ทวี สุรฤทธิกุล
คนร้อยเอ็ดจะรักษา “โรคร้อยเอ็ด”
บทความวันนี้มีเจตนาเพื่อ “ปลุกเร้า” ให้คนไทยสนใจในการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งไม่ใช่จะเป็นเพียงแต่ “สัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตย” หรือเป็นแค่ “พิธีกรรม” ในการรองรับความชอบธรรมให้แก่ผู้มีอำนาจเท่านั้น แต่การเลือกตั้งยังเป็น “การปฏิวัติอำนาจ” คือสามารถเปลี่ยนแปลงผู้ปกครอง รวมถึงสร้าง “สิ่งดีๆ “ ทางการเมืองการปกครองขึ้นมาใหม่ได้อีกด้วย อย่างที่เรียกกันว่า “การปฏิรูปประเทศ” ดังที่จะได้ยก “กรณีสมมุติ” ของการเลือกตั้งในจังหวัดร้อยเอ็ด ที่ถ้าหากคนร้อยเอ็ดได้ดำเนินการไปในแนวทางที่ผู้เขียน “ฝัน” ไว้นี้ ก็อาจจะเป็น “ต้นแบบ” ให้คนไทยในที่อื่นๆ ได้ดู นั่นก็คือ “ต้นแบบของการเลือกตั้งที่ดี” ซึ่งครั้งหนึ่งคนร้อยเอ็ดถูก “ตราหน้า” ว่า เป็นสัญลักษณ์ของ “โรคร้าย” คือ “การซื้อสิทธิขายเสียง” ดังที่เรียกว่า “โรคร้อยเอ็ด” ที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2524 นั่นเอง (รายละเอียดสามารถดูได้ในกูเกิลและวิกิพีเดีย โดยใช้คำค้น “โรคร้อยเอ็ด”)
ความจริงเรื่องของการซื้อสิทธิขายเสียงไม่ใช่มาเริ่มเกิดขึ้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เพียงแต่กรณีของจังหวัดร้อยเอ็ดในครั้งนั้นเป็น “ความสุกงอม” ของการทุจริตในการเลือกตั้งด้วยการใช้เงิน ที่มีลักษณะเด่นกว่าการซื้อสิทธิขายเสียงในอดีต เพราะมีการใช้เงินกันอย่าง “โจ๋งครึ่ม เปิดเผย และท้าทายกฏหมาย” นำมาซึ่งวัฒนธรรมทางการเมืองไทยแบบใหม่ที่เรียกว่า “ธนาธิปไตย” หรือ “อำนาจเงินเป็นใหญ่” ซึ่งหลังจากนั้นการซื้อสิทธิขายเสียงก็กลายเป็น “เรื่องปกติ” กระทั่งทำให้นักการเมืองในยุคนั้นและต่อๆ มา “ตั้งหน้าตั้งตา” กอบโกยผลประโยชน์ต่างๆ เพื่อกักตุนหาเงินเอาไว้สำหรับใช้ซื้อเสียง และพอได้รับเลือกตั้งเข้ามาก็หาทาง “ถอนทุน” จนเกิดระบบ “ต่างคนต่างกิน” และกินกันอย่าง “มูมมาม” จนกระทั่งรัฐบาลในช่วง พ.ศ. 2531 – 2533 ถูกเรียกว่า “บุฟเฟ่ต์คาบิเนต” และชักนำให้ทหารเข้ามายึดอำนาจในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 พร้อมกับประกาศยึดทรัพย์และสอบสวนเอาผิดนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีรวม 15 คน ซึ่งก็ทำให้ทหารดูดี แต่ที่สุดเมื่อมีการเลือกตั้งในปีต่อมา ทหารนั้นเองกลับไปเข้าด้วยกับ “นักการเมืองสีเทา” ทำให้ผู้คนหวาดระแวงว่าการเมืองแบบเก่าๆ จะกลับมา จึงมีการชุมนุมต่อต้านการสืบอำนาจของทหารในครั้งนั้น จนกระทั่งเกิดการจลาจลขึ้นในกรุงเทพฯที่เรียกว่า “พฤษภาทมิฬ 2535” สุดท้ายทหารก็ต้องยอมถอยไป ตามมาด้วยการปฏิรูปการเมืองด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คือฉบับ พ.ศ. 2540 ที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ซึ่งหลายคนก็คาดว่าน่าจะทำให้การเมืองไทยดีขึ้น แต่รัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็มีช่องโหว่ที่ให้อำนาจแก่พรรคการเมืองค่อนข้างมาก ทำให้พรรคไทยรักไทยที่ชนะการเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากในปี 2544 สามารถควบคุมทั้งสภาและรัฐบาลไว้ได้ทั้งหมด เกิดระบอบ “เอกาธิปไตย” คือ “ตัวกูเป็นใหญ่” และนำความวุ่นวายมาสู่การเมืองไทยกระทั่งทุกวันนี้ แม้ว่าจะมีความพยายามด้วยการทำรัฐประหารในปี 2549 แต่ก็เอาไม่อยู่ จนต้องมาทำรัฐประหารซ้ำในปี 2557 ซึ่งทหารได้ประกาศเจตนารมย์อย่างชัดเจนว่า จะจัดการกับนักการเมืองชั่วๆ และควบคุมพรรคการเมืองให้อยู่มือ ดังที่ได้ทำออกมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 อันมีชื่อตามที่ประธานกรรมการยกร่างท่านเรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” อันรอการพิสูจน์ในการเลือกตั้งในครั้งนี้
เมื่อคนร้อยเอ็ดถูกตราหน้าว่า เป็น “ต้นกำเนิดของโรคร้าย” จึงอยากจะให้คนร้อยเอ็ดร่วมกันประกาศเจตนารมย์ที่จะเป็น “ต้นแบบของยารักษาโรคร้าย” ด้วยการ “ร่วมปราบโกง” ในการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึง ซึ่งอาจจะใช้ชื่อว่า “แถลงการณ์ของชาวร้อยเอ็ดเพื่อการเลือกตั้งที่ดีงาม” โดยควรจะต้องมีสาระในประเด็นสำคัญต่างๆ สัก 3 ประเด็นดังนี้
1. ชาวร้อยเอ็ดจะร่วมกันเป็น “หมอการเมือง” รักษาโรคร้ายในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ด้วยการไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุด โดยจะไม่เลือกนักการเมืองที่มีประวัติด่างพร้อย โดยเฉพาะนักการเมืองที่เกี่ยวข้องหรือเคยร่วมกันกระทำทุจริต ทั้งกับคนที่หนีคดีอยู่นอกประเทศ และที่ยังมีคดีต่างๆ อยู่ในศาล รวมถึงพวกที่มีความประพฤติและนิสัยไม่ดี ตลอนจนลูกหลานและญาติมิตรของคนเหล่านี้ อย่าให้ได้ผุดได้เกิดในทางการเมือง หรือมีที่ยืนในสังคม เพื่อให้ผู้แทนฯของชาวร้อยเอ็ดเป็นผู้แทนฯที่ “ดีงามและสง่างาม”
2. ชาวร้อยเอ็ดจะไม่รับเงินหรืออามิสสินจ้างใดๆ ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ รวมถึงคำสัญญาว่าจะหาจะให้อะไรต่างๆ ทั้งยังจะเปิดโปงและแจ้งจับคนเหล่านี้ โดยจะร่วมกันเป็นพยานและเก็บรวบรวมหลักฐานส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง และจะผลักดันให้มีการดำเนิคดีกับคนเหล่านี้ให้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด เพื่อให้คนเหล่านี้ได้รับโทษทัณฑ์ที่สูงสุดเท่าที่กฎหมายจะกำหนดไว้ จากนั้นก็จะให้มีการบันทึกชื่อของนักการเมืองชั่วๆ เหล่านี้ไว้ในที่ต่างๆ เพื่อประจานให้สังคมได้รับรู้ไปชั่วลูกชั่วหลาน
3. ชาวร้อยเอ็ดจะสั่งสอนลูกหลานให้เกลียดชังนักการเมืองชั่วๆ รวมถึงวิธีการหาเสียงเลวๆ โดยจะให้โรงเรียนในจังหวัดร้อยเอ็ดสอนเรื่อง “หมอร้อยเอ็ด” ที่จะถูกบันทึกในหน้าประวัติวัติศาสตร์แทนโรคร้อยเอ็ดว่า คนร้อยเอ็ดได้ร่วมกันกอบกู้ชื่อเสียงของชาวร้อยเอ็ดให้กลับคืนมาได้อย่างไร พร้อมกับจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนไทยทั้งประเทศ ในการสร้าง “ประชาธิปไตยที่ดีงาม” ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
ท้ายที่สุดถ้าคนร้อยเอ็ดจะสรุปในแถลงการณ์นี้ ก็อาจจะสรุปไว้ว่า โรคร้อยเอ็ดคือโรคของคนไทยทุกคน ซึ่งเกิดจากคนไทย “ชั่วๆ” บางคนในบางยุคบางสมัย แต่นับจากนี้โรคนี้จะจบสิ้น ซึ่งก็ไม่ได้ด้วยแต่เพียงฝีมือของชาวร้อยเอ็ดตามลำพัง แต่ “ต้อง” ด้วยความร่วมมือของคนไทยทั้งประเทศ
ถ้าอยากให้ฝันนี้เป็นจริง คนไทยทุกคนต้องช่วยกันทำตามแถลงการณ์ของชาวร้อยเอ็ดนั้น
**********************************ล