ทองแถม นาถจำนง
เรื่องที่วงการกวีพึงระลึกถึง ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช มาก ๆ สองเรื่องคือ หนึ่ง ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช มีบทบาทมากในการฟื้นฟูการเล่นสักวาให้เป็นที่นิยมขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
สอง ผลงานประพันธ์ภาษาไทย รุ่นแรก ๆ ของ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ที่เขียนลงหนังสือพิมพ์คือบทสักวา
ตามหลักฐานที่ “สละ ลิขิตกุล” บันทึกเอาไว้ ในเรื่อง “ต้นกำเนิดสยามรัฐ” ในหนังสือ “คึกฤทธิ์ 60” เล่าไว้ว่า ม.ร.ว คึกฤทธิ์ เริ่มเขียนบทความเป็นภาษาอังกฤษลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษชื่อ Liberty ซึ่งมีนายมานิต วสุวัติ เป็นเจ้าของ (ช่วงประมาณ พ.ศ 2487) โดยมี สอ เสถบุตร เป็นบรรณาธิการ ต่อมาประมาณ พ.ศ 2489 นายสละ ลิขิตกุล เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์ ได้พยายามขอเรื่องจาก ม.ร.ว คึกฤทธิ์ เพื่อตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์
สละ ลิขิตกุล บันทึกไว้ว่า
“ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เสียอ้อนวอนผมไม่ได้ ก็เขียนให้กับผม ซึ่งที่จริงเขียนให้หนังสือพิมพ์เกดียรติศักดิ์ ครั้งแรกเป็นบทสักวา เขียนในขณะที่กำลังนั่งประชุมสภาผู้แทนอยู่ เมื่อเขียนส่งมาให้ผมหลังจากเลิกประชุมสภาแล้ว ยังไม่ได้ลงนาม เมื่อผมนำไปลงในหนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์ในชิ่งล้อมกรอบเล็ก ๆ ก็เลยลงนามแฝงว่า “คุณชาย” พอหนังสือพิมพ์ออกจำหน่ายในวันรุ่งขึ้น ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ต่อว่าผมว่า เรื่องที่เขียนนั้น ถ้า ม.ร.ว คึกฤทธิ์ เขียนเอง ฉะนั้น ถ้ารักกันจริง ต่อไปเรื่องที่เขียนทุก ๆ เรื่องจะต้องลงนาม “คึกฤทธิ์ ปราโมช” และนั่นก็เป็นต้นเหตุอันหนึ่งที่ผมเรียก ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่า “คุณชาย” มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ โดยไม่ได้เอาอย่างใครมาก่อน
ต่อจากนั้น หนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์ก็มีบทบาทของ “คึกฤทธิ์ ปราโมช” เรื่อย ๆ ที่คุณชายเขียนนั้น มีทั้งบทความ คือบทนำของบรรณาธิการ ซึ่งลงชื่อจริง สารคดี และบทสักวา ไหน ๆ เมื่อเขียนกันถึงเรื่องนี้แล้ว ก็อยากจะคุยให้เขื่องสักหน่อยว่า บทสักวาที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้น ริเริ่มมาจาก คึกฤทธิ์ ปราโมช ก่อนใคร ๆ “
ต่อไปขอกล่าวถึงการฟื้นฟูการเล่นสักวา
การเล่นสักวานั้นเคยนิยมกันมากมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นิยมกันมาจนถึงรัชกาลที่ 5 จึงเจือจางไป มีเล่นกันเพียงครั้งคราว
นับตั้งแต่ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐขึ้น ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ได้เปิดคอลัมน์ “สักวา” ได้รับความนิยมมาก
ต่อมา วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ 2502 กรมศิลปากรฟื้นฟูการเล่นสักวาขึ้นอีก เล่นกันที่สังคีตศาลา พิพิธภัณฑสถาน เรื่อง “สังข์ทอง” วันที่ 12 มกราคม พ.ศ 2503 ชุมนุมภาษาไทย จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยจัดเล่นสักวาหน้าที่นั่ง เรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนพระไวยแต่งงาน และต่อมามีการเล่นสักวาทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ทำให้การเล่นสักวาได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เหล่านักกลอนที่ต่อมาได้รวมตัวกันก่อตั้ง “สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย” ขึ้น ก็ได้สืบทอดประเพณีการเล่นสักวากันต่อมาจนถึงทุกวันนี้
