แสงไทย เค้าภูไทย
ยุทธศาสตร์ชาติจะทำให้ไทยรุ่งเรืองแค่ไหน คนในรัฐบาลวันนี้มีสักกี่คนจะได้อยู่ดูผลงานใน 20 ปีข้างหน้า ขณะที่ยามนี้ทั่วโลกพากันแตกตื่นที่เมียนมาร์กลายเป็นชาติที่อัตราเติบโตของจีดีพีสูงที่สุดในโลกเป็นอันดับที่ 2 ตามด้วยเขมรและเวียดนาม ส่วนไทยต่ำกว่าเพื่อนๆกว่า 100%
เมียนมาร์มีขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่าเรามาก คือมูลค่าประมาณ 65,000 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท ซึ่งต่ำกว่างบประมาณรายจ่ายประจำปีของไทยเกือบ 1 ล้านล้านบาทแต่การที่มีการเปลี่ยนประเทศเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ มีการเลือกตั้งครบเทอมถึง 2 สมัยติดต่อกัน ทำให้นักลงทุนต่างชาติแห่กันเข้าไปลงทุนมาก เงินช่วยเหลือต่างๆเข้าไปมากทำให้เศรษฐกิจของพม่าขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนอัตราเติบโตของจีดีพีพุ่งขึ้นไปกว่า 8% สิ้นปีนี้คาดว่าจะถึง 8.4%
เป็นอัตราเติบโตของจีดีพีที่สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก(8.07%) รองจากอิรัก(10.3%) (สำนักข่าวบลูมเบิร์ก)
ด้านมูลค่าสหรัฐยังอันดับ 1 จีนอันดับ 2 ญี่ปุ่นอันดับ 3แม้ค่าเงินจ๊าดจะอ่อนกว่าเงินตราทุกสกุลในบรรดาประเทศตลาดเกิดใหม่ แต่กลับเป็นผลดีด้านส่งออกซึ่งสินค้าสำคัญคือข้าวที่เป็นคู่แข่งของเราที่นับวันพม่ามีแต่จะแข็งแกร่งยิ่งขึ้นหลังชัยชนะจากการเลือกตั้งเมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้วนางอ่อง ซาน ซูจี พยายามทำให้เมียนมาร์เป็นประเทศเสรีนิยมเต็มรูปแบบ ทำให้ได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ เงินจ๊าดกลายเป็นสกุลเงินที่มีเสถียรภาพสกุลหนึ่งของเอเชีย
แม้วันนี้จ๊าดจะเสื่อมค่าลงไปกว่า 10% และจะอ่อนลงไปลึกกว่านี้หากธนาคารกลางของสหรัฐ (Fed)ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(FOMC) วันพุธ-พฤหัสบดี 14-15 ธ.ค.นี้
หลังการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบกว่า 50 ปีแห่งยุคเผด็จการทหาร สหรัฐได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาร์ ทำให้ทุนต่างชาติไหลบ่าเข้าพม่ามากเป็นประวัติการณ์
เงินทุนต่างชาติที่ทะลักเข้ามาเช่นนี้ ทำให้ธนาคารกลางของเมียนมาร์ที่ไม่เคยสัมผัสกับปรากฏการณ์นี้มาก่อน ต้องจ้าง ฌอน เทอร์เน็ล ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยแมคคอรี่ แห่งซิดนีย์มาเป็นที่ปรึกษา สภาพคล่องในระบบมีมาก ทำให้เงินเฟ้อขยายตัวถึง 9% แต่กระนั้นอัตราเติบโตของจีดีพีของเมียนมาร์ก็เพิ่มขึ้นอย่างน่าจับตามอง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ประเมินไว้ที่ 8.1% ณ สิ้นปีนี้
อีกชาติที่เดินตามรอยเมียนมาร์ก็คือกัมพูชา ที่เงินทุนจีนไหลบ่าเข้ามาลงทุนมากที่สุดในบรรดานักลงทุนต่างชาติด้วยกันปีนี้กัมพูชาผลิตข้าวได้มากเป็นพิเศษคือประมาณ 9.2 ล้านตัน ทำให้จะมีข้าวเหลือบริโภค 5 ล้านตันแต่สามารถส่งออกส่งออกได้ประมาณ 3 ล้านตันในปีหน้า ซึ่งดีกว่าปีที่ 2015 ส่งออกได้แค่ 500,000 ตันส่วนปีนี้ คาดว่าจะส่งออกได้ประมาณ 1 ล้านตัน
จากประมาณการนี้ ทำให้ปีหน้ากัมพูชาจะมีข้าวเหลือจากส่งออกถึง 2 ล้านตัน น่ากังวลสต้อคข้าวโลกมาก เพราะไทยเองก็ผลิตได้มากเกินที่คาดการณ์ไว้ ปีหน้าคงได้ดัมพ์ราคากันดุ ข้าวในประเทศคงจะถูกไปทั้งปีเหมือนปีนี้ กัมพูชาแก้ปัญหาข้าวล้นด้วยการกู้เงินจากจีนมาเพื่อบริหารจัดการกับข้าวส่วนเกินนี้ โดยมีบริษัทจีนเข้ามาลงทุนตั้งบริษัทส่งออกข้าวไปยังจีนและชาติอื่นๆในอาเซียน
