แก้วกานต์ กองโชค ปี 2559 กิจการสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อทีวีดิจิตอล กำลังกลายตำนานอย่างแท้จริงมากขึ้นเรื่อยๆ เป็น “ตำนานสื่อ” ที่ไม่ต้องมีการกล่าวไว้อาลัยกันมากนัก นอกจากกิจการสื่อ จะต้องปิดตัวเองไป บางกิจการอาจจะถูกเทกโอเวอร์จาก “นักธุรกิจรายใหญ่” โดยเฉพาะทีวีดิจิตอล นักวิเคราะหืหลักทรัพย์อธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าวว่า “ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจสื่อปิดกิจการ หรือเกิดการเทกโอเวอร์จากบรรดาเจ้าสัวเพิ่มขึ้นนั้น มาจากธุรกิจที่มีมากและแข่งกันในการหาโฆษณาสูง ทำให้บริษัทที่มีปัญหาสภาพคล่อง ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้” ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่หลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกันก็คือ ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้การ “โฆษณา” สินค้าต้องลดลง โดยกิจการหลายแห่งได้หันไปใช้รูปแบบการโฆษณาอย่างอื่น เพื่อเพิ่มยอดขาย ปัจจัยนี้ส่งผลทันทีต่อ “รายได้” ของสื่อ มงคล พ่วงเภตรา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ กลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) บอกว่า “บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องลดงบประมาณด้านการตลาด ส่งผลให้รายได้หรือกำไรของกลุ่มสื่อที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ลดลงอย่างมาก โดยช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.) กลุ่มสื่อและจัดงานอีเวนต์ 13 บริษัท ยกเว้นสื่อสิ่งพิมพ์ มีกำไร 1,201 ล้านบาท ลดลง 53% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งในจำนวนนี้มีขาดทุนถึง 5 บริษัท” ข้อมูลการแจ้งผลประกอบการของกลุ่มบริษัทในหมวดมีเดียรายใหญ่ เช่น บีอีซี อสมท. แกรมมี่ อาร์เอส และกลุ่มจัดงานอีเวนต์ เป็นต้น ต่างมีกำไรลดลง และบางรายขาดทุน การที่นักธุรกิจรายใหญ่ซึ่งมีเงินทุนจำนวนมาก เข้ามาซื้อกิจการนั้น อาจจะมีสาเหตุมาจากการใช้ช่องทางสื่อในการทำตลาดให้กับสินค้าให้เครือบริษัทตนเอง และมองว่าเป็นการลงทุนในอนาคต เนื่องจากหากเศรษฐกิจฟื้นตัว ธุรกิจสื่อดิจิตอล ก็จะมีรายได้เข้ามามากขึ้น การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในกิจการสื่อดิจิตอลในปี 2559 ที่ผ่านมา ไดแก่ ตระกูลสิริวัฒนภักดีใช้เงิน 850 ล้านบาท ซื้อหุ้น 47.62% ของบมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง (AMARIN) ตระกูลปราสาททองโอสถ ซื้อหุ้นเพิ่มทุนคิดเป็นมูล 1,905 ล้านบาท ในบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจช่อง ONE ในเครือ บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) ขณะที่การทำธุรกิจทีวีเคเบิลของ บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) หรือ ซีทีเอช บริษัทยักษ์ใหญ่ทีวีเคเบิลของประเทศไทย ทางด้านการถ่ายทอดสดฟุตบอลต่างประเทศเป็นหลัก ก็ต้องปิดกิจการไป โดยบริษัทฯได้ยุติการให้บริการแก่ลูกค้าโดยลูกค้า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไป  ทั้งนี้ ข้อมูลจากงบการเงิน บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) ที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า ปี 2556 รายได้ 859,742,446 บาท รายจ่ายรวม 4,139,314,941 บาท ขาดทุนสุทธิ 3,279,572,495 บาท ปี 2557 มีรายได้รวม 2,671,140,350 บาท ส่วนรายจ่ายนั้น บริษัทฯ ระบุว่า มีรายจ่ายรวม 7,126,563,184 บาท ขาดทุนสุทธิ 4,455,422,834 บาท สื่อสิ่งพิมพ์ที่มีอายุวัยกลางคนถึง 44 ปี 6 เดือนอย่างหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ก็ต้องปิดกิจการลง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560 พร้อมเลิกจ้างทั้งหมด         โดย “ชลอ จันทร์สุขศรี” กรรมการ และบรรณาธิการผู้พิมพ์และโฆษณา หนังสือพิมพ์บ้านเมือง ได้ออกประกาศเพื่อแจ้งแก่พนักงานทุกคนว่า “เนื่องจากรูปแบบในการดำเนินธุรกิจได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก มีสื่อชนิดใหม่ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งทำให้การคงอยู่ของสื่อสิ่งพิมพ์เป็นไปได้อย่างยากลำบาก ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ไม่เอื้ออำนวย ทางผู้บริหารของบริษัท นวกิจบ้านเมือง จำกัด ได้พยายามประคับประคองการดำเนินธุรกิจให้คงอยู่อย่างสุดความสามารถมาเป็นระยะเวลาพอสมควร แต่ก็มิอาจทนต่อสภาวการณ์ในสภาวะปัจจุบันได้ จึงได้ตัดสินใจขอหยุดผลิตหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ตั้งแต่ฉบับวันที่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป และมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด” “ทางผู้บริหารรู้สึกขอบคุณพนักงานทุกท่านที่ร่วมแรงร่วมใจ ร่วมทุกข์และสุขด้วยกันตลอดมาทั้งในอดีตและปัจจุบัน วันนี้เป็นอีกวันที่ตัดสินใจอย่างยากลำบากที่สุด แต่เพื่อให้ทางผู้บริหารและบริษัทฯ สามารถดูแลพนักงานได้อย่างถูกต้อง และเป็นไปตามกฎหมาย จึงขอประกาศเพื่อเป็นอันทราบกัน” เป็นประกาศที่ไม่มีใครอยากได้ยินสักเท่าไหร่ ทั้งนี้หนังสือพิมพ์บ้านเมือง ก่อตั้งเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2515 โดยใช้ที่ดินย่านถนนวิภาวดี-รังสิต เป็นที่ทำการ ถือกำเนิดในยุคที่ นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ยังเป็นเจ้าของบริษัทรับเหมาก่อสร้าง โดยมีเพื่อนสนิท คือ นายวิจารณ์ ภุกพิบูลย์ เป็นเจ้าของบริษัท บ้านเมืองการพิมพ์ จำกัด และมี นายบรรหาร เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่กระนั้น หนังสือพิมพ์บ้านเมืองอาจจะไม่ใช่ รายสุดท้ายของโลกดิจิตอล โลกแห่งการอ่าน social media มากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์