สำหรับคอลัมน์สักวาใน “สยามรัฐ” นั้น นายมอร์เซล ยกย่อง “บทสักรวา” ของ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ว่าเป็น บทบรรณาธิการประเภทร้อยกรอง – Verse Editorial ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้ผลดีในการที่จะแสดงความกังขา หรือจะอภิปรายปัญหาทางการเมืองและศีลธรรม พร้อมกันนั้นก็ยังให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่านด้วย เป็นปรากฏการณ์ในการทำหนังสือพิมพ์ที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้ง “สักวา” ยังได้เปรียบ “บทบรรณาธิการประเภทร้อยแก้ว” ตรงที่ สักรวานั้นเขียนเป็นเชิงกวีทีเล่นทีจริง สามารถที่รอดพ้นจากการถูกเซนเซอร์ไปได้(หนังสือ “คึกฤทธิ์ 60”)
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ได้ริเริ่มไว้ในวงการหนังสือพิมพ์ ได้แก่การรื้อฟื้นเอา “สักวา” มาเล่นในหน้าหนังสือพิมพ์ ไทยเราเป็นชาติเจ้าบทเจ้ากลอนอยู่แล้ว เมื่อ “สยามรัฐ” มีคอลัมน์สักวาล้อการเมืองและเสียดสีสังคมเป็นประจำ ผู้คนก็เฮฮาสนุกกันไปทั้งเมือง แต่นักการเมืองสันหลังหวะสะดุ้งเฮือก เพราะสักวาได้กลายเป็นอาวุธทางการเมืองที่น่ากลัวขึ้นมาทันที มีพลังอำนาจในการก่อและนำมติมหาชน หนักแน่นยิ่งไปกว่าบทบรรณาธิการที่เขียนอย่างเคร่งเครียดจริงจังเสียอีก เพราะสักวานั้นไม่เคร่งเครียด แต่เป็นเชิงล้อกันกลาย ๆ ถูกกับรสนิยมของคนอ่าน ฝังจิตฝังใจและจำได้ง่าย
“สมบัติ ภู่กาญจน์” ผู้รวบรวมบทร้อยกรองของ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ รวมพิมพ์ไว้ที่เดียวกันคือหนังสือ “คนหลายโศลก” ให้ความสำคัญของเรื่อง “สักรวา” มาก
สมบัติ ภู่กาญจน์ บันทึกไว้ว่า “นอกเหนือจากกลอนหรือร้อยกรองสารพัดรูปแบบที่หยิบยกมาให้เห็นกันเหล่านี้แล้ว ผลงานที่สำคัญอีกชิ้นของสยามรัฐรายวันยุคเฟื่องฟูนั้นได้แก่ คอลัมน์ “สักวา” ในความเป็นหนังสือพิมพ์การเมืองของสยามรัฐรายวันนั้น ข้อความสั้นๆ เพียง 8 บาท หรือ 8 บรรทัดนี้ บางครั้ง “ถึงใจ” ยิ่งกว่าข้อเขียนบางชิ้นบางบท เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ชื่อของคนเขียนสักรวาที่ลงนามว่า “คึกฤทธิ์ ปราโมช” จะต้องปรากฏอยู่บ่อยครั้งในคอลัมน์สักวา
เนื้อหาแห่งสักวาของ คึกฤทธิ์ ปราโมช จะคมคายแค่ไหนก็ลองมาฟังกันดู เท่าที่ผู้รวบรวมพอจะค้นหามาได้ก็มีดังนี้
ชิ้นแรกปรากฏหลังจากที่ข่าวเรื่องผู้แทนกินจอบกินเสียมกำลังเป็นข่าวใหญ่ สยามรัฐรายวัน ก็มีสักวา ที่แต่งโดย “คึกฤทธิ์ ปราโมช” ปรากฏดังต่อไปนี้
สักวาการกินไม่สิ้นเรื่อง
ทั้งกินบ้านกินเมืองกินรถถัง
อีกจอบเสียมธนบัตรอัดประดัง
กินกระทั่งก้อนหินกินสินบน
กินอะไรกินได้ ใครไม่ว่า
ถึงที่สุดกินหมาข้างถนน
อาหารไทยสมัยนี้ทีชอบกล
แม้กินคนกันเมื่อไรไม่สู้เอย ฯ
ในยุคอัศวินครองเมือง ข่าวเรื่องตำรวจนิยมระบบ “บาทาธิปไตย” คือ ซ้อมผู้ต้องหานั้นก็เป็นโจษจัน คอลัมน์สักวาของสยามรัฐก็ไม่รอช้า รีบตั้งกระทู้ถามอธิบดีตำรวจด้วยผลงานดังต่อไปนี้
สักรวาเสียงเขาว่าหมาต๋าเลี๊ยะ
โปลิศเจี๊ยะร้องลั่นสนั่นทั่ว
ข่าวซ้อมผู้ต้องหาน่าเกรงกลัว
มิใช่ชั่วยิ่งยวดตำรวจเรา
ยินระบือลือลั่นเกิดคันปาก
กรรมวิบากมีบิดาหมาต๋าเก่า
ถูกใครว่า เจ็บแค้นแทนไม่เบา
วานคุณเผ่าช่วยแก่แผลคันน้อยฯ
“คึกฤทธิ์ ปราโมช”