ปรับฐานราก เปลี่ยนฐานคิด เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com นับแต่มีคาราโอเกะ ดูเหมือนว่าใครๆ ก็ร้องเพลงได้ วงดนตรีน้อยใหญ่ที่รับเชิญรับจ้างไปในงานบวช งานแต่ง งานวันเกิด งานเลี้ยงต่างๆ มักได้ร้องเพลงสองเพลงแล้วถูกแย่งไมค์ไล่ลงเวที เพราะมีนักร้องกิตติมศักดิ์และสมัครเล่นเข้าคิวจองร้องเพลงจนจบงาน ยิ่งเข้ายุคดิจิตอล ก็ยิ่งได้ยินได้ฟังเพลงมากมายจากรายการประกวดร้องเพลงทางทีวี ซึ่งมีแทบทุกช่อง บางช่องมีถึง 8 รายการ รวมทุกช่องคงหลายสิบ จนดูไม่หวาดไม่ไหว หลายรายการก็ดี นอกจากได้ความสุขสนุกสนานแล้วยังได้ความรู้จากกรรมการ แม้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่ให้ความเห็นเป็นแก่นสาร มีหลักการประเทืองปัญญาผู้ฟัง ในขณะที่ “เหตุผล” อาจจะเข้าถึง “สมอง” ดนตรีเข้าถึง “หัวใจ” เข้าถึงจิตวิญญาณ ผู้คนทั่วไปจึงชอบฟังเพลง ร้องเพลง คนหนุ่มสาวเยาวชนคลั่งไคล้นักร้องนักดนตรีที่มีชื่อเสียง ทีวีที่ต้องการเรตติ้งจึงเฮใส่รายการเพลงเต็มไปหมด ความจริง ในอดีต ดนตรีเป็นศาสตร์เป็นศิลป์ชั้นสูงของปราชญ์ ของพระราชา ของผู้มีรสนิยม ในยุโรป ดนตรีคลาสสิกพัฒนาจากดนตรีศักดิ์สิทธิ์ มาจากในโบสถ์ แล้วเติบโตโดยการอุปถัมภ์ของบรรดาเจ้าและผู้สูงศักดิ์ ที่มักมีวงแชมเบอร์วงเล็กวงใหญ่เล่นในวัง โด่งดังในยุคบาร็อค ก่อนที่จะพัฒนามาสู่ซิมโฟนีวงใหญ่เต็มอัตราในเวลาต่อมา จากนั้น เราได้เห็นพัฒนาการของดนตรีที่โดดเด่นและมีอิทธิพลมาจากอเมริกาแนวต่างๆ อย่างแจ๊ซ บลู ร็อค ป๊อบ โฟล์ค คันตรี้ มาจนถึงเฮวี้ เมทัล แร็บ และอื่นๆ ที่แตกแขนงออกไป ในบ้านเราได้มีพัฒนาการดนตรีที่มีมาต่อเนื่องโดยเฉพาะในระยะ 20-30 ปีหลังนี้ นอกจากวงดนตรีคลาสสิกลงเล็กวงใหญ่ มีวงดนตรีสมัยใหม่อย่างร็อค ป๊อบ ดนตรีเพื่อชีวิต และอื่นๆ อีกมากมาย ภาพของการเป็นนักดนตรีก็เปลี่ยนไป ไม่ใช่คนเต้นกินรำกินแบบในอดีต คนเล่นดนตรีข้างถนนอาจไม่ใช่ “วณิพก” แต่เป็นนักดนตรีมืออาชีพที่เล่นเปิดกล่องเปิดหมวก บางคนอยากหารายได้ บางคนเล่นเพราะสนุกและมีความสุข มีการส่งเสริมการเล่นดนตรีไทยและดนตรีสากลในสถาบันการศึกษาทุกระดับ มีวิทยาลัยดนตรี มีคณะดนตรี ภาควิชาดนตรีในมหาวิทยาลัยต่างๆ เคยมีการส่งเสริมให้เกิดโรงเรียนมัยมดนตรีหลายปีก่อน แต่ “ร้าง” ไป เพราะความไม่พร้อมของผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่กระทรวงศึกษาธิการไปจนถึงครูไม่ใช่ความไม่พร้อมด้านงบประมาณ แต่ไม่พร้อมในความรู้ ความเข้าใจ ไม่มียุทธศาสตร์ชัดเจน ไม่มีแผนการพัฒนาบุคลากร ขาดเจตจำนงค์ของผู้บริหารการศึกษา ตั้งแต่รัฐมนตรี ข้าราชการ ขาดครูดนตรีที่มีวิญญาณดนตรี ที่เข้าใจคุณค่าของดนตรีอย่างถ่องแท้ ไม่มีทักษะ จิตวิทยาและความมุ่งมั่นในการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของเด็ก