ทวี สุรฤทธิกุล
น้ำคำ “นักเลือกตั้ง” นั้นเชื่อยาก
ถ้าสังเกตจะเห็นว่าผู้เขียนใช้คำ “นักเลือกตั้ง” แทนคำว่า “นักการเมือง” หรือ “ผู้สมัครรับเลือกตั้ง” ก็เนื่องจากคนที่ลงสมัครรับเลือกตั้งส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่ได้มีความเป็นนักการเมืองอย่างแท้จริง ไม่ได้ตั้งใจหรือคิดที่จะทำงานการเมืองอย่างจริงจัง เพียงแต่เห็นว่าการเลือกตั้งเป็นแค่ “ประตูสู่ผลประโยชน์” เมื่อมีการเลือกตั้งก็ “แห่” กันลงมาสมัคร ตั้งพรรคกันมากมาย พอเริ่มหาเสียงก็มุ่งแต่เอาชนะเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ไม่มีศีลธรรมจรรยา ครั้นได้เข้าสภาก็จ้องแต่จะหาตำแหน่งกอบโกยเอาผลประโยชน์ เป็นที่อิดหนาระอาใจ
บัดนี้นักเลือกตั้งกว่า 70 พรรค จำนวนเกือบหมื่นคน (ตัวเลขของ กกต.เมื่อ 7 ก.พ. 62 ก่อนปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง 1 วัน) ก็ได้ “แห่” พากันมาสมัครรับเลือกตั้งกันดังที่เห็น ส่วนใหญ่ก็พยายามเปิดตัวให้น่าสนใจ ตั้งแต่ทำอะไรให้ดูแปลกๆ ตลกขบขัน จนถึงขั้น “รับไม่ได้” เพื่อให้โลกสมัยใหม่ที่แคบลงด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบต่างๆ ได้เผยแพร่และรับรู้ แม้ว่าจะเต็มไปด้วย “ความน่าเบื่อ” แต่ในบางเรื่องก็ดูน่าสนใจ เช่น วาทกรรมในการหาเสียง ที่บางพรรคบางคนเสนอว่า “เลือกเผด็จการหรือประชาธิปไตย”
การใช้วาทกรรม “เลือกเผด็จการหรือประชาธิปไตย” ถ้าหากจะมองในแง่รัฐศาสตร์ออกจะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นการนำเสนอในแง่ “อุดมการณ์ทางการเมือง” ซึ่งโดยทั่วไปมักจะใช้ในคราวที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เช่น ในการสร้างชาติ การเปลี่ยนแปลงระบอบ หรือการต่อสู้ระหว่างลัทธิการเมือง ดังที่ประเทศไทยได้เคยเกิดขึ้น 3 – 4 ครั้ง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 การต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ในช่วง 2508 – 2525 การขับไล่เผด็จการในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 และการโค่นล้มระบอบทุนสามานย์ ใน พ.ศ. 2549 จึงเป็นที่น่าสนใจว่านักเลือกตั้งใน พ.ศ. นี้มี “จุดมุ่ง” อะไรกันหรือ
ก่อนอื่นต้องวิเคราะห์จาก “มุมมอง” ของเจ้าของวาทกรรมดังกล่าว ซึ่งเราพอจะทราบว่าเป็น “กลุ่มต่อต้านทหาร” และส่วนใหญ่เป็นพวกที่เสียผลประโยชน์จากการรัฐประหาร ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 จนมาถึง พ.ศ. 2557 ที่เรียกว่า “คนในระบอบทักษิณ” ซึ่งแต่เดิมประกอบไปด้วยกลุ่มคนเสื้อแดงและลิ่วล้อบริวารของอดีตนายกฯหนีคดี แต่ในระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา คนกลุ่มนี้ได้แผ่ขยายความคิดในการต่อต้านทหารไปในหมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จพอควร ด้วยสื่อสังคมเฉพาะกลุ่ม และกิจกรรมทางสังคมผ่านสื่อสังคมเหล่านั้น บ่มเพาะความเชื่อความคิดให้เกลียดชังทหารมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะจากการที่ผู้เขียนมีอาชีพเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย จึงได้มีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั้งกับอาจารย์ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และนักศึกษา พบว่าแนวคิดดังกล่าวได้แผ่ขยายและฝังลึกมากขึ้นอย่างสังเกตและรับรู้ได้
