13 กุมภาพันธ์ เวลา 13.00 น. “7เสือกกต.”เปิดเผยมติเอกฉันท์ ต่อกรณีพรรคไทยรักษาชาติมีหนังสือแจ้งรายชื่อบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 1 รายชื่อ โดยเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 ต่อมา “พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา” เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ (ศร.) และในวันนี้ (14 ก.พ.) ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติออกมาว่า รับหรือไม่รับคำร้องวินิจฉัยหรือไม่ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับ “พรรคสาขา” ของ “พรรคเพื่อไทย” อย่าง ไทยรักษาชาติเวลานี้ต้องถือว่าหนักหน่วง ไม่ต่างไปจากมรสุมที่โถมเข้าใส่จากทุกทิศทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่ว่าด้วย “ข้อกฎหมาย” หรือประเด็นที่เต็มไปด้วยความอ่อนไหว และเปราะบางอย่างที่สุด นั่นคือการที่พรรคไทยรักษาชาติได้กระทำการก้าวล่วงสถาบันจะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม จริงอยู่แม้ที่ผ่านมา พรรคการเมืองในมือของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะเจ้าของพรรคตัวจริง จะเคยผ่านวิกฤติกันมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเมื่อคราวที่พรรคไทยรักไทย ถูกยุบ แต่ไม่นานทักษิณ สามารถเนรมิตร “พรรคพลังประชน” ขึ้นมาใหม่และส่งลงสู่สนามการเลือกตั้งจนประสบความสำเร็จ มาแล้วแต่ก็ต้องถูกยุบอีกครา ก่อนที่จะมีเปิดหน้ารอบใหม่ ในนาม “พรรคเพื่อไทย” มี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายก ฯก้าวขึ้นเป็น “ปาร์ตี้ลิสต์” อันดับ 1 จนเอาชนะคู่แข่งมาได้อย่างถล่มทลาย แต่อย่าลืมว่าทั้งไทยรักไทยและ พลังประชาชนที่เจอกับมรสุมในอดีต ต่างยังไม่มีใครกระทำการท้าทาย ส่อเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยการดึงเบื้องสูงลงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง เหมือนกับที่ไทยรักษาชาติดำเนินการในครั้งนี้ ! สถานการณ์อันส่อเค้าว่าจะมีผลลัพธ์ที่ออกมาในทางเลวร้าย มากกว่าเป็นผลในที่เป็นบวกต่อไทยรักษาชาติเวลานี้ย่อมไม่ได้ถูกตั้งคำถามแค่ตัว “ปรีชาพล พงษ์พานิช”หัวหน้าพรรค นักการเมืองที่มีอนาคตไกลเท่านั้น หากแต่ยังเพ่งมองกันไปถึง “กรรมการบริหารพรรค” ชนิดยกชุดว่าจะอยู่หรือไม่ก่อนหรือหลัง การเลือกตั้ง 24 มีนาคม แล้วด้วยซ้ำ ว่าหากมีการยุบพรรคกันขึ้นมาจริงๆแล้ว ระหว่างยุบก่อนหรือหลังวันเลือกตั้ง ช่วงเวลาใดที่จะทำให้ “วิกฤตน้อยที่สุด” แผนสำรองที่กุนซือพรรคไทยรักษาชาติ เตรียมเอาไว้เพื่อรับมือในเวลานี้จึงต้องดำเนินการเอาไว้ในสองทาง ทางหนึ่งคือการต่อสู้ในกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ หากมีความชัดเจนว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของกกต.เอาไว้วินิจฉัย ทางที่สอง คือการหาทาง เร่งอุดรูรั่ว เพื่อไม่ให้น้ำเข้าจนมีอันต้องจมก่อนถึงวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม ด้วยการเตรียมหาช่องทางกระจาย “คะแนนเสียง” จากไทยรักษาชาติไปยัง “พรรคสาขา” ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ ที่เดิมวางเป้าเอาไว้เพื่อรุกฐานเสียงในพื้นที่ภาคใต้เท่านั้นก็อาจจะต้องขยับออกจาก ฐานที่มั่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความสุ่มเสี่ยงที่ไทยรักษาชาติกำลังเผชิญอยู่ในยามนี้ หลายต่อหลายฝ่ายต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เมื่อ “คนที่ต่างประเทศ” คิดที่จะก้าวล่วงสถาบัน อย่างจงใจ แต่ที่สุดแล้ว ดาบนี้ก็กำลังคืนกลับมาที่ไทยรักษาชาติ และมิหนำซ้ำ อาจไม่ใช่แค่ไทยรักษาชาติเท่านั้นที่กำลังถูก “รุกฆาต” !