นอกจากแผนการตลาดสุดพิศดารต่างๆ ที่ปรากฎออกมาในห้วงเวลาในการหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อสร้างกระแสความสนใจจากประชาชนแล้ว สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลคงไม่พ้นปัญหาที่อยู่คู่กับการเลือกตั้งไทยมานาน นั่นคือการซื้อเสียง
การซื้อสิทธิขายเสียง คือการใช้เงินแลกเปลี่ยน
ยิ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวไกล สังคมออนไลน์เข้ามามีส่วนสำคัญ นอกจากจะเป็นช่องทางในการหาเสียงให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังเป็นช่องทางในการหาเสียงที่ยากต่อการติดตามตรวจสอบอีกด้วย
ทวิสันต์ โลณานุรักษ์ อดีตเลขาธิการหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วิเคราะห์หลังจากนี้ไปบรรยากาศทางการเมืองไทยจะเข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการใช้เงินในการซื้อเสียงจะเริ่มดุเดือด ซึ่งก่อนหน้านั้นนักวิชาการหลายฝ่ายคาดว่าจะมีการใช้เงินในการซื้อเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้ประมาณ 50,000 ล้านบาท แต่โดยส่วนตัวคิดว่าน่าจะมากถึง 1 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
เพราะเดิมทีนักวิชาการคาดว่าแต่ละคะแนนเสียงต้องใช้เงินประมาณ 500 บาท ขณะที่ปัจจุบันนี้ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น แรงจูงใจจึงสูงตาม จึงคาดว่าน่าจะเพิ่มเป็น 1,000 บาทแล้ว
ส่วนค่าใช้จ่ายในการหาเสียง ทวิสันต์ กล่าวว่า ผู้สมัครพรรคเล็กใช้เงินหาเสียงไปวันละไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท เฉพาะรถแห่ก็วันละ 3,000-4,000 บาท ค่าจ้างทีมงานช่วยเดินหาเสียคนละ 350 บาทต่อวัน ไม่รวมค่าอาหาร ดังนั้นสำหรับพรรคใหญ่ ซึ่งต้องใช้ทั้งคนและรถแห่จำนวนมาก รวมถึงยังต้องเคลียร์พื้นที่จัดเวทีปราศรัยหาเสียง เครื่องกระจายเสียง ค่าน้ำ ค่าไฟ จิปาถะ ทวิสันต์คาดว่ารวมแล้วไม่ต่ำกว่าวันละ 100,000 บาทเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงนั้น แม้จะไม่หมดไปจากสังคมไทยได้โดยง่าย แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่ถือเป็นครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ นอกจากกฎหมายจะให้อำนาจหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกกต. ในการดำเนินการกับการทุจริตซื้อสิทธิขายเสียงอย่างเต็มที่ ให้มีอำนาจออกหมายเรียก และออกหมายจับได้ ในคดีเลือกตั้งตามกฎหมาย ป.วิอาญาแล้ว
เราจึงอยากให้ประชาชนคนไทยทุกคน มีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ช่วยกันสอดส่องพฤติกรรมที่ไม่โปร่งใส ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งตั้งรางวัลนำจับ ให้แก่ผู้ที่ชี้เบาะแสในคดีเลือกตั้งระดับชาติ คดีละ 1 แสนบาท โดยต้องมีหลักฐานให้ศาลสามารถลงโทษให้ใบแดงการเลือกตั้งได้
ถือเป็นการช่วยกันขจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันตั้งแต่ต้นน้ำ เพราะหากปล่อยให้คนทุจริตเข้าสภาผู้แทนราษฎร หรือมีตำแหน่งในฝ่ายบริหาร พวกเขาเหล่านั้นคงถอนทุนคืน