สมบัติ ภู่กาญจน์
เพราะไปค้นปาฐกถาเก่าๆ เพื่อเอามาเรียนรู้และเรียบเรียงใหม่ ทำให้ผมได้พบแนวคิดที่น่ารู้น่าฟังอีกสองชิ้นเรื่อง ‘ประชาธิปไตยกับเสรีภาพ’ และเรื่อง ‘พระพุทธศาสนากับชีวิตปัจจุบัน’ ที่ผมอยากนำมาฝากให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณา
ในยุคที่ ประชาธิปไตยของเราก็กำลัง ‘อยู่ในโรดแมป’
และพุทธศาสนาก็อยู่ในยุค ‘ตำรวจต้องวางแผนจับพระ’ อันเป็นสิ่งที่คนอายุไม่เกิน๓๐ปี ยังไม่เคยพบเห็นมาก่อนในสังคมไทย
สภาวะเหล่านี้ ผมคิดว่า จำเป็นที่ผู้คนพลเมืองควรจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆให้มากขึ้น และรู้ว่าอะไรเป็นอะไรให้มากขึ้น เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันที่เหมาะสม สำหรับการดำรงคงอยู่ในโลกยุคปัจจุบัน
ในอดีต ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ‘ครูของผม’ได้เพียรพยายามให้ความรู้อันกว้างขวาง แก่ผู้คนพลเมืองไทยทุกระดับ มายาวนานหลายสิบปี ผมเป็นคนที่เกิดทัน และมีความเกี่ยวเนื่องอยู่ในยุคแห่งความเพียรพยายามเหล่านี้ของท่าน จึงอยากนำความรู้ที่เคยได้รับมาบอกกล่าวเล่าไว้ ให้คนในยุคนี้ได้ทราบกันไว้อีกครั้งหนึ่ง ด้วยความหวังว่า ความรู้ที่มากขึ้นกว้างขึ้น จะทำให้เราคิดและตัดสินใจในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงรุนแรงนี้ได้ดีขึ้น ยิ่งกว่าสภาวะที่ ‘ความรู้’มักจะมาควบคู่กับ ‘อารมณ์นำหน้า’เช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ในปาฐกถาชิ้นแรก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้พูดถึงเรื่อง ‘ประชาธิปไตยกับเสรีภาพ’ ไว้ด้วยคำพูดเริ่มต้นว่า
“ในการแสดงปาฐกถาวันนี้ ผมต้องขอออกตัวเสียก่อนว่า ทุกอย่างที่จะกล่าวต่อไปนั้น เป็นความเห็นส่วนตัวของผมโดยอัตโนมัติ ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีการอ้างตำราใดๆ และก็ไม่มีตำราจะอ้างด้วย แต่อาจจะมีการยกคำพูดของคนอื่นมาอ้างบ้าง ก็เพื่อให้เป็นอุทธาหรณ์ในบางกรณี
เมื่อความเห็นเหล่านี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้พูด ผมจึงไม่ขอรับรองว่า สิ่งเหล่านั้นจะถูกหรือผิดชัดเจนลงไป เพราะความเห็นส่วนตัวของคนๆเดียว ย่อมจะถูกหรือผิดได้เสมอไปในความเห็นของคนอื่น
แต่ที่ผมกล้ามาเสนอความเห็นส่วนตัวในวันนี้ ก็เพราะเห็นว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถาบันการศึกษาขั้นสูงของประเทศ ซึ่งสมาชิกแห่งมหาวิทยาลัย น่าจะเป็นผู้นำแห่งความคิดเห็น ที่เหมาะสมในทางการเมืองหรือทางอื่นทั่วไป ผมจึงเชื่อมั่นและศรัทธาว่า ท่านทั้งหลายจะรับฟังความคิดเห็นของผมด้วยน้ำใจอันกว้างขวาง ถ้าสิ่งใดที่ผมจะกล่าวต่อไป หากบังเอิญจะไม่ถูกต้องหรือตรงกับความคิดเห็นของท่านบ้าง ผมก็หวังว่าจะได้รับความเมตตาและอภัย จึงต้องขออภัยล่วงหน้ามาด้วย ณ ที่นี้”
คำพูดทำนองนี้ ค่อนข้างจะหาฟังได้ไม่ง่ายในยุคนี้ใช่ไหมครับ? เพราะทุกวันนี้หลายคนดูเหมือนจะมีความคิดเห็นกันสารพัด และส่วนหนึ่งก็ชอบแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ แสดงไปด้วยอารมณ์และความเชื่อมั่นว่าความเห็นของตนนั้นคือความถูกต้อง และถ้าหากว่าจะมีใครเห็นแตกต่างหรือเห็นตรงข้าม อารมณ์ขัดแย้งก็พร้อมจะปะทุได้ทุกเรื่องและทุกเวลา ปรากฏการณ์เหล่านี้ เราสามารถจะพบได้ในบุคคลทุกระดับของสังคมไทยยุคปัจจุบัน
