ในสังคมย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน พลเมืองมีเสรีภาพตามกรอบกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่เสรีตามใจตัวเองทุกคน
อันที่จริงการมวิสัยทัศน์ไม่ตรงกัน เป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย เพียงแต่ว่าในสังคมประชาธิปไตยเข้มแข็งนั้น คนเรา “เห็นต่างแต่ไม่แตกแยก” ส่วนสังคมประชาธิปไตยอ่อนแอนั้น “เห็นต่างแล้วตีกัน”
เมืองไทยเราน่าเป็นห่วงก็ตรงจุดนี้
“สิทธิของเราทุกคนนั้นมีอยู่ตามกฎหมาย เสรีภาพของเราทุกคนนั้นมีอยู่ในใจ
แต่สิทธิและเสรีภาพเป็นของละเอียด ของสูง จะใช้ก็ต้องระมัดระวัง มิฉะนั้นจะแตกหักสึกหรอได้ง่าย” ( “คึกฤทธิ์ ปราโมช” – ตอบปัญหาประจำวัน 26 มีนาคม 2498 )
เรื่องสิทธิและเสรีภาพนี้ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ท่านเขียนเตือนอยู่เสมอว่า อย่าใช้พร่ำเพรื่อ อย่าใช้เกินขอบเขตความเหมาะสมความพอดี
หากใช้กันจนเลอะเทอะแล้ว ผู้ใช้อย่างเลอะเทอะนั้นไม่เป็นไร อาจจะแค่ถูกด่าเท่านั้น
แต่ตัวสิทธิและเสรีภาพต่างหากที่จะเสื่อมเสีย แล้วหมดศักดิ์และสิทธิ์ ไม่มีใครยอมรับ นั่นคือสังคมเป็นจลาจล ไม่มีใครฟังใคร ทำให้ “โจรมาเฟีย” มีอำนาจ แล้วคนที่จะเดือดร้อนก็คือสมาชิกทั้งหมดในสังคมนั้น ๆ
บางคนอาจเข้าใจผิด นึกว่า “เสรีภาพ” คือชีวิตที่ปราศจากข้อห้ามใด ๆ ทั้งสิ้น
หมายความว่าบุคคลจะกระทำสิ่งใดก็ได้ไม่มีใครห้าม
ถ้าเสรีภาพเป็นอย่างนั้น สังคมมนุษย์คงตั้งมั่นอยู่มิได้ คงล่มสลายไปนานแล้ว
“มนุษย์ปุถุชนเรานั้นย่อมมีกิเลสตัณหาต่าง ๆ กัน ถ้าหากว่าสามารถกระทำการใด ๆ ได้โดยปราศจากข้อห้าม กิเลสตัณหานั้นเองก็จะเป็นเครื่องบังคับการกระทำ และการกระทำที่ไม่มีใครห้ามนั้น จะถือว่าเป็นการกระทำที่ดีไม่ได้
ถ้าหากว่าเสรีภาพหมายถึงการกระทำตามกิเลสตัณหาโดยไม่มีใครห้ามแล้ว เสรีภาพเช่นนั้นก็คงจะ
ก่อให้เกิดความยุ่งยากและความเสียหายแก่ชีวิตของตนและชีวิตของคนอื่นอยู่เสมอ