การบริหารราชการใช้อำนาจตามรัฏฐาธิปัตย์ที่สืบทอดกันมานับร้อยปีนั้น เป็นการปฏิบัติตามคติความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม (Law and order norm) หลักคิดนี้ในประเทศตะวันตกเริ่มปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่กล่าวสำหรับสังคมไทย มันก็ยังเป็นแนวคิดที่ฝังลึกเป็นค่านิยมของคนไทยจำนวนมาก
มันไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะคตินี้ถูกปลูกฝังมาอย่างยาวนานในทุก ๆ สังคม
เพียงแต่ว่า เมื่อสังคมพัฒนาซับซ้อนขึ้นมาก หากเน้นการบริหารราชการตามคตินิยมนี้แต่ถ่ายเดียวย่อมสร้างปัญหา
อุดมการณ์หรืออุดมคติดั้งเดิมของการบริหารราชการนั้นมุ่งให้เกิดความมั่นคงของบ้านเมือง และความสงบเรียบร้อยของสังคมเป็นสำคัญ คติดังกล่าวนี้เป็นคติเก่าแก่ที่ประเทศต่าง ๆ ได้เคยใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ แม้ประเทศไทยเราเองก็ได้ยึดถือเอาอุดมการณ์ดังกล่าวเป็นคติของการบริหารราชการแผ่นดินมาเป็นเวลาช้านาน
ตามอุดมคติของการบริหารดังกล่าว รัฐบาลย่อมมุ่งธำรงรักษาไว้ซึ่งความสงบราบคาบของสังคมและเสถียรภาพของรัฐบาลเป็นสำคัญ มีการออกกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ขึ้นใช้บังคับเพื่อป้องกันปราบปรามมิให้มีการกระทำผิดอันอาจก่อความไม่สงบสุขเกิดขึ้น
ด้วยคตินี้ข้าราชการและนักบริหารที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินจึงมักมุ่งที่จะรักษากฎหมายและระเบียบข้อบังคับ โดยแสดงอำนาจ และบังคับให้ราษฎรปฏิบัติตามคำสั่งอย่างผู้เป็นนายหรือผู้มีอำนาจ
คตินิยมการบริหารราชการแบบดั้งเดิมดังกล่าวข้างต้น มีลักษณะเด่นสองประการคือ
1. การใช้อำนาจลงโทษ
2. การก่อให้เกิดความกลัวเกรงอำนาจของผู้เป็นหัวหน้า เพื่อป้องกันมิให้เกิดความกระด้างกระเดื่องขึ้นได้
คตินิยมที่ถือว่า “รัฐ” มีสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะ “ใช้ความรุนแรงปราบปราม”คนส่วนหนึ่งเพื่อความสงบมั่นคงของชาตินั้น จะยังมีคนยอมรับ ถ้าคณะบุคคลที่กุมอำนาจรัฐอยู่นั้นมีคุณธรรมดีจริง
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่ไม่อาจฝืนได้คือ การบริหารบ้านเมืองจะต้องเปลี่ยนไปในทางให้ความสำคัญกับ “ประสิทธิภาพ” มากกว่า กล่าวคือสังคมไทยจะต้องพัฒนาการด้านการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามคติเกี่ยวกับประสิทธิภาพ (Efficiency norm) และคติเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
รัฐบาลในยุคนี้ จะต้องให้ความสำคัญกับการบริหารตามคติเกี่ยวกับประสิทธิภาพและคติเกี่ยวกับการพัฒนาประชากรพัฒนาประเทศ สูงกว่าคติเกี่ยวกับความเป็นระเบียบเรียบร้อย ถึงแม้ว่าราษฎรส่วนมากยังยึดอยู่กับความสงบเรียบร้อยเป็นสำคัญก็ตาม
เพราะกลุ่มผู้ซึ่งเป็นผู้บริหารบ้านเมืองนั้น ควรจะมีวิสัยทัศน์ก้าวหน้ากว่าประชาชนส่วนใหญ่
สำหรับรูปธรรมปัญหาในขณะนี้ก็คือ รัฐบาลต้องแสดงความสามารถทางการบริหารในเรื่องประสิทธิภาพ และผลก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นจุดที่จะสร้างความนิยมให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน มากกว่าที่จะพยายามใช้อำนาจไปปกปิดอาการกระด้างกระเดื่องหรือความไม่พอใจของประชาชนส่วนหนึ่ง