หากจะบอกว่าความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้น หลังจากวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นแค่ "ควันหลง" นั้นคงไม่ใช่ แต่ในทางกลับกัน นี่คือ "จุดเริ่มต้น" ของความวุ่นวาย ความปั่นป่วนที่กำลังผุดขึ้นมาก่อนถึงวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม โดยที่หลายฝ่ายแทบไม่คาดคิด และยังไม่สามารถประเมินได้ว่าสถานการณ์ต่างๆอันสืบเนื่องมาจากวันที่ 8 ก.พ.นั้นจะหนักหนาสาหัส อีกแค่ไหน !?
11 ก.พ. วันแรกของสัปดาห์ที่หลายคนต่างลุ้นระทุกเฝ้ารอความชัดเจนจากที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการพิจารณา "ชะตากรรม" ของ "พรรคไทยรักษาชาติ" ที่ได้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคถือเป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง อันจะขัดต่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หรือไม่
ขณะที่ความชัดเจนจากที่ประชุมกกต.ยังไม่ปรากฎ กลับมีเรื่องที่ทำให้ทั้ง "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) , "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไปจนถึง "ผู้บัญชาการเหล่าทัพ"มีอันต้องปวดหัว จนเหมือนกลายเป็นฝ่าย "ตั้งรับ" เมื่อมีการผุดข่าว "รัฐประหาร" สะพัด ลือกันไปไกลว่า ผบ.เหล่าทัพไม่อยู่ในเมืองไทย โดยมีที่มาจาก การแพร่ประกาศราชกิจจานุเบกษา คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ฉบับที่2/2562 เรื่องให้ข้าราชการพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นเอกสารปลอม
ล่าสุดนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการข่าว ติดตามตรวจสอบข่าวลือในสื่อโซเชียลว่ามี "ต้นตอ" มาจากไหนไหน รวมทั้งได้มอบหมายให้หน่วยงานที่ได้รับผลกระทบต่างๆ ทั้งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ที่กำกับดูแลหน่วยงานเกี่ยวข้องกับราชกิจจานุเบกษา กองทัพ และคสช.แจ้งความดำเนินคดี
ในวันเดียวกันที่กกต.กลายเป็น จุดรวมความวุ่นวายเมื่อ "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ เข้ายื่นหนังสือถึงกกต.ขอให้ตรวจสอบการเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ
เมื่อโฟกัสกลับมาที่พรรคไทยรักษาชาติ ที่กำลังถูกร้องให้ถูกยุบพรรค อีกทั้งยังกลายเป็นว่าตลอดหลายวันที่ผ่านมา "ปรีชาพล พงษ์พานิช" หัวหน้าพรรค ในฐานะกรรมการบริหารพรรค ยังถูกตามตัวมากที่สุดว่า วันนี้เขาเองยังอยู่ในเมืองไทยหรือไม่ เพราะนับตั้งแต่วันที่มีพระราชโองการกลางดึกวันที่8 ก.พ.ที่ผ่านมา ยังไม่มีใครติดต่อปรีชาพล และแกนนำของพรรคบางส่วนได้ ท่ามกลางกระแสข่าวที่หนาหูว่าปรีชาและพวกถูกเจ้าหน้าที่รวบตัวไปเรียบร้อยแล้ว เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่เรื่องเล็ก !
แน่นอนว่าการเผชิญกับแรงเสียดทานจากกระแสสังคมสำหรับพรรคไทยรักษาชาติเวลานี้ ในประเด็น "ดึงฟ้าต่ำ ทำหินแตก"ย่อมมีความเปราะบาง ต่อความรู้สึกของผู้คนอย่างมาก เพราะไม่ว่ากกต.จะมีคำวินิจฉัยหรือการพิจารณาออกมาในแง่มุมที่เป็นบวกหรือลบต่อพรรคหรือไม่ก็ตาม แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคได้กลายเป็นเรื่องที่จะส่งผลต่อความอ่อนไหวของสังคมทันที
ด้วยความวุ่นวาย และประเด็นที่มีความเปราะบาง สร้างความอ่อนไหวในสังคม ไปจนถึงการใช้ "สงครามข่าวลือ" เปิดประเด็น "รัฐประหารซ้ำ" ในจังหวะที่สนามเลือกตั้งยังไม่ทันเปิด ล้วนแล้วแต่จะส่งผลในทางที่เป็นลบต่อบรรยากาศทางการเมือง อย่างหนักหน่วง และกระเทือนด้วยกันทุกฝ่าย ไม่ว่า "คนที่ต่างประเทศ" หรือคนที่อยู่ในเมืองไทย !