ทวี สุรฤทธิกุล
ทำไมประชาธิปไตยของคณะราษฎรจึงล้มเหลว ?
ก่อนที่จะเล่าความต่อถึงการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เขียนขอนำเสนอ “ข้อวิเคราะห์” ถึงสาเหตุหนึ่งที่นำมาสู่การสละราชสมบัติของล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ในวันที่ 2 มีนาคม 2477 นั้นว่า ทั้งสิ้นทั้งปวงเป็นเพราะ “คณะราษฎรไม่ได้สร้างประชาธิปไตย”
ก่อนอื่นต้องขอย้อนกลับไปถึงแนวคิดประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่เชื่อกันว่ามีเข้ามาตั้งแต่ครั้งที่คนไทยมีหนังสือพิมพ์อ่านในสมัยรัชกาลที่ 4 ในชื่อว่า “บางกอกรีคอร์เดอร์” (Bangkok Recorder) พิมพ์โดยหมอบรัดเลย์ มิชชั่นนารีชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนา พร้อมทั้งได้นำวิทยาการในด้านต่างๆ ของชาติตะวันตกเข้ามาสู่ประเทศไทย อาทิ การแพทย์ วิศวกรรม การศึกษา และการพิมพ์ นี้ด้วย
แน่นอนว่าการอ่านออกเขียนได้ในสังคมไทยสมัยนั้นยังไม่ดีนัก ผู้รู้หนังสือน่าจะเป็นชนชั้นสูง คือ พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางนั้นเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะยิ่งเป็นภาษาอังกฤษก็มีน้อยเต็มที โชคดีที่หมอบรัดเลย์ได้จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์นั้นออกมาเป็นภาษาไทย จึงทำให้มีผู้อ่านอย่างกว้างขวางพอสมควร เหตุหนึ่งที่หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวมีน่าสนใจ ว่ากันว่าเป็นเพราะ “มีเรื่องประหลาดๆ” อันเป็นที่เรื่องคนไทยชอบเป็นปกติอยู่แล้วนั้นเอง โดยเฉพาะ “สิ่งแปลกใหม่” ที่อยู่อีกฟากโลกหนึ่ง
ในวิชาประวัติศาสตร์การเมืองที่ผู้เขียนศึกษามา กล่าวถึงอิทธิพลของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ว่า ได้ก่อให้เกิด “ความตื่นตัว” ในหมู่ชนชั้นสูงเป็นอย่างมาก ซึ่งในส่วนของการเมืองการปกครองหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ได้นำเสนอเรื่องราวของการปกครองในประเทศต่างๆ คนไทยจึงรู้จักคำว่า ปาลิเมนต์(รัฐสภา) เมมเบอร์ออฟปาลิเมนต์(สมาชิกรัฐรัฐสภา) คอนสติติวชั่น(รัฐธรรมนูญ) และกัฟเวอเมนต์(รัฐบาล) รวมถึงคอนสติติวชั่นมอนากี(กษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ) ระบบประธานธิบดีที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแม่แบบ และระบอบสาธารณรัฐที่ปกครองโดยไม่มีกษัตริย์นั้นด้วย โดยผู้อ่านจำนวนหนึ่งได้เกิดความเชื่อว่าระบบเหล่านี้ “ดีกว่า” และน่าจะนำมาใช้กับประเทศไทย เพราะน่าจะทำให้ประเทศไทย(ตอนนั้นเรียกว่าสยาม)มีความเจริญเหมือน “ชาวฝรั่ง”
อย่างที่เราทราบมาแล้วว่ารัชกาลที่ 4 ทรงโปรดวิทยาการของฝรั่ง ที่เป็นผลเนื่องมาจากการรุกรานของอังกฤษและฝรั่งเศสมาในทวีปเอเซีย แต่แทนที่พระองค์จะทรงหวั่นวิตก กลับทรงเห็นว่า “ควรศึกษาให้รู้เขา” จึงได้ศึกษาภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ พร้อมกับทรงคบกับหมอบรัดเลย์เป็น “พระสหาย” ให้หมอบรัดเลย์มาร่วมโต๊ะเสวยพร้อมกับที่ทรงสนทนากับหมอบรัดเลย์เพื่อหาความรู้และเรียนรู้วิถีชีวิตแบบตะวันตก (ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนถึงหมอบรัดเลย์ว่าหมดบรัดเลย์นี่แหละที่นำ “ช้อนซ่อม” มาถวายให้ทอดพระเนตรพร้อมกับให้ทรงใช้แล้วทรงโปรดว่าดูเรียบร้อย สะอาด ถูกสุขอนามัย “เป็นที่ศิวิไลซ์” จากนั้นก็มีความนิยมแพร่หลายออกมานอกพระราชวัง ทำให้คนไทยทานช้อนซ่อมแบบฝรั่งมาตั้งแต่บัดนั้น) จึงเชื่อว่าเรื่องหนึ่งที่ทรงสนทนาก็น่าจะมีเรื่อง “การเมืองการปกครอง” นั้นด้วย
