รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
หาเสียง “เดือด” บรรยากาศที่คละคลุ้งทั่วทั้งประเทศไทย อันเป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมถึงความดุเดือดของการเลือกตั้ง ซึ่งการหาเสียง ณ วันนี้ ไม่เพียงแต่จะแลกหมัดกันดุเดือดผ่านสื่อมวลชน หรือเวทีปราศรัยเท่านั้น แต่สื่อโซเชียล ยังเป็นอีกหนึ่งสมรภูมิที่มีการต่อสู้ช่วงชิงคะแนนนิยมกันอย่างถึงพริกถึงขิงก็ว่าได้...
จากการที่เลือกตั้ง 2562 ซึ่งเป็นการแข่งขันทางการเมืองที่มีเดิมพันสูง เพราะหากพรรคใด ได้รับชัยชนะ ได้เสียงข้างมากย่อมมีโอกาสได้เป็น “แกนนำจัดตั้งรัฐบาล” นั้น ย่อมทำให้เลือกตั้งครั้งนี้มีการต่อสู้ที่รุนแรงอย่างมาก ซึ่งพรรคการเมืองต่างพากันงัดยุทธวิธีที่หลากหลาย เพื่อหวังสร้างคะแนนนิยม ไม่ว่าจะเป็นกรณีวิวาทะเกี่ยวกับ “การลอกนโยบาย” ซึ่งคงต้องยอมรับว่าการเลือกตั้ง 62 พรรคการเมืองต่างนำเสนอนโยบายที่มีความซ้ำซ้อน จนเหมือน “ลอกการบ้าน” กันมาก็ไม่ผิดนัก โดยนายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ปราศรัยใหญ่ ที่ จ.ฉะเชิงเทรา ระบุว่า พรรคเพื่อไทยประกาศจะดูแลเด็กแรกเกิดถึง 8 ขวบ เป็นนโยบายลอกเลียนแบบ ซึ่งพรรคเพื่อไทย ออกมาตอบโต้ว่า “20 ปีที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งมาตลอด ในขณะที่นายอภิสิทธิ์นำพรรคแพ้การเลือกตั้งมาตลอดเช่นกัน คนชนะจะไปลอกคนแพ้เพื่ออะไร” เรียกว่าเป็นการตอบโต้ที่ตอกย้ำแผลของพรรคประชาธิปัตย์อย่างชัดชัด!!
ขณะที่การปราศรัยดุเดือดของพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของกิจกรรมทางการเมืองที่ได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอย่างมาก โดยการเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ของพรรคเพื่อไทย ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกทม. มีผู้ร่วมฟังการปราศรัยกันเป็นจำนวนหลายพันคนจนแน่นลานคนเมือง ส่วนการเปิดเวทีปราศรัยของพรรคประชาธิปัตย์ ณ บริเวณศาลาจตุรมุข หน้าศาลากลาง จ.ฉะเชิงเทรา ก็มีมีประชาชนมาร่วมฟังการปราศรัยกว่า 2 พันคน
นี่คือ ภาพสะท้อนทางการต่อสู้ทางการเมืองใน “มิติเก่าเก่า” แต่ยังมีมนต์ขลังและสร้างความตื่นตัวให้คนในสังคมไม่น้อย แต่อย่างไรก็ตามการหาเสียงผ่าน “สื่อโซเชียล” ยังเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการหาเสียงที่มีการต่อสู้ที่ดุเดือดเช่นกัน โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้ Facebook จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการหาเสียง นำเสนอนโยบายพรรค หรือแม้แต่การปราศรัยหาเสียงในเวทีพร้อมเฟซบุ๊กไลฟ์ ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่สามารถเข้าถึงคนจำนวนมากทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เสพสื่อออนไลน์เป็นหลัก ถือเป็นภาพสะท้อนทางการเมืองใน “มิติใหม่” ด้านการหาเสียงที่แสดงให้เห็นถึงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการสื่อสารทางการเมืองในยุค 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
