ข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ เปิดเผยเรื่องราวของการค้นพบเสือดาวดำ หรือ Black leopard ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลอยซาบา ทางตอนเหนือของประเทศเคนยา ซึ่งเป็นสัตว์สายพันธ์ที่หายากและใกล้สูญพันธ์ของแอฟริกา เป็นครั้งแรกในรอบ 100 ปี
เจ้าเสือดาวดำนี้ ถูกพบโดยช่างภาพชาวอังกฤษ วิล เบอร์ราร์ด-ลูคัส หลังจากติดตามถ่ายภาพพวกมันมานานหลายปี
อย่างไรก็ตาม การค้นพบนี้ มีดร. นิโคลัส พิลโฟลด์ หัวหน้านักวิจัยในโครงการอนุรักษ์พันธุ์เสือดาวของเขตไลกีเปียในเคนยา ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งเดียวในทวีปแอฟริกาที่มีเสือดาวดำอาศัยอยู่ ออกมาบอกว่าทีมวิจัยของเขาก็สามารถบันทึกภาพเสือดาวดำตัวเมียอายุน้อยตัวหนึ่งเอาไว้ได้เช่นกัน ทำให้ประมาณการได้ว่ามีเสือดำอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวของเคนยาอย่างน้อย 2-3 ตัว
นับเป็นข่าวที่น่าดีใจกับบ้านเขา เพราะการค้นพบเสือดำนั้นสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่าที่นั่น
ส่วนบ้านเรานั้น เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก เข้าจับกุมผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่พร้อมพวกเข้าไปลักสัตว์ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ นเรศวรด้านตะวันตก จ.กาญจนบุรี
และนำมาซึ่งความตายของ “เสือดำ” ที่เคยสร้างปรากฎการณ์พลังโซเชียลในการติดตามคดี จนเกิดแฮชแท็ก #เสือดำไม่ตายฟรี
ครบ 1 ปี เริ่มมีเสียงทวงถามจากสังคมว่าคดีความไปถึงไหน
เรื่องนี้ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุความวา “วันนี้เป็นวันครบรอบหนึ่งปี คดีเสือดำด้วยความเคารพ สำหรับเพื่อนๆ ที่ไม่เห็นข่าวเรื่องเสือดำ แล้วคิดว่าคดีความไม่คืบหน้า คนรวยมีอภิสิทธิ์ อะไรทำนองนี้ ผมว่าเข้าใจผิด
สำหรับคดีนี้ ปีเดียวก็สิ้นสุดการสอบพยานในศาลชั้นต้นแล้ว ผู้ต้องหาปฏิเสธความผิดก็ต้องมีไต่สวนกันยาวพอสมควร แต่ถือว่าไม่ช้า ซึ่งวันที่ 19 มีนาคม2562 นี้ นัดวันพิพากษาแล้ว หลักฐานทุกอย่างก็ว่ากันไป ส่วนงานนี้นิติวิทยาศาสตร์น่าจะมีผลต่อคดีพอสมควร ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่เหนื่อยมากๆ ทุกๆ คน กว่าจะรวบรวมหลักฐานขึ้นศาล จนถึงวันรู้ผลการตัดสินเดือนหน้า”
แม้คดีล่าเสือดำจะงวดเข้ามาใกล้ถึงวันพิพากษา ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างปรากฎการณ์ปลุกความตื่นตัวในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับผู้คนในสังคมอีกครั้ง แม้ในสถานการณ์ปัจจุบันเหตุการณ์ทารุณกรรมสัตว์ป่ายังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนว่าเจ้าหน้าที่รัฐและนักอนุรักษ์ไม่อาจจัดการปัญหาได้เพียงลำพัง หากแต่ต้องอาศัยเครือข่ายในการเฝ้าระวังจากสังคม และชุมชนอย่างเป็นระบบ เพื่อหยุดการรุกรานสัตว์