’ผ่านไปแล้ว ม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมช อดีตคนไทยผู้ห่วงใยในความรู้ความเข้าใจของผู้คนในสังคมไทยยุคอดีต ก็เริ่มดำเนินการอธิบาย ดังนี้ “ที่ผมได้กล่าวมาว่า ประชาธิปไตยกับเสรีภาพ เป็นของคนละอย่างนั้น ก็เพราะเหตุผลว่า ระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ ‘การกำหนดว่า ใครจะเป็นผู้ปกครองแผ่นดิน โดยถือเอาว่าประชาชนจะต้องปกครองแผ่นดิน โดยอาศัยความเห็นชอบของคนหมู่มากเป็นเกณฑ์’ ส่วนระบอบเสรีนิยมนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาว่า ‘ผู้ที่ปกครองแผ่นดิน ควรจะปกครองอย่างไรจึงจะเป็นธรรม’ ซึ่งธรรมของระบอบเสรีนิยมนั้นก็คือ การเคารพสิทธิของชนส่วนน้อย เสรีภาพในการพูดการเขียนการแสดงความคิดเห็น การนับถือศาสนาและอื่นๆ พิจารณาในแง่นี้ จะเห็นได้ว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องของ “ใคร”ในการปกครอง ส่วนเสรีนิยมเป็นเรื่องของ “อย่างไร”ในการปกครอง ซึ่งแตกต่างกัน” ถึงตรงนี้ ผมขออนุญาตแทรกเสริม ให้ท่านผู้อ่านโปรดอ่านไปคิดไปตามไปด้วย ว่าท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรในแนวคิดที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์นำเสนอมา มนุษย์นั้นเกิดมาพร้อมกับความคิดครับ ที่น่าจะมีมากกว่าสัตว์อื่นๆ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ควรเชื่อสิ่งใดง่ายๆโดยไม่คิดเสียก่อนว่าอะไรนั้นคืออะไร? “ครูของผม”ท่านนี้พร่ำสอนผมเช่นนี้มาตลอดชีวิต ก่อนที่เทคโนโลยีใหม่ๆในยุคนี้จะเกิดขึ้น แต่ทุกวันนี้การสอนเช่นนี้หายากเข้าทุกวันแล้ว ผมจึงขออนุญาตย้ำไว้ในที่นี้แล้วก็เชิญท่านติดตามกันต่อไป “ระบอบประชาธิปไตย หรือสิทธิและอำนาจของประชาชนที่จะปกครองตนด้วยตนเองนั้น มิใช่ของที่มีกำเนิดขึ้นในเมืองไทยตั้งแต่เดิมเป็นแน่ ฉะนั้นเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ เราก็มักจะนึกถึงประเทศอังกฤษและอเมริกา ซึ่งทั่วโลกยอมรับว่าเป็นแม่บทของประชาธิปไตยในยุคนี้ แต่ถ้าเราจะศึกษาประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศนี้ดูแล้ว เราจะเห็นได้ว่ารากฐานแห่งเสรีภาพนั้นมีอยู่ในสองประเทศนี้มาช้านาน ก่อนที่จะเกิดความคิดเห็นทางประชาธิปไตยให้มีการปกครองโดยประชาชนขึ้นนั้น เอกสารประกาศสิทธิเสรีภาพ(Bill of Right)ของคนอังกฤษบังเกิดขึ้นก่อนในปีค.