"รัฐธรรมนูญปกครองประเทศนั้น ต้องถูกกับกาลสมัยและน้ำใจคน ยิ่งเปลี่ยนได้มากเท่าไรยิ่งดี รัฐธรรมนูญที่ตายตัว ดิ้นไม่ได้นั้นเสียอีก กลับจะเป็นของไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเมืองไทย ซึ่งยังใหม่ต่อระบอบนี้อยู่มาก" ( คึกฤทธิ์ ปราโมช “รู้ไว้ใช่ว่า” หน้า 46)
คุณภาพของประชาธิปไตยมิได้ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญเป็นหลัก
ถ้าใจคนไทย(แม้แต่ที่นั่งในสภาฯ)ยังไม่เป็นประชาธิปไตยจริงเสียแล้ว รัฐธรรมนูญจะไปช่วยอะไรได้ อ้างคำ "คึกฤทธิ์ ปราโมช" ก็ว่า
"ที่เรียกร้องต่อสู้กันมาให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยเร็วนั้น ก็เพราะความประสงค์ที่จะให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว
แต่ตามความเห็นของผม สักแต่รัฐธรรมนูญฉบับเดียวจะทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยไปโดยฉับพลันทันทีนั้น เห็นจะไม่ได้
จะต้องสร้างต้องทำอะไรกันที่อื่นอีกมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในใจคนทั้งปวง เพราะถ้าใจคนยังไม่เป็นประชาธิปไตยเสียแล้ว รัฐธรรมนูญกี่ร้อยฉบับก็จะไม่ทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยขึ้นมาได้" (ประชาธิปไตยของชาวบ้าน หน้า 92-93)
เมื่อยกเรื่องรัฐธรรมนูญมาว่ากันแล้ว ก็เห็นจะต้องอ้างอิงต่อ ๆ ไปอีก ท่านแสดงความเห็นไว้ต่อไปว่า
"รัฐธรรมนูญนั้น นอกจากจะให้สิทธิแก่คนแล้ว ก็ยังกำหนดหน้าที่ของคนอีกด้วย
รัฐธรรมนูญให้เสรีภาพแก่คนไทย ในขณะเดียวกันก็คุ่มครองเสรีภาพของคน มิให้คนอื่นมาขัดขวางหรือทำลายได้ และรัฐธรรมนูญจะประกันความเสมอภาคในโอกาสและในกฎหมาย ซึ่งเป็นความเสมอภาคที่สำคัญที่สุด" (ประชาธิปไตยของชาวบ้าน หน้า 95)
ตอนนี้ที่เราเห็นออกมาถกเถียงแสดงภูมิรู้กันอยู่ ไม่ได้พูดถึงประเด็นเหล่านี้เลย และบ้านเมืองนี้ก็ไม่ค่อยจะเห็นความเสมอภาคในโอกาสและในกฎหมายอย่างแท้จริงเลย
"รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยจะไม่สามารถแก้ปัญหาของแพง ปัญหาโจรผู้ร้ายชุกชุม ปัญหาคอร์รัปชั่น และอื่น ๆ ได้ หากใครนึกว่า พอประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยแล้ว ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปเอง คนนั้นก็ต้องผิดหวัง
แต่การมีรัฐธรรมนูญที่มีผู้ปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด เพราะทุกคนมีจิตใจเป็นประชาธิปไตยนั้น จะเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น
ตามหน้าที่และภูมิปัญญาความคิดตน และจะทำให้เราได้มาซึ่งรัฐบาลซึ่งจะมีความเดือดร้อนในปัญหาเหล่านี้เท่ากับคนทั่วไปที่เดือดร้อน" (ประชาธิปไตยของชาวบ้าน หน้า 95)
อ่านตรงนี้แล้วก็เข้าใจว่า รัฐธรรมนูญนั้นเป็นเพียงหลักการที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองและชองพลเมืองได้ตามหน้าที่และภูมิปัญญาความคิดของตน ที่สำคัญคือควรจะทำให้ได้รัฐบาลที่เดือดร้อนกับปัญหาของประชาชนจริงๆ มิใช่มีรัฐบาลที่สนใจแต่ความอยู่รอด(ความมั่นคง)ของตัวเอง และผลประโยชน์ของพวกตน ไม่ใส่ใจกับความเดือดร้อนที่ประชาชนกำลังประสบอยู่
การมีหรือไม่มีรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่ตัวปัญหาในระบอบประชาธิปไตย
ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่าสมาชิกในสังคมคือพลเมืองไทยที่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งนั้น มีจิตใจเป็นประชาธิปไตยกันจริงแท้แค่ไหน
"หากมีรัฐธรรมนูญแล้ว และเป็นประชาธิปไตยแล้ว ทุกคนวางมือ เพราะนึกว่าดีแล้ว ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว รัฐบาลของประชาชนที่เดือดร้อนกับประชาชน ก็จะไม่เกิดขึ้นได้ เราอาจจะได้คนที่ฉวยโอกาสจากประชาธิปไตยเข้ามาเป็นรัฐบาลเพื่อประโยชน์อื่น ปัญหาต่าง ๆ ก็คงจะมีต่อไป
แล้วเราเองก็จะเหนื่อยหน่ายต่อระบอบประชาธิปไตย ปล่อยคนอื่นเข้ามาปกครองเอาตามใจ โดยนึกว่าเขาเป็นอัศวินม้าขาวบ้าง หรือผู้วิเศษในทางปัญญาความรู้บ้าง
การทั้งปวงก็จะกลับไปเหมือนแต่ก่อนอีก" ( ประชาธิปไตยของชาวบ้านหน้า 96-97)