ณรงค์ ใจหาญ การดำเนินคดีอาญามีหลักการที่สำคัญที่ถือเป็นหลักสากลคือ การดำเนินกระบวนพิจารณาจะต้องกระทำต่อหน้าจำเลย เพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสรับรู้ว่าตนถูกกล่าวหาว่าอย่างไร และจะแก้ตัวหรือต่อสู้คดีโดยยกพยานหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนต่อศาลได้ ดังนั้น การฟ้องคดีอาญาจึงต้องได้ตัวจำเลยมาฟังการพิจารณา และให้จำเลยมีโอกาสตั้งทนายความหรือได้รับทนายความที่รัฐจัดหาให้เพื่อช่วยในการนำเสนอพยานหลักฐานต่อศาล รวมถึงการซักค้านพยานของโจทก์ นอกจากนี้ การดำเนินคดีอาญาต้องกระทำภายในกำหนดอายุความ หากไม่ได้ตัวจำเลยหรือได้มาแล้วแต่จำเลยหลบหนีจนพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 หรือ มาตรา 98 คดีเป็นอันขาดอายุความ ไม่สามารถดำเนินคดีแก่ผู้นั้นได้อีก เพราะคดีขาดอายุความในคดีอาญา เป็นเหตุให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ ดำเนินคดีอีกไม่ได้ หลักการทั้งสองประการนี้ ทำให้จำเลยที่หลบหนีไปหลังจากที่กระทำความผิดหรือเมื่อถูกจับตัวได้แล้ว และได้รับการปล่อยชั่วคราวไป แต่หลบหนีไป ซึ่งบางกรณีหนีไปอยู่ในต่างประเทศเป็นต้น ทำให้กระบวนพิจารณาคดีอาญาต้องหยุดหรือรอจนกว่าจะจับตัวได้ จึงจะนำมาฟ้องหรือ ดำเนินคดีต่อได้เพราะการฟ้องต้องมีตัวจำเลยมาพร้อมกับคำฟ้อง การพิจารณาต้องกระทำต่อหน้าจำเลย และเมื่อไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาได้จนเกินกำหนดอายุความฟ้องร้องหรืออายุความล่วงเลยการลงโทษ รัฐก็ไม่อาจดำเนินการกับผู้กระทำความผิดนั้นได้อีกต่อไป จึงเป็นช่องว่างที่ทำให้คนกระทำความผิดลอยนวลอยู่ได้ ด้วยเหตุนี้ ในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จึงต้องการปราบปรามผู้ที่กระทำความผิดแล้วหลบหนี การดำเนินคดีดำเนินต่อไป โดยถือว่า ระหว่างที่ผู้กระทำความผิดหลบหนี ไม่ให้นับอายุความในคดีอาญา ซึ่งหมายความว่า ผู้กระทำความผิดไม่อาจยกระยะเวลาที่ตนหลบหนีมารวมกับระยะเวลาที่จะทำให้ขาดอายุความฟ้องร้องได้ เหตุผลก็คือ เพราะถือว่า ผู้กระทำความผิดได้สละสิทธิที่จะนับระยะเวลาที่ตนหลบหนี ไว้ในระยะเวลาของอายุความทางอาญา แนวคิดนี้ได้นำมาใช้ในกฎหมายไทย โดยเริ่มจากคดีอาญาพิเศษ เช่น คดีทุจริต และคดีค้ามนุษย์ เพราะผู้กระทำความผิดส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดี หรือมีตำแหน่งหน้าที่ทางการงานหรือสังคมสูง จึงมีศักยภาพที่จะหลบหนีไปในที่ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปจับไม่ได้ และเมื่อพ้นกำหนดอายุความ ก็จะกลับเข้ามาเพื่อทำธุรกิจของตนต่อไปโดยไม่ต้องถูกดำเนินคดีอาญา เพราะคดีขาดอายุความแล้ว ซึ่งทำให้เห็นว่ามีความไม่เสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมายแก่บุคคลเหล่านี้ หรืออีกนัยหนึ่ง กฎหมายไม่สามารถเอาผิดกับกลุ่มอิทธิพลเหล่านี้ได้ แม้ว่ากลุ่มเหล่านี้จะสร้างความเสียหายให้แก่สังคมมากมายเพียงใดก็ตาม หลักการที่ให้อายุความสะดุดหยุดอยู่ในระหว่างที่จำเลยหรือผู้กระทำความผิดหลบหนีนั้น จึงเป็นมาตรการหนึ่งที่ป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดอาศัยอายุความขึ้นมาปฏิเสธการดำเนินคดีของรัฐ และถือว่าเป็นมาตรการที่มีเหตุผลสมควรที่จะนำมาใช้ทั้งนี้เพราะเหตุของการหลบหนีเป็นเรื่องที่เกิดจากผู้กระทำความผิดหรือจำเลย ไม่ใช่เหตุที่เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบทั้งหมด แม้ว่าในบางความเห็นจะเห็นว่า การที่จำเลยหลบหนีไปนั้น จำเลยก็ได้รับความทุกข์ทรมานจากการที่ต้องหลบซ่อนมากพอควรแล้ว หรือการที่เจ้าหน้าที่ปล่อยให้จำเลยหลบหนีจนเกินอายุความ เป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ด้วยที่ปล่อยปละละเลยไม่นำตัวมาดำเนินคดีก็ตาม ซึ่งเป็นความจริงบางส่วน แต่ในปัจจุบัน มีผู้กระทำความผิดจำนวนมาก ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคมดี สามารถใช้อิทธิพลทางการเงินหรือทางสังคม เป็นเกราะป้องกันตนให้พ้นจากการจับกุมได้ เพราะกลุ่มเหล่านี้มีอิทธิพลสูง ความทุกข์ทรมานจากการหลบหนีจึงไม่มี และควรนำเรื่องอายุความสะดุดหยุดอยู่มาใช้กับคดีอาญาทั่วไปด้วยในกฎหมายไทย เพื่อให้สามารถนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลักการอีกประการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้แก้ไขในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 32) พ.