รูปแบบการหาเสียงที่ผ่านในวงการการเมืองไทย ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการสร้าง “จุดสัมผัส” (Touch Point) หมายถึง ความพยายามที่จะสร้างประสบการณ์ที่ดีในการติดต่อระหว่างนักการเมืองกับประชาชน (ที่นานๆ ครั้ง จะเกิดขึ้นที โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดในช่วงเลือกตั้ง) มีทั้งในแบบการสื่อสารระหว่างบุคคล เป็นการสื่อสารที่มีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป สื่อสารกันโดยเป็นทั้งผู้ส่งและผู้รับสลับกันไป มองเห็นหน้าตากัน และพูดกันได้อย่างทั่วถึง ผู้ส่งสารและรับสารสามารถแลกเปลี่ยนสารกันได้โดยตรง ตัวอย่างเช่น การหาเสียงแบบ “เคาะประตูบ้าน” (การหาเสียงในรูปแบบดังกล่าว ถือเป็น “ยุทธวิธีอ้อนขอคะแนน” ที่ค่อนข้างได้ผลดีในระดับหนึ่ง แต่ก็มี “จุดอ่อน” ในแง่จำนวนผู้รับสาร ซึ่งได้แก่ “ประชาชน”)
การสื่อสารกลุ่มใหญ่ เป็นการสื่อสารระหว่างคนจำนวนมาก แต่สมาชิกในกลุ่มจะไม่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสารและผู้รับสารกันได้ทุกคน และไม่อาจมองเห็นหน้าตากันได้อย่างทั่วถึง ตัวอย่างเช่น การกล่าวคำปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง โดยหากมีการถ่ายทอดการปราศรัยผ่านสื่อโทรทัศน์ หรือวิทยุ ก็จะส่งผลให้การปราศรัยครั้งนั้น ได้รับการยกระดับเป็นการสื่อสารมวลชน อันเป็นการสื่อสารสู่ประชาชนจำนวนมากในเวลาเดียวกัน โดยผ่านช่องทางสื่อมวลชน
อย่างไรก็ตามคงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า “การใช้สื่อโซเชียล โดยเฉพาะเฟซบุ๊กไลฟ์” เป็นรูปแบบการสื่อสารที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างการสื่อสารกลุ่มใหญ่และการสื่อสารมวลชน แต่สิ่งที่มีแตกต่าง ก็คือ ช่องทางในการสื่อสารที่มีการถ่ายทอดเสียง ทั้งภาพและเสียง หรือในบางครั้งอาจมีการตอบโต้กันไปมาในลักษณะสื่อสารสองทาง โดยผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ย่อมทำให้การสื่อสารผ่านช่องทางดังกล่าวถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น
ที่กล่าวไปทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นว่าการหาเสียง “เดือด” ณ วันนี้ ไม่ได้ถูกจำกัดเพียงแค่รูปแบบเดิมๆ เท่านั้น แต่มีช่องทางในการหาเสียงหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการใช้สื่อโซเชียล ถือว่าทรงอิทธิพล ทำให้เกิดกระแสสังคมอย่างรวดเร็วจริงจริง!!
ไม่ต้องไปดูที่ไหนไกล แค่กรณี "ฟ้ารักพ่อ -พ่อรักฟ้า" #ฟ้ารักพ่อ #ฟ้าเดียวกัน #พ่อธนาธร...ที่ทำให้เกิดการแก้เกมการเมืองจากพรรคต่างๆ ทั้งแคมเปญ FREE HUGS หรือแม้แต่ #ฟ้ารักประเทศ ก็น่าจะสะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพได้ชัดเจน...ชนิดที่ไม่ต้องอธิบายอะไรให้ยึดยาว!!
เมื่อการหาเสียง “เดือด” แทบทุกหย่อมหญ้า...ทุกช่องทางแบบนี้ ก็คงต้องโยนไปที่ กกต. ว่าพร้อมรับมือแล้ว...หรือไม่?
เพราะต้องยอมรับการควบคุมสมรภูมิการเลือกตั้ง 62 ไม่ง่ายแน่นอน...!!