ศ.1689 แต่สิทธิเลือกตั้งทั่วไปในอังกฤษ เพิ่งจะมาเกิดขึ้นเมื่อ 200 ปีกว่าต่อมา ฉะนั้นหลักการประชาธิปไตยของอังกฤษในปัจจุบันที่ยึดว่า “อำนาจทั้งปวงย่อมอยู่ภายใต้กฎหมาย กฎหมายจะออกได้แก้ได้และยกเลิกได้ก็เฉพาะแต่ตามวิธีการที่ได้กำหนดไว้ และรัฐบาลอันชอบธรรม คือรัฐบาลที่ได้รับการยินยอมและเห็นดีเห็นชอบของผู้ที่อยู่ใต้การปกครอง” จึงไม่ใช่หลักการที่ประชาชน ผู้มีสิทธิอำนาจในความหมายปัจจุบันเป็นผู้กำหนดขึ้น แต่เป็นหลักการอันเกิดจากเหตุผลอันสุจริต ของชนส่วนน้อยที่มีอำนาจในการปกครองแผ่นดิน ซึ่งจะต้องใช้เวลาไม่น้อยเช่นกันในการกำหนดหลักการเหล่านี้ขึ้นมา หันไปดูประเทศอเมริกาบ้าง รัฐธรรมนูญของอเมริกาที่ขึ้นต้นด้วยคำปรารภว่า “เรา ประชาชนแห่งสหรัฐอเมริกา” นั้น ฟังดูก็จับใจดี แต่ถ้าหากเราจะศึกษาประวัติศาสตร์อเมริกันแล้ว จะพบว่า “เรา” ผู้เขียนรัฐธรรมนูญอเมริกันนั้นคือผู้ดีมีทรัพย์เพียงไม่กี่คน และรัฐธรรมนูญฉบับที่ “เรา”เขียนขึ้น นั้น ก็ได้รับความยินยอมเห็นชอบของคนเพียงร้อยละ๕ ของพลเมืองทั้งหมดของอเมริกาในขณะนั้นเท่านั้นเอง นอกจากนั้นแล้ว ประกาศอิสรภาพของอเมริกาก็ยังมีข้อความที่น่าจับใจต่อไปอีกว่า “เพื่อให้คนทั้งปวงมีความเสมอภาคในชีวิต ในเสรีภาพต่างๆและในการแสวงหาความสุขให้แก่ตน จึงจำต้องมีการตั้งรัฐบาลขึ้น โดยที่รัฐบาลนั้นย่อมมีอำนาจอันชอบธรรมจากความยินยอมเห็นชอบของคนที่อยู่ใต้ปกครอง” ถ้อยคำเหล่านี้ หากจะถามคนทั้งปวงในปัจจุบัน ก็คงจะยอมรับกันว่าชอบด้วยหลักการแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่ถ้าเราจะไปดูตามประวัติศาสตร์ จะพบว่า คนที่ร่างประกาศอิสรภาพของอเมริกานั้นเป็นคนสองสามคนเท่านั้นเอง ขณะที่เขาเขียนถ้อยคำเหล่านี้ขึ้น เขาก็มิได้ไปขอรับความเห็นชอบหรือเจตนาของประชาชนเลย แต่เขียนไปเพราะเขาเห็นว่าถูกต้องชอบธรรม และก็น่าสังเกตว่าประชาชนอเมริกันส่วนใหญ่ ก็ยอมรับว่าถ้อยคำเหล่านั้นยุติถูกต้องเรื่อยมา หันมาดูประวัติศาสตร์ของเมืองไทยเราบ้าง เมื่อพ่อขุนรามคำแหงประกาศให้คนมีเสรีภาพในการค้าขายและการประกอบอาชีพ และให้คนมีสิทธิเสมอภาค ตลอดจนความยุติธรรมด้วยวิธีสั่นกระดิ่งเรียกพระเจ้าแผ่นดินให้ออกมาวินิจฉัยกรณีพิพาทหรือคำร้องทุกข์นั้น พระองค์ก็ได้ทรงปฏิบัติไปตามที่ทรงเห็นชอบ หาได้ทรงทดสอบประชามติ หรือเพราะมีเจตนามหาชนมาบังคับให้พระองค์ต้องให้เสรีภาพเหล่านั้นแต่ประการใด (หมายเหตุอีกนิดครับ ในยุคที่ผู้แสดงปาฐกฯพูดเรื่องนี้ ยังไม่มีข่าวโต้แย้งเรื่องหลักศิลาจารึกบางหลัก