ทวี สุรฤทธิกุล หลายคนอยากให้ทหารปกครองนานๆ ในทฤษฎีรัฐศาสตร์กล่าวว่า กองทัพหรือองค์กรทหารเป็นองค์กรทางวิชาชีพภาครัฐที่มีอำนาจมากที่สุด ด้วยปัจจัยที่ว่า ทหารคือกำลังพลถืออาวุธที่มีจำนวนมากที่สุดที่สามารถใช้อาวุธได้อย่างถูฏต้องตามกฎหมาย โดยที่กฎหมายได้กำหนดให้ทหารมีหน้าที่ในการสร้างและรักษาความมั่นคง และปกป้องเอกราชอธิปไตยของประเทศ แม้ในทางการเมืองการปกครองโดยหลักสากล ทหารจะอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาล และจะดำเนินการใช้กำลังหรืออาวุธได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลสั่งการหรือมอบหมายเท่านั้น แต่ในหลายประเทศทหารก็มีอำนาจเหนือรัฐบาล จนสามารถเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือเป็นรัฐบาลเสียเองก็ได้ ในกรณีของประเทศไทย ยังมี “ปัจจัยพิเศษ” ที่ทำให้ทหารมีอิทธิพลในทางการเมืองการปกครองสูงมาก นั่นก็คือ ทหารได้เป็น “โครงสร้างส่วนบน” ของอำนาจในทางการเมืองการปกครองของไทยมาโดยตลอด ตั้งแต่ครั้งที่เรายังปกครองในระบอบกษัตริย์ พระมหากษัตริย์ถ้าไม่ใช่จอมทัพหรือเป็นทหารที่เข้มแข็ง ก็จะต้องพึ่งพาทหารในการค้ำจุนและรักษาอำนาจ และในบางราชวงศ์ของอยุธยา ผู้นำทหารก็ขึ้นมาเป็นกษัตริย์เสียเอง ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับทหารจึงแยกกันไม่ออก แม้ภายหลังที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย ทหารก็คือกำลังหลักในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้น รวมถึงที่ได้ทำหน้าที่ในการ “พิทักษ์ระบอบ” มาโดยตลอด ดังเช่นที่เคยเป็นมาตั้งแต่ตั้งประเทศไทยนั้นแล้ว การที่การเมืองการปกครองของประเทศไทย “มีปัญหา” ในประสบการณ์และความรู้ที่ผู้เขียนได้ศึกษามา ทำให้ผู้เขียนมีความเชื่อว่า เป็นปัญหาจากการ “แยกเขา-แยกเรา” นี้เป็นปัจจัยหนึ่ง ดังกรณีของความพยายามที่จะแยกทหารกับการเมืองออกจากกัน ซึ่งในกรณีของประเทศไทย ที่ทหารไม่ได้เป็น “พวกใคร” แต่เป็น “ผู้ดูแลความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศ” หรือเป็น “พวกผู้ปกครอง” มาแต่ต้น อย่างที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “เป็นเจ้าเป็นนายมาตั้งแต่เกิด” ดังนั้นการแยกทหารออกจากการเมืองก็เหมือนกับ “การแยกน้ำออกจากปลา” ซึ่งบ้านเมืองก็เกิดความวุ่นวายทุกครั้งที่ประชาชนกับทหารนี้มีปัญหาระหว่างกัน ในทำนองเดียวกัน ทหารในบางยุคบางสมัยก็สร้างระบบ “แยกเขา-แยกเรา” นี้อยู่บ่อยๆ ดังที่ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ติดต่อกันมาถึงสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ทหารก็มีการแบ่ง “ก๊ก ก๊วน รุ่น เหล่า” ในหมู่ทหารเอง จนกระทั่งมีปัญหากับประชาชนในช่วงเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่ทำให้ทหารเหมือนถูกกีดกันออกจากวงอำนาจทางการเมือง ดังนั้นเมื่อทหารกลับคืนสู่อำนาจได้อีกครั้งในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทหารก็พยายามจะแก้ปัญหาด้วยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2521 ที่ให้ทหารร่วมใช้อำนาจกับพลเรือน แต่ที่สุดทหารก็ถูกครอบงำโดยพลเรือนหรือนักการเมืองในยุคต่อมา อันนำมาซึ่งปัญหาในโครงสร้างส่วนบนของระบบการเมืองไทย ดังที่เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2535 