ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2568 ความเคลื่อนไหวที่ชายแดนไทย–กัมพูชากลับมาอยู่ในความสนใจของสาธารณชนอีกครั้ง หลังมีการเผยแพร่คลิปเหตุการณ์โต้เถียงระหว่างเจ้าหน้าที่ของทั้งสองประเทศ บริเวณปราสาทตาเมือนธม พร้อมกับกระแสเรียกร้องในสังคมไทยให้ฝ่ายรัฐดำเนินการตอบโต้แบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า สถานการณ์บริเวณชายแดนขณะนี้มีแนวโน้มดีขึ้นในระดับหนึ่ง โดยไม่มีเหตุปะทะรุนแรง แต่ยังคงมีกำลังและอาวุธตรึงพื้นที่อยู่ ซึ่งรัฐบาลไทยต้องการเห็นการปรับลดกำลังในระดับที่สอดคล้องกับความสัมพันธ์อันปกติระหว่างสองประเทศในช่วงปี 2567
ท่าทีดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการวางจุดยืนของไทยบนหลัก “สันติวิธี” และการเจรจาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายในสังคมไทยยังไม่เข้าใจอย่างชัดเจน
ประเด็นที่ได้รับความสนใจไม่น้อยคือ ความคาดหวังของประชาชนที่อยากให้ภาครัฐใช้ “โซเชียลมีเดีย” เป็นเวทีโต้กลับหรือแสดงจุดยืนอย่างแข็งกร้าว แต่รัฐมนตรีต่างประเทศกลับเน้นย้ำว่า การทูตไม่ควรดำเนินผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการ และจะชี้แจงผ่านช่องทางทางการเท่านั้น และขอให้ใช้วิจารณญาณด้วยว่า เมื่อมีการพูด หรือสื่อสารไปแล้ว จะเกิดผลกระทบอย่างไร ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบ และจริยธรรมของแต่ละคน
มีคำถามในสังคมว่า ไทยกำลังตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบบนเวทีโลกหรือไม่ เนื่องจากดูเหมือนไม่มีน้ำเสียงแข็งกร้าวในการสื่อสาร นายมาริษได้ชี้แจงว่า ทั้งตนและโฆษกกระทรวงฯ ได้สื่อสารอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางการทูตกับประชาคมโลก โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับอธิปไตยและความสัมพันธ์ทวิภาคี ซึ่งยังเป็นแนวทางหลักในการคลี่คลายปัญหา
“การใช้โซเชียลมีเดีย เป็นสิทธิของแต่ละคน แต่ถ้าเกิดผลกระทบ ก็ควรรับผิดชอบในสิ่งที่จะเกิดขึ้น และต้องพิจารณาว่า จะต้องตอบโต้ในขั้นใด รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ จะต้องรักษาช่องทางทางการ และเลือกประเด็นการตอบโต้ เพื่อไม่ให้ลำบากต่อการเจรจาในอนาคต”
เราเห็นว่าสถานการณ์ของประเทศไทยกำลังเดินอยู่บนเส้นทางที่ละเอียดอ่อน ไม่เพียงจะต้องงรักษาอธิปไตยและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่จะต้องรักษาความเชื่อมั่นและให้ความมั่นใจกับประชาชนภายในประเทศด้วย