เป็นของที่เกิดขึ้นจริงในยุคสุโขทัยหรือเพิ่งทำขึ้นภายหลังในยุครัตนโกสินทร์? ผู้พูดจึงพูดและคิดไปตามหลักฐานเท่าที่มีอยู่เป็นอยู่ในยุคเดียวกัน) หรือแม้แต่ เมื่อพระพุทธเจ้าหลวงมีพระราชดำริให้มีการเลิกทาสในเมืองไทย ก็มีพระราชดำรัสที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้ามีความปราถนาว่า การสิ่งไรซึ่งเป็นการเจริญ มีคุณแก่ราษฎร ควรจะเป็นไปทีละเล็กละน้อยตามกาลเวลา การสิ่งไรซึ่งเป็นธรรมเนียมบ้านเมืองมาแต่โบราณ แต่ไม่สู้จะเป็นยุติธรรม ก็อยากจะเลิกถอนเสีย แต่จะจู่โจมหักเอาทีเดียวนั้นไม่ได้ จะต้องค่อยตัดรอนไปได้ทีละเล็กละน้อย พอให้เบาบางเข้าทุกที” พระราชดำรัสนี้ส่อให้เห็นชัดว่า พระราชดำริที่จะเลิกทาส ตลอดจนการเลิกทาสซึ่งคนทั้งปวงสรรเสริญและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอยู่จนถึงวันนี้ มิใช่ว่า จะไม่ได้เกิดจากประชามติหรือความต้องการของมหาชนอีกเช่นกันเท่านั้น แต่ยังขัดต่อประชามติและความต้องการของมหาชนในขณะนั้นเป็นอย่างยิ่งอีกด้วย ทั้งนี้เพราะเหตุว่า ชนชั้นสูงในขณะนั้น มีความจำเป็นจะต้องใช้ทาสในการทำมาหากิน หากปล่อยทาสไปเสียหมดแล้ว คนเหล่านั้นก็อาจเป็นห่วงฐานะความเป็นอยู่ของตน เกรงว่าจะหมดเปลืองและได้รับความลำบากมากขึ้น ส่วนคนที่เป็นทาสนั้นส่วนหนึ่งก็เป็นทาส “สินไถ่” ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิของตนที่จะขายตัวใช้หนี้สินหรือเพื่อเอาเงินไปใช้สอยทางอื่นได้ หรือบางคน ถ้าเป็นทาสสินไถ่อยู่กับนายคนใดไม่สุขสบาย ก็ยังสามารถไปหาเงินมาไถ่ตัวเองเพื่อไปอยู่กับนายอื่นได้อีก จึงมีข้อบังคับให้นายเงินต้องปกครองทาสด้วยการเลี้ยงดูทาสให้มีสุขตามควร ซึ่งทาสประเภทนี้ก็อาจวิตกได้ว่า เมื่อตนพ้นจากทาสไปแล้วอาจจะต้องเดือดร้อน เพราะต้องคิดหาทางทำมาหากินด้วยตนเอง ปราศจากที่พึ่งอุปการะ ไม่มีนายคอยเลี้ยงดู ทั้งๆที่การเลิกทาสนั้นอาจขัดต่อประชามติได้เช่นนี้ แต่พระพุทธเจ้าหลวงก็ยังทรงดำเนินการไปจนสำเร็จพระราชประสงค์ เพราะทรงมีพระราชศรัทธาในเสรีภาพ ในความดี ซึ่งทรงทราบด้วยพระองค์เองว่าเป็นของที่ถูกต้องและบริสุทธิ์เพียงใด ที่กล่าวมาทั้งหมด ก็เพื่อยกเป็นอุทธาหรณ์ให้เห็นว่า เสรีนิยมนั้น สามารถบังเกิดขึ้นได้ในสถานที่และเวลา อันไม่น่าจะพึงมีก็ได้ ถ้าเราจะคิดกันในความเห็นปัจจุบัน และรากฐานแห่งเสรีภาพต่างๆที่คนในยุคก่อนได้วางไว้แล้วนั้น ก็นับเป็นมูลเหตุแห่งประชาธิปไตยได้อีกชั้นหนึ่งด้วย ” ชวนให้คิดเช่นนี้เพื่อที่จะนำไปสู่สิ่งใดต่อไป? ผู้สนใจจะคิดตามเรื่องนี้ ขอเชิญติดตามต่อไปสัปดาห์หน้าครับ