มาช้ายังดีกว่าไม่มา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ได้ยกระดับการแก้ปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน บรรจุเป็นวาระแห่งชาติ โดยมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปร่วมกันพิจารณาแนวทางการดำเนินการ
โดยก่อนหน้านี้ ได้เห็นชอบมาตรการในการแก้ไขปัญหา 3 ระยะ มีระยะเร่งด่วน ระยะกลางและระยะยาว สำหรับมาตรการระยะเร่งด่วน มีแนวทางการปฏิบัติ 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย
ขั้นเตรียมการ (ช่วงก่อนเกิดสถานการณ์ : กันยายน - พฤศจิกายน) เป็นขั้นตอนการสร้างความเข้าใจ ให้แก่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และ 5 จังหวัดปริมณฑล โดยให้จังหวัดมีการตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่ จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ในการตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ และเตรียมพร้อมเพื่อสั่งการ หากปริมาณฝุ่นละอองในพื้นที่มีปริมาณสูงขึ้น
ขั้นปฏิบัติการ (ช่วงเกิดสถานการณ์ : ธันวาคม - เมษายน) เป็นการปฏิบัติการช่วงเกิดสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินมาตรฐานซึ่งได้ปรับปรุงแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพมหานคร/ปริมณฑล และในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนในขั้นปฏิบัติการสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีอำนาจหน้าที่สามารถปฏิบัติได้ทันทีตามการเคลื่อนไหวของสถานการณ์ฝุ่นละอองที่มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยได้กำหนดระดับการยกระดับความเข้มข้นของมาตรการตามความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นละออง เป็น 4 ระดับ
และขั้นฟื้นฟู หลังจากสถานการณ์กลับสู่ปกติ กำหนดให้มีการประชุมเพื่อถอดบทเรียนหรือ After Action Review/AAR เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในปีต่อไป
ส่วนมาตรการระยะกลาง(พ.ศ. 2562 - 2564) เป็นการลดการระบายมลพิษและลดจำนวนแหล่งกำเนิด อาทิ เร่งรัดแผนการเปลี่ยนรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพให้เป็นรถยนต์ที่มีมลพิษต่ำ, พิจารณาปรับวิธีการและปรับลดอายุรถที่เข้ารับการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี, พิจารณาการเพิ่มภาษีรถยนต์เก่า, การลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า, การซื้อ-ทดแทนรถราชการด้วยรถยนต์ไฟฟ้า และการจัดโซนนิ่งจำกัดจำนวนรถเข้าเมือง เป็นต้น
สำหรับมาตรการระยะยาว(พ.ศ. 2565 - 2567) เป็นการลดการระบายมลพิษและลดจำนวนแหล่งกำเนิด เช่น การพัฒนาโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงทุกระบบและครอบคลุมพื้นที่, กำหนดมาตรฐานระบายอากาศเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เทียบเท่า EU และ USA, กำหนดให้เจ้าของ/ผู้ประกอบการที่มีการเผาในที่โล่งในพื้นที่ของโครงการหรือพื้นที่ครอบครองเป็นความผิดอาญา และส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
ทั้งนี้ ให้จังหวัดจัดตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ในการเข้าควบคุมสถานการณ์ โดยสั่งการตามกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อจัดการปัญหาปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐาน ที่เกิดขึ้นจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และให้จังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการในระดับพื้นที่ ติดตามและรายงานผลการดำเนินงานด้วย
เราเห็นว่า การยกระดับปัญหาฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ สะท้อนความใส่ใจในสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นเรื่องที่ดี เพื่อการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม