คอลัมน์ ทางเสือผ่าน แสงไทย เค้าภูไทย ประเมินราคาค่าหัวคนไทยยุคเลือกตั้ง 62 ออกมาแล้ว 1 พันบาท ทำให้เงินสะพัดในช่วงเลือกตั้งเพิ่มจาก 80,000 ล้านบาทเป็น 1 แสนล้านบาท โดยก่อนหน้านี้ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลงานวิจัย “โพลหอการค้าไทย” ด้านค่าใช้จ่ายในการรณรงค์เลือกตั้ง 24 มี.ค.62 (ตอนนั้นกำหนด 24 ก.พ.62) ว่า ค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองและหัวคะแนนในการรณรงค์เลือกตั้งครั้งนี้โดยรวมจะมีหมุนเวียนประมาณ 80,000 ล้านบาท แยกเป็นการใช้จ่ายของว่าที่ ส.ส. 40,000 ล้านบาทและการเลือกตั้งท้องถิ่น 40,000 ล้านบาท ผลของเงินสะพัดเลือกตั้ง ทำให้ปีนี้อัตราเติบโตของเศรษฐกิจไทยเพิ่มจากปีก่อน 0.5% แต่ล่าสุด บรรยากาศที่การขับเคี่ยวเข้มข้น และมีผู้สมัครลงเลือกตั้งจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ ทำให้คาดการณ์ด้านค่าใช้จ่ายเปลี่ยนแปลง เพราะแต่เดิม ใช้ตัวเลขผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้ที่จำนวนเฉลี่ยของการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ จำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นตัวแปรสำคัญที่สุดในการคำนวณค่าใช้จ่ายในการแคมเปญหาเสียง ตัวเลขว่าที่ส.ส.ล่าสุด 13,846 คน (9 ก.พ.62) จะต้องใช้จ่ายคนละเท่าไร ? นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ อดีตเลขาธิการหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วิเคราะห์ว่าหลังจากนี้ไปบรรยากาศทางการเมืองไทยจะดุเดือดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการใช้เงินในการซื้อเสียงจะเข้มข้นที่สุด ก่อนหน้านี้ นักวิชาการคำนวณว่า ค่าหัวซื้อเสียงเลือกตั้งครั้งนี้จะตกราว 500 บาท แต่ตอนนี้ คาดว่าจะตกหัวละ 1,000 บาท เหตุผลก็คือค่าครองชีพสูงขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น นายทวิสันต์กล่าวว่า จากการสอบถามพรรคการเมืองเล็กๆพบว่า ใช้จ่ายในการหาเสียงถึงวันละกว่า 10,000 บาท เฉพาะรถแห่ วัน/คันละ 3,000-4,000 บาท “ยังค่าหัวคนที่มาช่วยเดินหาเสียงให้อีก หัวละ 350 บาทต่อวัน แถมอาหารฟรีด้วย” สรุปโดยค่าใช้จ่ายทุกด้านในการเลือกตั้งทั้งประเทศรวมกัน จะตก 100,000 ล้านบาท ธุรกิจอะไรบ้างที่จะเข้ามาดูดซับรับค่าใช้จ่ายจำนวนนี้จากพรรคและนักการเมืองที่ลงสนามเลือกตั้งครั้งนี้ ? ธุรกิจ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการหาเสียงที่จะได้รับอานิสงส์จากเงินที่เป็นค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้แก่ ธุรกิจโฆษณา ตั้งแต่รับทำป้ายผ้า ป้ายแผ่น คัตเเอาท์ ใบปลิว รถแห่ ไปจนการแพร่ภาพ/เสียงผ่านสื่อทุกรูปแบบ คนรับจ้างเดินแห่และแจกใบปลิวฯลฯ จนถึงวันลงคะแนนเสียง พวกมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ปิกอัพสองแถว ที่พาคนนั่งฟรีไปลงคะแนนจะได้ค่าจ้างทั้งแบบเหมาและเป็นรายหัว โดยช่วงใกล้ปิดหีบ ยังมีคนนอนหลับทับสิทธิ์หรือพวก “เดี๋ยวก่อน” นั่ง/นอนเล่นโทรมือถือ จะโดนพวกนี้ไปตามถึงบ้าน พวกมอเตอร์ไซค์รับจ้างเหล่านี้จะตระเวณไปเรียกและเชิญมาโดยให้ซ้อนท้ายไป-กลับฟรี ทำไมถึงรู้ว่าใครไปหรือยังไม่ไปลงคะแนน และที่สำคัญ “ลงให้ใคร” ? คำตอบคือ พวกว่าที่ส.ส.หรือหัวคะแนน จะรู้ได้จากรายชื่อผู้มีสิทธิมาลงคะแนนเสียงจากแผ่นประกาศที่ปิดไว้ตามหน่วยเลือกตั้ง เพื่อให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้ตรวจรายชื่อว่าตนมีสิทธิ์ลงคะะแนนเสียงที่คูหาไหน หรือบางรายอาจะตกหล่น ไม่มีชื่อ ก็ต้องแจ้งและแก้ไข รายชื่อตามทะเบียนบ้านเหล่านี้ สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งหัวคะแนนจะเช็คอยู่ตลอดเวลา ทำให้รู้ว่า ใครมาไม่มา บ้านไหนมาครบหรือยังขาดอยู่ งานช่วงก่อนปิดหีบนี้ หัวคะแนนจะคอยยืนนับ กำกับ และให้ค่าจ้างเป็นรายหัว โดยเฉลี่ยแล้วบางท้องที่ แข่งกันดุเดือด ถึงตกหัวละพัน สมัยเลือกตั้งที่แล้ว ช่วงบ่ายสามโมง ค่าหัวให้กันตั้งแต่ 500 ถึง 1,500 บาท มีคนถามถึงรายที่จ่ายถึงหัวละพันห้าว่า ทำไมไม่ยักเอาไว้บ้าง ? หัวคะแนนตอบว่า จ่ายจริง เบิกจริง เพราะเขาก็ต้องการชนะเช่นเดียวกับว่าที่ส.ส. ชนะขึ้นมา มีการตบรางวัลกันเต็มที่อยู่แล้ว เงินสะพัดมากอย่างนี้ กระตุ้นเศรษฐกิจโตได้ดีอย่างนี้น่าจะมีเลือกตั้งกันบ่อยๆ มีกันปีเว้นปีหรือมี Midterm Election เลือกตั้งกลางสมัยแบบสหรัฐกันดีไหม ?