แนวคิดต่อต้านทหารในหมู่เยาวชน เริ่มต้นด้วย “การขายความคิด” ว่า “ทหารเป็นผู้ผูกขาดอำนาจทางการเมืองและครอบงำการปกครองประเทศ” (ที่หมายถึงการครอบงำสถาบันทางการเมืองการปกครองหลายๆ สถาบัน) โดยที่มีลักษณะคล้ายๆ “การขายความคิด” ในสมัยก่อนที่จะเกิด 14 ตุลาคม 2516 คือเกิดจากกลุ่มนักศึกษาและปัญญาชนเป็นหลัก เพียงแต่ใช้วิธีการสื่อสารที่แตกต่างกัน เพราะในสมัยก่อนที่จะเกิด 14 ตุลาคม 2516 จะผ่านกระบวนการจัดสถานที่ประชุมพูดคุยในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างค่อนข้างเปิดเผย แต่ในยุคนี้ใช้ “วิธีการแบบปิด” เป็นส่วนใหญ่ เช่น การประชุมกันแบบลับผ่านโซเชียลมีเดีย และการเผยแพร่หรือมีกิจกรรมเคลื่อนไหวกันในกลุ่มเฉพาะผ่านโซเชียลมีเดียอีกเช่นกัน เป็นต้น
ที่ผู้เขียนเป็นห่วงมากก็คือ แนวคิดนี้ไม่ได้ทำกันอยู่แต่ในหมู่ “คนรักทักษิณ” ที่ต้องการโค่นล้มทหารเพื่อกลับคืนสู่อำนาจอย่างที่ทำกันอยู่ในระยะแรก แต่ด้วย “การกระทำซ้ำๆ” ที่เป็นอาวุธอันสำคัญของการสร้างวาทกรรมต่างๆ ทำให้แนวคิดนี้ได้ “แตกแขนง” เป็นแนวคิดในการต่อต้านเผด็จการ โดยมีทหารเป็นเป้าในความรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจเผด็จการดังกล่าว ถึงขั้นที่เชื่อมโยงไปว่าทหารเป็นผู้ทำลายประชาธิปไตย หรือต่อต้านการพัฒนาการเมืองการปกครองของไทย ดังที่ได้เห็นว่าทหารเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ และควบคุมนักการเมือง(ตลอดจนครอบงำสถาบันต่างๆ) โดยที่ใช้การเลือกตั้งเป็น “ละคร” ในการสร้างฐานอำนาจจากประชาชนโดยผ่านนักเลือกตั้งทั้งหลาย แต่ความจริงนั้นก็จะต้องปกครองในแบบเผด็จการต่อไป
สิ่งที่ผู้เขียนวิเคราะห์มานี้ อาจจะเป็นแค่การ “ตีตนไปก่อนไข้” คือเดือดร้อนวุ่นวายล่วงหน้าไปก่อนก็อาจจะเป็นได้ ซึ่งก็ต้องพิสูจน์กันด้วยปรากฏการณ์ใน 2 ส่วน คือ การไปใช้สิทธิของกลุ่มเยาวชนว่าจะมีเปอร์เซ็นต์มากน้อยเพียงไร ส่วนหนึ่ง กับอีกส่วนหนึ่งก็คือ ผลการเลือกตั้งที่จะออกมาว่าเลือกพรรคที่สนับสนุนทหารหรือพรรคที่ไม่เอาทหารพรรคใดมากกว่ากัน ซึ่งถ้าเยาวชนออกมาเลือกตั้งมากและผลออกมาว่าพรรคที่ไม่เอาทหารชนะ ก็อาจจะเป็นการบอกว่า ขณะนี้ทหารกำลัง “ไข้ขึ้น” ซึ่งถ้าไม่รีบทำการรักษาแก้ไขใดๆ ก็อาจจะนำไปสู่อาการ “โคม่า” และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ
เราไม่อาจมั่นใจได้ว่า พลังของนิสิตนักศึกษา ปัญญาชน และเยาวชน ในยุคนี้ อาจจะไม่มีพลังที่แข็งแกร่งหรือแสดงออกมาอย่างเปิดเผยเหมือนในคราว 14 ตุลาคม 2516 แต่ด้วยการ “เผาผลาญอารมณ์” ให้ผู้คนร้อนระอุร่วมต่อต้านเผด็จการไปเป็นระยะ กลุ่มเยาวชนในวันนี้ที่จะเติบโตเป็น “ชนชั้นกลาง” ในวันหน้า ก็อาจจะรวมกันเป็นกลุ่มก้อนขนาดมหึมาในโซเชียลมีเดีย แล้ว “ระเบิดความรู้สึก” ออกมาในวันใดวันหนึ่งก็ได้ เหมือนกับเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม 2535 ที่เป็นผลมาจากคนเดือนตุลาคมที่เติบโตขึ้นในเวลาต่อมา
หลัง 14 ตุลา 16 “ม็อบมือถือ” ใช้เวลาเกือบยี่สิบปีเพื่อจะเกิดพฤษภาคม 35 แต่ว่าด้วย “ม็อบดิจิตอล” ในทุกวันนี้อาจจะใช้เวลาไม่กี่เดือน !