เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
การเมืองไทยมีหลายมิติ มองได้หลายแง่หลายมุม ชั่วข้ามคืนก็พลิกได้ อย่างไรก็ขอมองเพียงจากแง่มุมของ “ชาวบ้าน” ว่าได้เห็นสิ่งที่เป็นอยู่และจะเป็นไป ความในใจ ความฝันที่อยากให้เป็นจริง
สิบกว่าปีของความขัดแย้งทางการเมือง ห้าปีของการอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร ที่ชาวบ้านอดทนได้เพราะเบื่อหน่ายกับความข้ดแย้งที่นำมาซึ่งความรุนแรง การรบราฆ่าฟันนองเลือด แม้ว่าจะอดอยากมากกว่าเดิมเพราะปัญหาเศรษฐกิจเหมือนไม่ได้รับการแก้ไข ผู้คนส่วนใหญ่จนลง คนส่วนน้อยรวยขึ้น ความขัดแย้งแบ่งขั้วใน 5 ปีนี้ก็ไม่ได้ลดลง เพียงแต่ถูกกดเอาไว้ และอาจระเบิดออกมาอีก
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าชาวบ้านจำนวนมากจะดีใจ เหมือนได้ปลดปล่อยจากความกดดัน ฝันว่าจะก้าวข้ามความขัดแย้งแบ่งขั้วแบ่งสีกันเสียที ด้วยบารมีของผู้ที่อาจจะมาเป็นผู้นำแบบ “นารีขี่ม้าขาว” ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
แต่เมื่อจะไม่เป็นไปตามนั้น รัฐบาลต่อไปต้องสรุปบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ประชาชนมีความใฝฝันอะไร อยากเห็นอะไร ทำอย่างไรจะก้าวข้ามขั้วและความขัดแย้งต่างๆ ไปได้ รัฐบาลจะมีนโยบายให้เกิดความปรองดองได้อย่างไร จะทำให้เกิดสันติภาพบนแผ่นดินไทยนี้ได้อย่างไร
ถ้ารัฐบาลเข้าใจเครื่องหมายแห่งกาลเวลา และความปรารถนาอันสูงสุดของคนไทย จะรู้ว่า สิ่งที่ดีที่สุดนั้นมีอยู่แล้ว แต่รัฐบาลหลับหูหับตาไม่เอามาใช้ จนมีคนไปทำสิ่งที่ขัดต่อโบราณราชประเพณีและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเพื่อให้ความใฝ่ฝันนั้นเป็นจริง
เพียงรัฐบาลเข้าใจ “จิตวิญญาณ” (spirit) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และนำมาสืบสานให้เป็นจริงเท่านั้น ความปรองดอง ความเป็นพี่เป็นน้องกันก็จะเกิด การพัฒนาประเทศ “ที่ใช่” ก็จะเกิดขึ้น อาจไม่มั่งคั่งยั่งยืนอย่างคำโฆษณา แต่จะพอเพียงและมั่นคง คนจนจะลดลง คนจะมีความสุขมากขึ้น
ความปรองดองจะไม่เกิดถ้าหากยังมีความเหลื่อมล้ำรุนแรง คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ใช่ทำเพียงจัดโครงการสวัสดิการประชานิยมต่างๆ แต่ด้วยการปรับปรัชญาการพัฒนาประเทศ ปรับระบบโครงสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากฐานราก
เพราะการพร่ำบอกแต่คำว่าเศรษฐกิจฐานราก และรากหญ้าทุกวัน มีโครงการประชานิยมร้อยแปด ก็เหมือนให้ยาแก้ปวดบรรเทาอาการเท่านั้น ไม่ได้แก้ปัญหาใหญ่ปัญหาจริงที่ต้องการการผ่าตัด
นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ผ่านๆ มาไม่เคยเอา “เศรษฐกิจพอเพียง” มานำทางอย่างที่ประกาศเลย ขอให้นำพระราชดำรัสนี้มาพิจารณาให้ถี่ถ้วนอีกทีเถิด
“การพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพอสมควรและปฏิบัติได้แล้วจึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจชั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป”
“หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการที่สัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวไปในที่สุด” (18 ก.ค. 2517)
ศาสตราจารย์โรเบิร์ต มันเดล รางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ พูดที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2550 ว่า
“เศรษฐกิจพอเพียงจำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก และยังไม่เข้มแข็งพอ เมื่อพิจารณาการใช้จ่ายรวมของประเทศ ประกอบด้วยการบริโภค ภาคเอกชน การลงทุนของธุรกิจ การใช้จ่ายภาครัฐบาล การนำเข้าและการส่งออกแล้วสามารถนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้ โดยเริ่มจาก การสร้างความเข้มแข็งของภาคครัวเรือนที่เป็นหน่วยย่อยที่สุดของระบบเศรษฐกิจ”
“หากการบริโภคภาคครัวเรือน คือ บริโภคอย่างพออยู่พอกิน อย่างมีเหตุมีผลตามอัตภาพของแต่ละครัวเรือน จะทำให้ครัวเรือนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันด้านเศรษฐกิจครอบครัว คือสร้างการออมภาคครัวเรือนให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นฐานรากที่สำคัญของระบบ”
ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ บรรยายเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ที่สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนว่า รัฐบาลพร่ำพูดถึง GDP การลงทุน การส่งออก โดยไม่บอกให้ชัดว่า GDP ที่มีสัดส่วนสูงสุดถึง 48% มาจากการบริโภค การใช้จ่ายในครัวเรือน ส่วนการลงทุน 22% การส่งออกหรือดุลการค้า 14% การใช้จ่ายภาครัฐบาล 16% รัฐบาลพร่ำพูดถึงแต่ภาครัฐและภาคเอกชน ลืมภาคประชาชนซึ่งเป็นส่วนใหญ่ไป
รัฐบาลไม่ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ไม่ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นฐานรากที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทยที่จะมั่นคง มีภูมิคุ้มกันซึ่งแปลว่าพึ่งพาตนเองได้จริง เพราะไม่สนใจ ได้แต่ปกป้องผลประโยชน์ของทุนใหญ่ที่ครอบงำเศรษฐกิจไทย ปล่อยปลาใหญ่กินปลาเล็กจนแทบไม่เหลือแล้ว
ทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และนักเศรษฐศาสตร์ 2 ท่านบอกเรื่องเดียวกัน คือทำอย่างไรให้การบริโภคในครัวเรือนมีความมั่นคง ประเทศที่คิดเป็นอย่างจีน เขาเจาะเข้าไปในครัวเรือน เพื่อเป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างจริงจัง ไม่ใช่ดีไซน์ในห้องแอร์ ตัดเสื้อไซซ์เดียวใส่กันทั่งประเทศอย่างบ้านเรา
เสียงของผู้คนในประเทศเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ดังมาก คนไทยอยากได้ “รัฐบาลในฝันที่พอเพียง” จะได้อยู่เย็นเป็นสุข เพราะ “การเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้...”
พระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2540 ปีฟองสบู่แตก คำเตือนของพระองค์ในปี 2517 ที่เป็นจริง