จึงปล่อยให้เด็กที่เกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์เท่านั้นที่พัฒนาไปด้วยตนเอง เรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับดนตรีจึงมักเป็นอะไรที่ “เอกชน” หรือ “ปัจเจกบุคคล” คิดริเริ่ม ส่งเสริม สนับสนุน อย่างการตั้งวงดนตรีสำหรับเด็กเยาวชนที่ยะลา วงดนตรีคนพิการทางสายตา การประกวดแข่งขันการเล่นดนตรีชนิดต่างๆ การขับร้อง รวมถึงการประกวดร้องเพลงในงานวัด งานเทศกาล และการประกวดทางทีวีที่กำลังท่วมจออยู่ในขณะนี้ ดนตรีมีความสำคัญมากกับพัฒนาการของเด็ก ถ้าเด็กได้ฟังดนตรีตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ตั้งแต่แบเบาะจนโต และเมื่อโตขึ้นให้ได้เรียนเล่นดนตรี อาจไม่ใช่ทุกคนที่ชอบ แต่อย่างน้อยให้เล่นเป็นขั้นพื้นฐานก็ยังดี จะช่วยกล่อมเกลาอารมณ์ความรู้สึกให้อ่อนลง ละเอียดขึ้น ไม่หยาบกระด้าง ไม่ก้าวร้าว ถ้าเล่นดนตรีเป็นสักชิ้นหนึ่งก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี เด็กทุกคนในเยอรมนีและหลายประเทศในยุโรปเรียนร้องเพลงและเล่นดนตรีในโรงเรียนตั้งแต่ชั้นประถม ทำให้คุ้นเคยกับ “ดนตรี” รู้จักเทคนิกอย่างน้อยขั้นพื้นฐานการร้องเพลง ขณะที่บ้านเราที่เห็นขึ้นเวทีทุกวันนี้ เกือบทั้งหมดล้วนแต่ “ฝึกเอง” แบบไม่มีครูทั้งนั้น “แกะเพลง” เอง เลียนแบบนักร้อง กระทรวงศึกษาธิการน่าจะทบทวนเรื่องการส่งเสริมดนตรีในโรงเรียน ในสถานศึกษา เพราะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนที่ดีที่สุดและถูกที่สุดอย่างหนึ่ง ยิ่งวันนี้ที่มีรายการประกวดร้องเพลง เด็กๆ ก็อยากร้องเพลงเป็น อยากประกวด อยากไปออกทีวี มีวิธีสร้างแรงจูงใจให้เด็กๆ มากมาย ถ้าผู้บริหารกระทรวงมีเจตจำนงค์ชัดเจน โรงเรียนต่างๆ จะมีแผนการส่งเสริมดนตรี ไม่ปล่อยให้โรงเรียนไหนอยากทำก็ทำไป ครูคนไหนร้องเพลงเก่งก็สอนเด็ก แต่ให้เป็น “วาระสำคัญ” เพื่อการพัฒนาคนที่ทุกโรงเรียนต้องมีครู มีวีธีการ มีเครื่องมือในการส่งเสริมอย่างจริงจัง ไม่ต้องเริ่มจากเครื่องดนตรีฝรั่งราคาแพง เอาขลุ่ย ขิม ซอ แคน เครื่องดนตรีไทยหรือพื้นบ้านที่หาง่ายราคาถูกมาเริ่มต้นก็ได้ พระบาทสมเด็จพระบรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นนักดนตรีที่มีอัจฉริยภาพ จนฝรั่งบอกว่า ถ้าไม่เป็นกษัตริย์จะทรงเป็นนักดนตรีเอกของโลกคนหนึ่ง ทรงแต่งเพลงเกือบ 50 เพลง ทรงเล่นดนตรีได้หลายชนิด โดยเฉพาะแซ็กโซโฟน ทรงถนัดเล่นดนตรีแจ๊ซ ซึ่งต้องใช้ความสามารถสูงมากในการด้น คณะแพทย์ส่วนพระองค์เล่าว่า ทรงเป็นห่วงสุขภาพของแพทย์ อยากให้คลายเครียด และไม่รู้สึกเกร็งเมื่อมารับใช้ถวายการรักษาหรือติดตาม จึงทรงสอนให้เล่นดนตรี แล้วให้เล่นเป็นวงกับพระองค์ แม้ว่าไม่เก่ง พระองค์ก็ทรงอดทนเล่นด้วย ทรงอยากให้ทุกคนสบายใจและมีความสุข ดนตรีลดความเครียด รักษาความเจ็บป่วย ให้พลังชีวิต สร้างมิตรภาพ