รศ. ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
การแข่งขันทางการเมือง : กรณีเลือกตั้ง 2562 ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมทางการเมืองที่ได้รับความสนใจจากสังคมอย่างกว้างขวาง ซึ่งคงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการต่อสู้ทางการเมืองที่มีการใช้กลยุทธ์ที่หลากหลายทั้ง “กลยุทธ์ถ้อยทีถ้อยอาศัย” หรือแม้แต่ “กลยุทธ์ช้างชนช้าง”
คำว่า “การแข่งขันถ้อยทีถ้อยอาศัย” โดยทั่วไปหมายถึงการที่ต่างฝ่ายต่างพึ่งพาอาศัยกัน ช่วยเหลือกัน เป็นการแข่งขันที่ไม่มุ่งฟาดฟัน เอาชนะคะคานกันเท่านั้น แต่มุ่งให้ความสำคัญกับการได้รับประโยชน์ร่วมกัน
“กลยุทธ์ถ้อยทีถ้อยอาศัย” ซึ่งมีการนำมาประยุกต์ใช้ในการเลือกตั้ง 2562 โดยสะท้อนให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมจากการแข่งขันกันระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกัน ถือเป็นสิ่งที่ทำให้คนในสังคมรู้สึกงงงวยไม่น้อย
แต่เมื่อพิจารณาจากเป้าหมายของพรรคเพื่อไทย ที่มุ่งเน้นการช่วงชิง ส.ส. ระบบเขต ขณะที่พรรคไทยรักษาชาติ ก็มีเป้าหมายที่จะช่วงชิงคะแนนเสียงจาก ส.ส. ระบบปาร์ตี้ ลิสต์ ก็พอจะเข้าใจได้ว่าเป็น “กลยุทธ์” เพื่อแก้เกมการเมืองนั่นเอง
ขณะที่ “กลยุทธ์ช้างชนช้าง” โดยทั่วไปหมายถึงการต่อสู้กันระหว่างบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือผู้สมัครตระกูลใหญ่ที่ลงช่วงชิงพื้นที่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน ถือเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองที่มีให้เห็นในสมรภูมิการเลือกตั้งมาอย่างยาวนาน ภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ก็คือ การต่อสู้ระหว่างตระกูลศิลปอาชา และตระกูลเที่ยงธรรม ซึ่งเป็นอดีตแกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ลงสมัครส.ส.เขต 3 จ.สุพรรณบุรี ในนามพรรคภูมิใจไทย (ภท.)
อย่างไรก็ตามความเปลี่ยนเปลงของบริบททางการเมือง อาจทำให้ ณ วันนี้ การต่อสู้ทางการเมืองมีรูปแบบหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ “การเมืองยุคการตลาดการเมือง” ซึ่งผู้สมัครเลือกตั้ง มักจะประยุกต์ใช้ สื่อโซเชียลมีเดีย (Social Media) หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) เช่น Facebook Twitter Instagram เป็นช่องทางในการโปรโมตด้วยตนเอง
การที่พรรคการเมืองต่างสื่อสาร “เน้นจุดแข็งปิดจุดอ่อน” (Play to your strengths and minimize your weakness) ของคู่แข่ง เช่น เพื่อไทยชูจุดแข็งด้านเศรษฐกิจ กรณีพรรคต่างๆ โจมตีพรรคพลังประชารัฐ เรื่องการสืบต่ออำนาจของ คสช.
การใช้หลักการตลาดมาประยุกต์ใช้ในการแบ่งจำนวนประชากร และนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่จะทำให้ได้ฐานคะแนนนิยม โดยจำนวนผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งในปี 2562 มี 52.38 ล้านคนโดยประมาณ ซึ่งเมื่อจำแนกเป็นอาชีพ พบว่า ภาคเกษตรถึง 13.36 ล้านคน ภาคขายส่ง 6.34 ล้านคน ภาคการผลิต 5.87 ล้านคน ภาคที่พักแรม 2.68 ล้านคน ภาคก่อสร้าง 2.11 ล้านคน และภาคอื่นๆ เช่น บริหารราชการ การขนส่ง การศึกษา และสุขภาพเป็นต้น รวมๆกันประมาณ 5.4 ล้านคน ขณะที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 12.92 ล้านคนที่ไม่อยู่ในช่วงกำลังแรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่กำลังเรียน และกลุ่มผู้สูงอายุ
แล้วหากจำแนกตามวัยจะพบว่า อายุ 18 – 26 ปี จำนวน 8,335,242 คน อายุ 27-35 ปี 8,383, 933 คน อายุ 36-50 ปี จำนวน 15,590,716 คน อายุ 51-65 ปี จำนวน 12,459,866 คนและอายุ 66 ปีขึ้นไป 6,956,569 คน
จากตัวแปรด้านอาชีพและอายุ ทำให้เกิดการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง ส่วนใหญ่นั้น จะมุ่งสร้างคะแนนนิยมในกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้แรงงาน และผู้สูงอายุ ซึ่งมีประชากรจำนวนมาก การสร้างภาพลักษณ์และบุคลิกภาพที่แตกต่างให้แก่หัวหน้าพรรคคือ การสร้างความนิยมต่อตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง ให้มีความเป็น “พระเอก” หรือ “นางเอก” แต่ความเป็นพระเอกหรือนางเอกในสังคมไทยนั้น มีความหลากหลายอยู่พอสมควรในยุคปัจจุบัน อาทิ บุคลิกแบบวีรบุรุษ หรือวีรสตรีที่เข้ามาช่วยเหลือประชาชนให้หลุดพ้นปัญหาและความทุกข์ยาก บุคลิกแบบแนวนักเลง กล้าสู้ กล้าชนผู้มีอำนาจรัฐ บุคลิกแบบการเป็นคนหนุ่ม ความคิดดี การศึกษาดี บุคลิกที่ถูกผู้มีอำนาจรังแกเอาเปรียบ หรือเป็นนางเอกเจ้าน้ำตา เพื่อเรียกคะแนนสงสาร หรือแม้แต่บุคลิกของผู้เสียสละที่ยอมกลืนน้ำลาย เพื่อชาติ
นี่คือ กลยุทธ์ทางการเมืองเพียงบางส่วน โดยจากการแข่งขันทางการเมืองซึ่งมีความรุนแรงนั้นเชื่อว่าสังคมไทย น่าจะมีโอกาสได้เห็นกลยุทธ์ทางการเมืองที่หลากหลายในการเลือกตั้ง ปี2562 ซึ่งไม่ว่าจะใช้กลยุทธ์ใด สิ่งที่พรรคการเมือง จำเป็นต้องให้ความสำคัญ คงหนีไม่พ้นการปฏิบัติตามความต้องการประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. หรือแม้แต่การเป็นพรรคการเมืองในแบบที่ประชาชนต้องการ
แล้วจะคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. แบบไหน? ให้โดนใจประชาชน และต้องเป็นพรรคการเมือง แบบไหน? ประชาชนจึงจะตัดสินใจเลือก ก็อยากให้ “เงี่ยหูฟัง” ผลการสำรวจความคิดเห็นของ “สวนดุสิตโพล” ที่เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้...
รับรอง!! ว่าได้ข้อมูลที่น่าจะทำให้สามารถเอาชนะใจประชาชนไม่น้อยทีเดียว..!!