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน “ปัญหาระบอบทักษิณ” ตั้งแต่ปี 2544 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการที่พลเรือนเข้ามาครอบงำทหาร จนถึงขั้นที่คิดจะครอบงำ “เหนือไปกว่านั้น” โดยระบอบทักษิณได้แบ่งแยกประชาชนออกเป็น 2 ฝ่าย อันนำมาซึ่งความวุ่นวายทางการเมืองตลอดมาตั้งแต่ปี 2549 รวมถึงในปี 2557 ที่ทหารต้องออกมาทำรัฐประหารในทั้งสองครั้งนั้นด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิด “แผ่นดินแยก” หรือสภาพที่คนไทยต้องแบ่งพวกสู้รบกัน เช่นเดียวกันกับ “กรณีวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562” ที่ “ระบอบชั่ว” ได้พยายามท้าทายสังคมไทยขึ้นมาอีก กล่าวโดยรวมก็คือ ทหารได้ทำหน้าที่ “พิทักษ์ระบอบ” ให้กับประเทศไทยมาตั้งแต่แรกตั้งประเทศไทยนั้นแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นการพิทักษ์ระบอบใด เช่น ระบอบกษัตริย์ ระบอบคณะราษฎร ระบอบคณะทหาร หรือระบอบคณะนักเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 สังคมไทยน่าจะพอมองเห็นแล้วว่า ทหารกำลังทำหน้าที่อันสำคัญที่สุด นั่นก็คือการปกป้องและคุ้มครอง “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” โดยเชื่อกันว่าระบอบนี้แหละคือระบอบที่ “เหมาะสมที่สุด” สำหรับคนไทยและสังคมไทย นั่นก็คือการเชื่อมโยงพระมหากษัตริย์เข้าด้วยกันกับประชาชน โดยที่ทหารนั้นก็เป็นส่วนที่อยู่คู่กับพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ต้น และกำลัง “จะต้อง” ทำหน้าที่คู่กันกับประชาชนในการสร้างสรรค์บ้านเมือง เพื่อเพิ่มพลังและร่วมกันขับเคลื่อนไปด้วยกันให้กับสังคมไทยบรรลุสู่เป้าหมายที่มุ่งหวัง ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยกันต่อไปอีกแล้วว่า “ทำไมทหารต้องอยู่ยาว” เพราะตราบใดที่สังคมไทยยังมีความแตกแยก ที่อาจจะเป็นอันตรายแก่ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ทหารก็ยังไม่สามารถที่จะ “ปล่อยวาง” ได้ กระนั้นทหารก็ยังมีปัญหาของทหารเองที่เป็นอุปสรรคต่อการ “อยู่ยาว” ของทหารเช่นเดียวกัน เป็นต้นว่า ตำแหน่งทางทหารที่ต้องมีวาระหมุนเวียนกันขึ้นมาดำรงตำแหน่ง การเกษียณอายุและการขึ้นมาใหม่ของนายทหารรุ่นใหม่ๆ ที่มีผลต่อเอกภาพและเสถียรภาพของกองทัพเอง แต่ที่ปัญหามากกว่านั้นก็คือเรื่องของ “อำนาจและผลประโยชน์” ที่มักจะทำให้คนที่ “เคยดี” กลายเป็น “ดีแตก” รวมถึงสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ทั้งในและนอกประเทศ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้จะเป็นการพิสูจน์ว่า ผู้นำทหารทั้งหลายจะมีความ “ทานทน” หรือสามารถ “ปรับตัว” ได้หรือไม่อย่างไร ครั้งหนึ่งที่ใต้ถุนบ้านสวนพลู ในช่วงที่ประเทศไทยปกครองโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินราว พ.ศ. 2522 มีนายทหารคนหนึ่งที่มีความสนิทสนมกับท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เสนอความคิดขึ้นว่า ถ้าประเทศเราจำเป็นจะต้องปกครองโดยทหาร ก็น่าจะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ให้ผู้บัญชาการทหารบกเป็นนายกรัฐมนตรีโดยอัตโนมัติ พอพูดจบก็มีเสียง “ฮาครืน” ดังขึ้นทั้งโต๊ะ แล้วเสียงจากหัวโต๊ะก็พูดขึ้นว่า “น่าจะให้ตำแหน่ง ผบ.ทบ.นี้ไม่ต้องเกษียณอายุด้วยจะดีไหม”