รศ. ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เข้าสู่โหมดเลือกตั้งแบบเต็มสูบแล้ว “นโยบาย” เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่พรรคการเมืองต่างๆ ใช้ในการหาเสียง ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนจำนวนทั้งสิ้น 58,572 คน ของ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในประเด็น นโยบายอะไร? “โดนใจ” ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ณ วันนี้ พบว่า การกินดีอยู่ดี มีงานทำ ขึ้นค่าแรง เงินเดือน เป็นนโยบายที่ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย และทุกระดับการศึกษา ให้ความสำคัญ คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนจะให้ความสำคัญกับ “นโยบายเศรษฐกิจ” เพราะ “ปัญหาปากท้อง” เป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนไทยทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคการเกษตรที่เกษตรกรต้องเผชิญกับภาวะราคาพืชผลตกต่ำ ไม่มีที่ดินทำกิน รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายจนต้องกู้หนี้ยืมสิน หรือแม้แต่คนทำมาหากินหาเช้ากินค่ำ ก็ต้องเผชิญกับปัญหาค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งไม่ยังสอดรับกับ ค่าครองชีพซึ่งเพอ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ ณ วันนี้ คนในสังคมจำนวนไม่น้อยต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ณ วันนี้ การปัญหาเศรษฐกิจ จึงเป็นสิ่งที่พรรคการเมือง ต่างมุ่งนำเสนอ และงัดนโยบายต่างๆ ออกมาเรียกคะแนนเสียงกันแบบไม่มีใครยอมใคร ซึ่งหากจะพอสรุปนโยบายเด่นๆ จาก 4 พรรคที่น่าสนใจได้ดังนี้ “พลังประชารัฐ”  ชู 7:7:7: สวัสดิการ -สังคม - เศรษฐกิจประชารัฐ ออกมาตอบโจทย์ประเทศ โดยหลักๆ ยังคงสานต่อนโยบายที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น 1. การสานต่อโครงการชิ้นโบแดงของรัฐบาล ซึ่งก็คือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี 2. ปรับสวัสดิการแห่งรัฐสู่สวัสดิการถ้วนหน้า 3. ลดความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจ ด้วยดิจิตอล 4. สร้างเศรษฐกิจแบบไบโออีโคโนมี 5. ใช้บิ๊กดาต้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ตรงจุด 6. ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยซื้อขายสินค้าออนไลน์ 7. ชูท่องเที่ยวเป็นจุดหมายปลายทางนักท่องเที่ยว 8. สร้าง 15 เมืองใหญ่ 15 เมืองรอง 9. เปลี่ยนร้านโชว์ห่วยเป็นศูนย์รวมสินค้าชุมชน 10. ตั้งกองทุนเกษตรกรรม และ 11. สร้างเกษตรอัจฉริยะ-เกษตรยั่งยืน "เพื่อไทย" ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส โดยมีนโยบายหลักๆ เน้นเรื่องการแก้ไขปัฐหาเศรษฐกิจของทุกชนชั้น โดยเน้นหนักเรื่องของเศรษฐกิจในทุกระดับตั้งแต่เกษตรกร ผู้ค้า ไปจนถึงเอสเอ็มอี ซึ่งในครั้งนี้ นอกจากวางแผนต่อยอดจาก 30 บาทรักษา และเอาใจ ผู้มีรายได้น้อย เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำมากกว่า 300 บาทอีกด้วย รวมทั้ง จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง โดยมีคำพูดติดปากกันว่า หากเพื่อไทยเป็นรัฐบาล “อยู่กับเรากระเป๋าตุง อยู่กับลุงกระเป๋าแฟ่บ”  "ประชาธิปัตย์" หวัง แก้จน สร้างคน สร้างชาติ  ซึ่งนโยบายที่ได้ใจประชาชนคงหนีไม่พ้น "เกิดปั๊บรับเงินแสน" โดยเป็นการให้เงินเด็กแรกเกิดคนละ 5,000 บาท ในเดือนแรก นอกจากนั้นจะได้รับเดือนละ 1,000 บาทจนเด็กอายุครบ 8 ปี การประกันรายได้ให้กับชาวนาให้ขายข้าวได้เกวียนละ 10,000 บาท ประกันราคายางกิโลกรัมละไม่ตํ่ากว่า 60 บาท ประกันค่าแรง 120,000 บาทต่อปี เพิ่มเบี้ยให้กับผู้ยากไร้ จากที่รัฐบาลให้ 500 บาทต่อเดือน เป็น 800 บาทต่อเดือน การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาทต่อเดือน เพิ่มเบี้ยสวัสดิการคนจน 800 บาทต่อเดือน การออกโฉนดชุมชนเพื่อที่อยู่ที่ทำกิน นอกจากนั้นยังมีนโยบายเอาใจนักลงทุนโดยการประกาศว่าขอเวลา 4 ปี จะทำให้ดัชนีหุ้นไทยแตะ 2,500 จุด  รวมถึงการเปลี่ยนระบบการศึกษา เด็กไทยจะแข็งแรงขึ้น เก่งขึ้น และมีทักษะที่ช่วยเขาเผชิญกับโลกยุคใหม่ได้ดีขึ้น   "อนาคตใหม่" ... ไทย 2 เท่า เป็นนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ ที่เสนอให้ปลดล็อกการผูกขาดที่ดำรงอยู่ในประเทศไทยในทุกอุตสาหกรรม เช่น ยกเลิกการผูกขาดภาคธนาคาร นอกจากนี้ยังเสนอเรื่องการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสู่การจัดการตัวเอง และสร้างอุตสาหกรรมในไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย ภายใต้ 4 เงื่อนไข ได้แก่ 1) ต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ยังไม่มีฐานการผลิตในเมืองไทย 2) สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ 3) เป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ และ 4) เป็นอุตสาหกรรมที่มีความต้องการในประเทศ พิจารณาจากนโยบายเศรษฐกิจของแต่ละพรรค ก็คงต้องยอมรับว่า “จัดหนัก...จัดเต็ม” แต่สิ่งที่ประชาชนจำเป็นต้องให้ความสำคัญเมื่อได้รับรู้นโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ คงหนีไม่พ้นต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการนำมาปฏิบัติจริง แนวทางในการหาเงินเพื่อมาใช้จ่ายสำหรับนโยบายต่าง ๆ หรือแม้แต่บุคลากรของพรรคว่ามีความรู้ความสามารถเหมาะสมหรือไม่? ขณะเดียวกัน “พรรคการเมือง” ต้องมุ่งนำเสนอนโยบายที่ทำได้จริง เพราะหากนำเสนอนโยบาย แต่ทำไม่ได้ ก็จะส่งผลทำให้ประชาชนรู้สึกว่าถูกหลอกลวง ตลอดจนมองว่านักการเมืองและพรรคการเมืองไม่น่าเชื่อถือ เกิดความเบื่อหน่ายการเมือง จนอาจลุกลามทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยก็เป็นได้... เอาเป็นว่า เลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ขอนโยบายสวยหรูอะไรมาก...แต่ขอ “นโยบายที่ทำได้จริง” ไม่ใช่ “นโยบายขายฝัน” ที่ทำให้ประชาชนต้องฝันค้างเหมือนอย่างผ่านผ่านมา... พูดแบบนี้ ก็น่าจะรู้แล้วใช่ไหม? ว่า นโยบายอะไร? “โดนใจ” ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ณ วันนี้..!?