แม้กระทั่งทรงให้จ้างแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ ชาวอังกฤษ ภริยาของนายห้างบอร์เนียวของอังกฤษที่มีสำนักงานอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ให้มาสอนภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์เบื้องต้น วรรณคดีอังกฤษ และขนบธรรมเนียมของชาวอังกฤษ ให้กับพระราชโอรสและพระราชธิดา โดยมาสอนอยู่ 4 ปี 6 เดือน เมื่อนางแอนนากลับไปอังกฤษแล้วก็นำเรื่องราวต่างๆ ในราชสำนักของไทยไปเขียนเป็นหนังสือ 2 เล่ม คือ The English Governess at the Siamese Court กับ The Romance of the Harem ซึ่งเรื่องหลังนี้ได้กลายเป็นหนังสือขายดีจนกระทั่งได้มีคนซื้อลิขสิทธิ์ไปแต่งเป็นละครบรอดเวย์ในชื่อเรื่อง The King and I
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ส่งผลถึง “การปรับแนวคิด” ไปสู่ความเป็นฝรั่งก็คือ รัชกาลที่ 4 ทรงให้ส่งคณะราชทูตไทยไปถวายราชบรรณาการแด่ควีนวิคตอเรีย ณ ประเทศอังกฤษใน พ.ศ. 24๐๐ ที่ทำให้เรารู้จัก “หม่อมราโชทัย” (ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูร) ในฐานะล่ามเพราะเป็นผู้ที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ซึ่งท่านก็ได้กลับมาแต่ง “นิราศเมืองลอนดอน” อันเป็นที่นิยมอ่านกันแพร่หลาย นำมาซึ่งความ “ตื่นเต้น” ในความทันสมัยและใหญ่โตสวยงามของเมืองฝรั่งคืออังกฤษนั้น ซึ่งก็แน่นอนว่าได้สร้างความสนใจให้แก่ชนชั้นสูงของไทยให้เห็นคล้อยตาม รวมถึงความเชื่อที่ว่า “ต้องเป็นแบบฝรั่ง” เราก็จะได้มีความ “ยิ่งใหญ่” ตามไปด้วย
การปรับแนวคิดให้เป็น “อย่างฝรั่ง” นี้ เห็นได้อย่างชัดเจนในรัชกาลต่อมา คือในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชโอรสของพระบาทสมเด้จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ถือเป็น “พระราโชบาย” ที่จะให้ส่งพระราชโอรสและบุตรขุนนางผู้ใหญ่(ในฐานะผู้ติดตามไปอภิบาลพระราชโอรส)ได้ไปศึกษาในประเทศต่างๆ ที่ยุโรป ไม่ใช่เฉพาะที่อังกฤษ แต่ยังมีฝรั่งเศส เยอรมัน และรัสเซียนั้นด้วย ซึ่งต่อมาบุคคลเหล่านี้ได้กลับมามีส่วนสำคัญในการพัฒนาบ้านเมืองในยุคสมัยของพระองค์ท่าน รวมทั้งที่ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ต่อมาถึง 2 พระองค์คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีนักวิชาการวิเคราะห์ว่า ประเทศไทยโชคดีที่สังคมไทยและคนไทย “มีความสามารถในการปรับตัวสูง” ดังที่เราได้เห็นการปรับตัวของชนชั้นสูงในการต้อนรับ “ความเป็นฝรั่ง” ดังกล่าว โดยที่พระมหากษัตริย์กับขุนนางก็มีความคิดที่สอดคล้องกัน โดย “เห็นดีเห็นงาม” ที่จะพัฒนาประเทศไทยให้เจริญไปตามแบบฝรั่ง เพียงแต่อาจจะมีความเห็นต่างกันในเรื่องของระยะเวลา คือ “เป็นให้ไว” หรือ “ไปช้าๆ”
ทายซิว่ารัชกาลที่ 5 ท่านทรงอยู่ข้างฝ่ายไหน