ในห้วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสข่าวเรื่องรัฐประหารซ้อนเกิดขึ้น ข่าวดังกล่าวปรากฎออกมาอย่างไม่สมเหตุสมผลนัก ด้วยภาพรวมแล้วฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. ยังควบคุมสถานการณ์ได้ และไม่มีมูลเหตุจูงใจใดที่จะเป็นเงื่อนไข
แม้จะมีเหตุการณ์วันที่ 8กุมภาพันธ์เกิดขึ้น หากแต่ก็ตัดไฟแต่ต้นลมแล้วภายในวันเดียว
แต่สำหรับประเทศไทยที่ผ่านการรัฐประหารมาแล้ว 13 ครั้งนั้น ต้องยอมรับว่า เมื่อมีข่าวเกี่ยวกับการรัฐประหารแพร่กระจายออกไป ย่อมสร้างความหวั่นไหวเป็นอย่างยิ่ง ด้วยการทำรัฐประหารนั้นไม่มีการแจ้งล่วงหน้า กระทั่งผู้นำทำรัฐประหารเอง เมื่อถูกถามถึงเรื่องนี้ก็มักจะปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง แต่สุดท้ายก็ทำ
แม้จะเป็นเพียงแค่ “ควัน” ที่ไร้ไฟ แต่สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้คนในสังคมเป็นอย่างมาก
เมื่อพิจารณาดูข่าวรัฐประหารซ้อนที่เผยแพร่ในโลกโซเชียล ถูกวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีไทม์ไลน์ของข่าวที่ปล่อยออกมา
ทั้งการเผยแพร่คลิปการเคลื่อนย้ายรถถัง การเผยแพร่คำสั่งเตรียมความพร้อมรับมือฝูงชนที่จ.พิจิตร กระทั่งราชกิจจานุเบกษาปลดผู้บัญชาการเหล่าทัพ
โดยเฉพาะการเคลื่อนรถถังของพล.ร.2 รอ. ก็ได้ติดป้ายไว้ชัดเจนว่าเป็นการฝึกหน่วยทหารรักษาพระองค์ ที่จ.ลพบุรี
ส่วนคำสั่งด่วนให้มีการเตรียมความพร้อมกำลังข้าราชการตำรวจและกองร้อยควบคุมฝูงชนให้อยู่ในความพร้อมนั้น เป็นคำสั่งของ ผบก.ภ.จว.พิจิตรเพื่อเตรียมความพร้อมในช่วงเลือกตั้งตามปกติ
ที่สำคัญคือ การปลอมแปลงและเผยแพร่เอกสารราชกิจจานุเบกษาปลดผู้บัญชาการเหล่าทัพ ที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีต้องไปแจ้งความดำเนินคดี
โดยเฉพาะประเทศไทย กำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตย โดยการเลือกตั้งที่จะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคมนี้
ข่าวลือดังกล่าวจึงเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มบุคคลไม่ทราบฝ่าย ที่ต้องการช่วงชิงชัยชนะในการจัดระเบียบใหม่ ดังนั้นประชาชนผู้เสพข้อมูลข่าวสารในโลโซเชียล จักต้องมีสติไตร่ตรองในการรับและส่งต่อขข้อมูลข่าวสาร และมีความเข้มแข็งต่อสถานการณ์ เพราะนี่เพียงแต่ยกแรกของการเลือกตั้งเท่านั้น ก่อนจะถึงวันเลือกตั้งยังจะมีสงครามข่าวและการโฆษณาชวนชื่อ อันเป็นบททดสอบที่เข้ามาท้าทายอีกมาก