สำหรับเวียดนาม ปีที่แล้ว ภาคกลางของเวียดนามประสบภาวะฝนแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 90 ปี ทำให้ผลิตข้าวเกรดต่ำกว่าข้าวหอมที่ใช้ในการบริโภคภายในประเทศไม่เพียงพอ ต้องนำเข้าจากกัมพูชากว่า 300,000 ตัน
อย่างไรก็ดี เวียดนามกลายเป็นประเทศเนื้อหอมสำหรับการลงทุนต่างประเทศ ด้วยแรงดึงดูดใจจากค่าแรงต่ำ การเมืองมีเสถียรภาพ แม้จะประกาศตนเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ในทางปฏิบัติ กลับเป็นชาติประชาธิปไตยเสียยิ่งกว่าหลายๆประเทศในอาเซียนไทยเป็นนักลงทุนต่างชาติรายสำคัญ 1 ใน 3 อันดับต้นของในเวียดนามในขณะนี้
ล่าสุดเวียดนามได้รับการจัดอันดับให้เป็นชาติดาวรุ่งนำกลุ่ม VARPs ( Vietnam- Argentina-Romania-Pakistanนอกเหนือจาก CLMV (Cambodia- Lao - Myanmar-Vietnam)ปีที่กำลังจะผ่านพ้นไปนี้ เวียดนามส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 10% จนทำให้คาดว่าอัตราเติบโตของจีดีพีปีนี้เฉลี่ยที่ 6.0%
กลุ่ม CLMV เป็นกลุ่มชาติที่มีศักยภาพในการผลิตสูงมาก โดยมีเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าไปลงทุนมากบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยและบริษัทร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่นแห่กันไปลงทุนกันคับคั่ง
อัตราเติบโตของจีดีพีของชาติที่โอบล้อมประเทศไทยค่อนประเทศเหล่านี้ ตามการประเมินจีดีพีของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย-ADB) เรียงลำดับดังนี้ คือ
1.เมียนมาร์ 8.4%
2. กัมพูชา 7.0%
3.ลาว 6.8%
4. เวียดนาม 6.0%
ขณะที่ของไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่า ทั้งปี 2559 นี้น่าจะโตที่ 3.2% เทียบกันกับพม่าที่มีประชากรแค่ 54 ล้านคน มีขนาดเศรษฐกิจพอๆกับเงินลงทุนพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยแล้ว เราโตต่ำกว่าเมียนมาร์ถึง 162,5%
สำหรับอัตราเติบโตของจีดีพีของชาติอาเซียนในปีนี้เฉลี่ย 4.5% ส่วนปีหน้าคาดว่าจะลดลงเล็กน้อย เหตุจากนโยบายกีดกันทางการค้าของว่าที่ประธานาธิบดี โดแนลด์ ทรัมป์ ที่จะทำให้การส่งออกของชาติอาเซียนลดลง 10%
ทั้งนี้ เพราะสหรัฐเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของชาติอาเซียน (จากข้อมูลวิจัยเชิงสำรวจของ FocusEconomics Consensus Forecast ASEAN report)
เมียนมาร์ในปีหน้ายังรักษาตัวเลขเติบโตสูงสุดในภูมิภาค แต่จะโตต่ำกว่าปีนี้ คือประมาณ 7.0%
เวียดนามเพิ่มเล็กน้อย 6.4% ขณะที่ฟิลิปปินส์มาแรง 6.3% อินโดนีเซีย ชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียนโต 5.3% สำหรับไทยเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของอาเซียน หลายสำนักวิจัยประมาณการไว้ที่ 3.3-3.5%
ในยุคเผด็จการมาร์กอส ฟิลิปปินส์ได้ชื่อว่าเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย (Sick Man of Asia) เมื่อฟิลิปปินส์เลิกป่วย พม่ายุคฮุนต้าครองเมือง รับตกทอดเป็นคนป่วยแห่งเอเชียคนที่ 2 ต่อ ตอนนี้พม่าเลิกป่วย ใครจะเป็นคนป่วยแห่งเอเชียคนที่ 3 แทน ? เมืองไทยจองคิวไว้ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจากนี้ไปรึเปล่า ?