ในยุคที่ผมยังมีโอกาสได้พูดคุยกับอาจารย์คึกฤทธิ์ สิ่งเหล่านี้ยังไม่มีปรากฏขึ้นในสังคมไทย ผมจึงได้แต่กวนอารมณ์อาจารย์คึกฤทธิ์ในเรื่องของ “การไม่อ้างตำรา” ว่าทำไมอาจารย์จึงชอบพูดโดยเน้นถึงเรื่องนี้ในการแสดงความคิดเห็นอยู่บ่อยมาก? ได้รับคำตอบกลับว่า “เพราะผมเป็นคนที่ไม่ค่อยจะเชื่อในผู้รู้ หรือนักวิชาการที่ชอบอ้างตำราน่ะซี....ผมไม่เชื่อว่า ปัญหาทุกอย่างจะเปิดตำราแล้วแก้ไขได้ และไม่เชื่อว่าผู้รู้ที่ชอบแสดงความเห็นในเรื่องทุกเรื่องอย่างฉาดฉานองอาจ เมื่อได้เข้าไปทำงานแก้ปัญหาเข้าจริงๆแล้วจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมดอย่างที่พูดมา ผมเชื่อในเรื่องความคิดเห็นของคนว่าเป็นสิ่งที่ควรจะต้องรับฟังกัน ....ฟังแล้วก็คิด คิดแล้วก็ตัดสินใจทำ.... ทำอย่างระลึกเสมอว่าคนที่เห็นต่างจากเรายังมี แต่เราก็มีคำตอบให้กับความต่างเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา”
เพราะคิดถึงเหตุผลเหล่านี้ของอาจารย์คึกฤทธิ์ครับ ผมจึงขออนุญาตแทรกไว้เป็นข้อสังเกตุ ก่อนที่จะรับฟังความเห็นกันต่อไป
“เหตุที่ยกเอาเรื่องประชาธิปไตยกับเสรีภาพมาพูดในวันนี้ ก็เพราะว่า ทุกวันนี้ประเทศของเรามีปัญหาเรื่องประชาธิปไตยและเสรีภาพอยู่หลายอย่าง ซึ่งคติของคนทั่วไปมักจะถือว่าประชาธิปไตยกับเสรีภาพนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรืออย่างน้อยก็เป็นปัจจยาการซึ่งกันและกัน ดังที่ชอบพูดกันว่า ณ ที่ใดมีประชาธิปไตยที่นั่นจะต้องมีเสรีภาพอยู่ด้วยเสมอไป ถ้าจะยึดถือเช่นนี้แล้ว คำว่า ‘เสรีประชาธิปไตย’ก็จะฟังแปร่งหูเป็นอย่างยิ่ง ว่า ถ้าประชาธิปไตยกับเสรีภาพเป็นของคู่กันแล้ว เหตุไฉนจึงจะต้องเติมคำว่า ‘เสรี’ลงไปข้างหน้าคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ อีก (หมายเหตุ; ในยุคที่แสดงปาฐกถานี้ สหรัฐอเมริกาคือผู้ใช้นโยบายต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ทุกรูปแบบ รวมทั้งการปลุกกระแสHate Speechในหมู่พันธมิตรอย่างสุดขั้ว รวมทั้งการนิยามใช้คำๆนี้ขึ้นมาด้วย) และอีกประการหนึ่ง เราทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ มักจะได้รับคำบอกเล่าอยู่เสมอว่า เราอยู่ในประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีเหตุการณ์ หรือการกระทำบางอย่างเกิดขึ้นบ่อยๆ ที่ทำให้เราเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพของเรา หรือทำให้เสรีภาพของเราถูกจำกัดตัดทอนไป สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเกิดความรู้สึกวิตกกังวลขึ้นบ้าง ไม่มากก็น้อย
คนทุกวันนี้ มักจะยึดถือลัทธิการเมืองเอาง่ายๆ โดยปราศจากการพิจารณาอย่างละเอียดและรอบคอบ เราปล่อยให้ศัพท์แสงทางการเมือง ซึ่งโดยมากมักจะมาจากการโฆษณาชวนเชื่อ มาทับท่วมความคิดที่ควรจะประกอบด้วยเหตุและผลของเราเสียสิ้น ปัญหาต่างๆข้างต้นจึงเป็นสิ่งที่เราตอบได้ไม่ถนัด ทำให้เกิดความสงสัยกินใจ หรือพูดในทางพุทธศาสนาว่าเกิดทุกข์ขึ้นมา ซึ่งความทุกข์นั้นไม่มีทางแก้อันใดจะประเสริฐไปกว่าความรู้แจ้งเห็นจริง ผมจึงอยากให้เราเริ่มที่ความเห็นจริงกันเสียก่อนในเบื้องแรก ว่าประชาธิปไตยกับเสรีภาพนั้นไม่ใช่ของอย่างเดียวกัน แต่เป็นของคนละอย่าง และก็ไม่จำเป็นต้องมีอยู่พร้อมกันเสมอไป ถ้าเราสามารถทำความเข้าใจได้อย่างนี้ ปัญหาเรื่องความยิ่งหย่อนแห่งเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยก็เป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ และถ้าเข้าใจแล้ว ก็พอจะหาทางแก้ไขได้ หรืออย่างน้อยก็พอจะใช้ความอดทนในการแก้ไขได้ โดยไม่ต้องเกิดความรู้สึกกระวนกระวายจนเกินไป”
นี่คือบทเกริ่นนำในการเสนอแนวคิด ท่านผู้อ่านลองคิดดูครับว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในสิ่งที่ผู้พูดเสนอมา?
ถ้าคำตอบคือเห็นด้วย ยังมีสิ่งที่น่าคิดน่าติดตามอีกหลายประเด็น ที่ผมจะนำเสนอต่อไปสัปดาห์ละหนึ่งครั้งครับ