แม้จะเป็นช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ที่คาดการณ์กันก่อนหน้านี้ว่าจะช่วยกระตุ้นชีพจรที่หายใจรวยรินของบรรดาสื่อต่างๆ แต่ข่าวหนังสือพิมพ์ นิตยสารลาแผง และองค์กรสื่อปรับโครงสร้างลดจำนวนบุคคลากรมีออกมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ
ล่าสุดเพื่อนในวงการน้ำหมึกบางเล่มก็มีข่าวว่าจะเปิดหมวกอำลาไปในเดือนมีนาคม ปรับไปรุกด้านสื่อดิจิทัลแทน และข่าวคราวการเลิกจ้างขององค์กรสื่ออีกหลายแห่ง
แต่ท่ามกลางวิกฤติสื่อสิ่งพิมพ์ในไทยนั้น อีกซีกโลกหนึ่งกำลังมีข่าวดี สำหรับความพยายามที่จะช่วยฟื้นฟูสื่อสิ่งพิมพ์ของภาครัฐในประเทศตุรกี
แม้ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์จะเป็นธุรกิจของภาคเอกชน ที่ต้องบริหารจัดการและรับความเสี่ยงเอง แต่ข่าวต่างประเทศก็รายงานว่ารัฐบาลตุรกี ได้ออกมาช่วยเหลือสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศของเขาผ่านกลไกของระบบรัฐสภา หรือสมัชชาใหญ่แห่งชาติตุรกี
หลังจาก เรเซป ตอยยิป เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี ประกาศจะลดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้เหลือร้อยละ 0 แก่สินค้าประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ที่จำหน่ายในตุรกี ซึ่งรวมถึงหนังสือต่าง หนังสือพิมพ์และนิตยสาร จากเดิมที่เก็บภาษีแวตอยู่ที่ร้อยละ 8 เช่นเดียวกับสินค้าประเภทอื่นๆ
แม้เบื้องต้นมาตรการดังกล่าวจะมีผลเฉพาะการซื้อสื่อสิ่งพิมพ์ กับบริษัทผู้จัดพิมพ์ หรือสำนักพิมพ์ โดยตรง หรือจากเว็บไซต์ของบริษัทสำนักพิมพ์ต่างๆ เหล่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงการซื้อกับร้านหนังสือ หรือร้านค้าทั่วไป ที่มีหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ จำหน่าย ผู้ซื้อยังต้องเสียภาษามูลค่าเพิ่มอยู่
อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีเออร์โดกัน ตั้งเป้าหมายที่จะให้ภาษีมูลค่าเพิ่มในสินค้าสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศ เหลือร้อยละ 0 คือ ไม่เก็บภาษีเลยทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการซื้อกับบริษัทสำนักพิมพ์ผู้จัดพิมพ์โดยตรง และร้านจำหน่ายหนังสือ รวมไปถึงร้านค้าต่างๆ ที่มีหนังสือจำหน่ายด้วย
ทั้งนี้สาเหตุที่ประธานาธิบดีเออร์โดกัน ต้องออกมาประกาศแผนการข้างต้น เนื่องจาก ต้องการให้ความช่วยเหลือต่อบรรดาบริษัทสำนักพิมพ์ สำนักข่าวที่กำลังเผชิญหน้ากับความยากลำบากจากยอดจำหน่ายตีพิมพ์ ที่นับวันมีแต่จะทรุดต่ำลง นับตั้งแต่การปรากฏโฉมของบรรดาสื่อออนไลน์ ที่เข้าถึงได้ไวและง่ายกว่า อย่างที่เห็นในปัจจุบัน จนยอดพิมพ์ ยอดจำหน่ายลดลงไปเป็นอย่างมาก ตลอดช่วงหลายปีที่สื่อออนไลน์ ปรากฏตัวและเป็นที่นิยมในแพลตฟอร์มต่างๆ ขึ้นมาแทนที่
เหตุปัจจัยอีกประการหนึ่ง ก็มาจากวัตถุประสงค์ของประธานาธิบดีเออร์โดกัน ที่ต้องการให้เยาวชนสามารถเข้าถึงสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารต่างๆ ได้โดยง่าย ด้วยราคาที่ไม่แพงจนเกินไป
แม้ยังไม่เห็นผลสำเร็จจากมาตรการของประเทศตุรกี แต่อย่างน้อยเป็นสัญญาณดีที่ผู้นำโลกมองเห็นความสำคัญของสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีต่อการพัฒนาเยาวชนของเขา
กล่าวสำหรับประเทศไทย หากเรามีโอกาสนั้น ก็อยากเห็นมาตรการช่วยเหลืออย่างจริงใจไม่มุ่งแต่กำกับและแทรกแซง