ศ. 2559 133 ร.จ. 104 ก ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2559 ได้แก้ไขหลักการในการอุทธรณ์และฎีกา ว่าจำเลยที่ไม่ได้ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกา จะมีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ ต้องมาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในวันยื่นอุทธรณ์ ตามมาตรา 198 ซึ่งหลักการดังกล่าวได้นำมาใช้ในชั้นฎีกาด้วย ซึ่งเหตุผลในการแก้ไขหลักการที่จำเลยต้องแสดงตนนี้มีสองประการ ประการแรก เพื่อให้ศาลได้ตรวจสอบว่าจำเลยมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ และประการที่สอง เป็นการปิดโอกาสให้จำเลยที่หลบหนีไม่อาจอุทธรณ์ฎีกาได้ ประเด็นการที่กำหนดให้จำเลยต้องแสดงตนเมื่อยื่นอุทธรณ์นี้ ถือเป็นหลักการใหม่ของกฎหมายวิธีพิจารณาความลักการอาญา ทั้งนี้เพราะการอุทธรณ์ถือเป็นสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมที่สำคัญประการหนึ่ง ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก การที่กำหนดเงื่อนไขที่จะต้องแสดงตัว ถ้ามองในมุมหนึ่งเห็นได้ว่า เป็นการกำหนดเงื่อนไขที่นอกเหนือไปจากหลักสากลที่ให้สิทธิที่จำเลยจะได้รับการทบทวนคำวินิจฉัยของศาลสูงอีกระดับหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่จำเลยซึ่งต้องคำพิพากษาให้ลงโทษมาแล้วชั้นหนึ่ง และการที่ต้องมาแสดงตัวนั้น ก็เป็นเพียงให้รู้ว่ายังมีตัวอยู่เท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า หากจำเลยหลบหนีไปแล้ว จำเลยจะสละสิทธิของการที่จะไม่ต้องการทบทวนคำพิพากษาที่ตัดสินลงโทษตน หลักการดังกล่าวจึงน่าจะเป็นปัญหาที่อาจเกิดปัญหาการตีความได้ว่า หลักการข้างต้นในชั้นอุทธรณ์นี้ จะขัดต่อการของกติกาสากลว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง (พลเมือง) และสิทธิทางการเมือง ที่ไทยให้สัตยาบันแล้วหรือไม่ แต่ในส่วนของการฎีกานั้น อาจกำหนดยกเว้นให้ได้ เพราะเป็นการทบทวนในชั้นสุดท้ายแล้ว ประเด็นน่าพิจารณาอีกประการคือ การที่จำเลยหลบหนี ถือเป็นกรณีที่จำเลยสละสิทธิเหมือนอายุความสะดุดหยุดอยู่หรือไม่ กรณีนี้เห็นได้ว่าเป็นคนละเหตุผลกัน เพราะการที่จำเลยหลบหนี แต่ไม่ได้หมายความว่าจำเลยจะสละสิทธิที่จะอุทธรณ์ เพราะจำเลยควรได้รับการทบทวนโดยคำพิพากษาศาลสูงอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ดี เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้วในปัจจุบันต้องถือว่า เมื่อจำเลยหลบหนี มีผลสองประการ ประการแรก อายุความสะดุดหยุดอยู่จนกว่าจะได้ตัวจำเลยมา ทำให้จำเลยแม้ว่าจะหนีไปนานเท่าใด ก็สามารถฟ้องคดีได้เพราะอายุความไม่นับระหว่างที่หลบหนี ส่วนกรณีที่สอง หากจำเลยหลบหนีไปในระหว่างที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์ และหากพ้นกำหนดเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา คำพิพากษาศาลชั้นต้นถึงที่สุด ในทำนองเดียวกัน หากเป็นการหลบหนีในชั้นอุทธรณ์ จำเลยไม่มีสิทธิฎีกา เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่จะตามจับจำเลยได้เพราะระหว่างที่จำเลยหลบหนี อายุความสะดุดหยุดอยู่ไม่นำมานับเพื่อให้พ้นกำหนดอายุความล่วงเลยการลงโทษ ด้วยเหตุนี้ จำเลยที่หลบหนีจึงเสียสิทธิหลายอย่าง ทั้งเรื่องอายุความและการอุทธรณ์ฎีกา ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่ติดตามจำเลยที่หลบหนีได้อย่างมีประสิทธิภาพประการหนึ่ง