เป็นธรรมดาที่นักการเมืองจะมีความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง , นักการเมือง เพราะเป็นเรื่องที่บังคับใช้กับพวกเขาโดยตรง ส่วนในอีกฟากหนึ่งคือฟากชาวบ้านทั่วไป เขาก็ย่อมจะมีคำวิพากษ์วิจารณ์ต่อนักการเมืองเช่นกัน
ปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาของประชาธิปไตยไทยคือ ปัจจัยภายในพัฒนาบนรากฐานวัฒนธรรมอุปถัมภ์พึ่งพา ปัจจัยภายนอกคือความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของ “ระบบทุนนิยมโลก”
การพัฒนาทางการเมืองไทยแม้จะปลูกฝังแนวคิดให้เชื่อกันอย่างหยั่งลึกแล้วว่าระบอบการปกครองที่ดีคือระบอบการปกครองโดยผู้แทนของประชาชน (representative government) แต่ทว่าการปกครองโดยผู้แทนของประชาชนไทยก็ยังมีปัญหาอีกมาก จุดสำคัญคือคุณภาพผู้แทนของประชาชน
ผู้แทนของประชาชนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาโดยประชาชนนั้น ส่วนไม่น้อยกลับมิได้มุ่งมั่นรักษาผลประโยชน์ของประชาชน นำมาซึ่งการคอร์รัปชั่น นักการเมืองส่วนไม่น้อยมิได้มุ่งพัฒนาการเมืองให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น การเมืองไทยในแง่การปฏิบัติจึงวนเวียนอยู่กับ “การเมือง”ในความหมายซีกส่วนเดียวของการเมืองเท่านั้น
กล่าวคือการเมืองไทยเป็นเพียง “การต่อสู้เพื่อแสวงอำนาจ” และอำนาจนั้นหมายถึงการที่บุคคลหนึ่งหรือหลายคนมีอิทธิพลเหนือพฤติกรรมของบุคคลอื่น
การเมืองไทยนั้นผ่านมาแล้วทั้งยุค “ส.ส มีอิทธิพลสูง” และยุค “พรรคการเมืองมีอิทธิพลสูง” พรรคฯ ควบคุม ส.ส ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
การสร้างพรรคการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องใช้ “ทุน” จำนวนมาก หนทางที่ “คนเล็กคนน้อย” จะมีส่วนในการพัฒนาการเมืองจึงตีบตัน
พรรคการเมืองในไทยที่มีอยู่และเคยมีนั้น มีความเข้มแข็งเพียงบางด้าน
จุดที่เข้มแข็งคือ เรื่องเงินทุน, เรื่องยุทธวิธีในการเอาชนะการเลือกตั้ง , เรื่องการซื้อตัว ส.ส , ควบคุมบังคับ ส.ส , เรื่องหากินจากงบประมาณ และคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ฯลฯ
ในจุดเหล่านี้ พรรคการเมืองส่วนใหญ่ มีความสันทัดจัดเจน ทำงานส่วนนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง แต่จุดที่พรรคการเมืองทั้งหลายแหล่อ่อนแอ คือด้านยุทธศาสตร์ชาติสำหรับพัฒนาชาติบ้านเมืองและคุณภาพชีวิตของประชาชน เมื่อมองในส่วนอุดมคติทางเศรษฐกิจ-การเมืองแล้ว พรรคการเมืองทั้งหลายแหล่ของเมืองไทยมีอุดมคติเดียวกัน นั่นคือการเมืองเสรีประชาธิปไตย-เลือกตั้ง และเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี-โลกาภิวัตน์
พรรคการเมืองไทยมีความแตกต่างกันอยู่ในสองจุดเท่านั้น คือ 1.กลุ่มสมัครพรรคพวกที่รวมตัวกัน 2.กลุ่มทุนที่สนับสนุนพรรค
การเมืองในระบบของไทยจึงเป็นการแข่งขันต่อสู้ระหว่าง “พวก” ไม่ใช่การแข่งขันต่อสู้กันระหว่างค่ายอุดมการณ์
ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจนั้น ทุกพรรคก็จะดำเนินการคล้าย ๆ กัน เช่น การรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจ ก็จะทำคล้าย ๆ กัน , การจัดการปัญหาสภาพแวดล้อมเมื่อมีความขัดแย้งกับ “ทุน” ก็จะทำคล้าย ๆ กัน
พรรคการเมืองไทยทั้งหลายแหล่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของ “อภิทุนข้ามชาติ” การวางเงื่อนไขทางกรอบของรัฐธรรมนูญให้พรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้นมานั้น ก็จะมีแต่พรรคการเมืองที่เดินแนวทางทุนนิยมเสรีโลกาภิวัตน์เท่านั้นที่ใหญ่โตขึ้นมาผูกขาดเศรษฐกิจการเมืองไทย
พรรคการเมืองทางเลือกใหม่ ๆ ที่มีแนวทางพัฒนาแบบผสมผสาน หรือมีอุดมคติทางเศรษฐศาสตร์ทางเลือก จะไม่มีโอกาสได้เติบใหญ่
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (แม้จะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว) เศรษฐกิจระบบสหกรณ์ และเศรษฐกิจทางเลือกอื่น ๆ จะไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างแท้จริงจากพรรคการเมืองทั้งหลายแหล่ที่มีอยู่ในเมืองไทยขณะนี้
แนวทางของภาคประชาชนจึงควรสร้างปัจจัยให้พรรคการเมืองทางเลือกมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นได้ สังคมไทยควรเปิดโอกาสให้ “คนเล็กคนน้อย” สามารถที่จะเข้าสู่การแข่งขันทางการเมืองได้อย่างสะดวก และมีโอกาสแข่งขันอย่างเป็นธรรม