เสรี พงศ์พิศ

FB Seri Phongphit

ฮันนาห์ อาเรนท์ (Hannah Arendt) ผู้เขียนหนังสือ “กำเนิดลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จ” (The Origins of Totalitarianism) วิเคราะห์ความชั่วร้ายของนาซีเยอรมันและสตาลินโซเวียต บอกไว้ชัดเจนว่า ระบบเผด็จการไม่เกิดขึ้นเพราะมีปีศาจคนเดียว แต่เพราะสังคมทั้งระบบยอมรับ “การไม่คิด”

ทำให้พอเข้าใจว่า ทำไมคนอเมริกันถึงเลือกโดนัลด์ ทรัมป์ และยังสนับสนุนเขา และทำไม ผู้คนในประเทศต่างๆ ไม่ว่าระบอบการเมืองใด จึงยังคง “สงบเงียบ” หรือ “เชื่อฟัง” ผู้นำ รัฐบาล “แบบไม่คิด” ตามความหมายของอาเรนท์

อาเรนท์บอกว่า “การรู้ (knowing) ไม่ใช่การคิด (thinking) เพราะการรู้ (knowing) ในที่นี้หมายถึง การสะสมข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือความรู้ที่ “มีคำตอบอยู่แล้ว” เช่น รู้ว่าน้ำเดือดที่ 100 องศาเซลเซียส  การรู้ คือการ “มีความแน่นอน” หรือ “ความจริงที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว”  เป็นกิจกรรมที่จบลงได้ มีคำตอบ เป็นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ และการศึกษาในแบบระบบ

แต่ “การคิด” (thinking) สำหรับอาเรนท์คือ การใคร่ครวญด้วยตัวเอง ไม่ใช่การจำหรือท่องความรู้ เป็นกิจกรรม ไม่มีจุดจบแน่นอน  เป็นกระบวนการที่มุ่งหาความหมายมากกว่าคำตอบ

เธอยกตัวอย่าง โสเครติส ว่าเป็นนักคิด ไม่ใช่นักรู้ เพราะเขาไม่ได้ให้คำตอบแก่ใคร แต่กระตุ้นให้คนอื่นตั้งคำถามกับตัวเอง เช่น “อะไรคือความยุติธรรม”  “ชีวิตที่ดีคืออะไร?”

การคิด จึงเชื่อมโยงกับ การคิดแบบวิพากษ์ (critical thinking) การไตร่ตรองทางจริยธรรม (ethical reflection) และการตัดสิน (judgment)

อาเรนท์เน้นความแตกต่างระหว่าง “รู้” กับ “คิด” เพราะในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ โดยเฉพาะในยุคของเธอ (ยุคนาซี) มีคนจำนวนมากที่ “รู้” ทุกอย่าง ทำงานตามคำสั่ง มีความรู้ทางเทคนิค  แต่ “ไม่คิด” ว่าสิ่งที่ทำอยู่ชอบธรรมหรือไม่

ตัวอย่างที่เธอพูดถึงคือ Adolf Eichmann เจ้าหน้าที่นาซีที่มีส่วนสำคัญในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (ที่เธอไปฟังการดำนินคดีที่เยรุซาเล็มในปี 1961) เธอมองว่า เขาไม่ได้โหดเหี้ยมแบบสัตว์ร้าย หรือเป็น “ปีศาจ” แต่เขา “ไม่คิด” เขาแค่ “รู้หน้าที่” และ “ทำตามระบบ” ซึ่งไม่ได้หมายความว่าดีกว่า “สัตว์ร้าย” หรือ “ปีศาจ”

อาเรนท์จึงใช้คำว่า “banality of evil” ความเลวร้ายที่เกิดจากความธรรมดา คือ การไม่คิด  หากจะใช้ในชีวิตจริง  อาเรนท์เตือนเราว่า “อย่าหยุดแค่การรู้ แต่จงคิด” อย่าทำตามระบบเพียงเพราะ “เขาว่าดี” หรือ “ทุกคนทำ” จงถามตัวเองว่า “สิ่งนี้ดีจริงหรือไม่” แม้ทุกคนจะบอกว่าดี

นี่คือหัวใจของการมีมโนธรรม (conscience) และจิตสำนึก (consciousness) ในความรับผิดชอบ ซึ่งอาเรนท์ถือว่าเป็นหัวใจของมนุษย์ในโลกสมัยใหม่

ถ้าเธอมีชีวิตอยู่วันนี้ที่โดนัลด์ ทรัมป์ มีอิทธิพลในสหรัฐฯ เธอน่าจะรู้สึก “คุ้นๆ” กับปรากฏการณ์นี้ และวิพากษ์มันอย่างลึกซึ้ง เช่นเดียวกับที่เธอเคยวิพากษ์ฮิตเลอร์และสตาลินใน “ต้นกำเนิดของลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จ” (The Origins of Totalitarianism)

แต่ควรเข้าใจด้วยว่า อาเรนท์ไม่สนใจแค่ผู้นำ แต่สนใจ “สังคมที่ยอมรับผู้นำเช่นนั้น” ในสายตาของอาเรนท์ คำถามสำคัญไม่ใช่แค่ว่า “ทรัมป์เป็นเหมือนฮิตเลอร์หรือไม่” แต่ว่า “ทำไมคนจำนวนมากถึงยอมรับผู้นำที่พูดโกหกเป็นนิจ ทำลายหลักเหตุผล และใช้วาทกรรมเกลียดชัง”

ในทัศนะของอาเรนท์หรือคนที่คิดแบบอาเรนท์ โดนัลด์ ทรัมป์ มีลักษณะคล้าย “เผด็จการประชานิยม” คือ ใช้คำโกหกซ้ำๆ จนกลายเป็น “ความจริงใหม่”

อาเรนท์เคยเตือนว่า “เมื่อใดที่เราสูญเสียความสามารถในการแยกแยะระหว่างความจริงกับเรื่องแต่ง เมื่อนั้นผู้คนก็จะสูญเสียเข็มทิศทางศีลธรรมของตนไป” (Once we lose the distinction between fact and fiction, people will lose their moral compass.)   

ประโยคนี้เตือนว่า ถ้าสังคมสับสนว่าอะไรจริงหรือไม่จริงได้ง่ายๆ สุดท้ายก็จะไม่รู้ว่าอะไรดีหรือเลว เพราะ “พื้นฐานของศีลธรรม” พังทลาย เป็นคำเตือนที่สำคัญมากในยุคโซเชียลมีเดียที่เต็มไปด้วยข่าวปลอม วาทกรรมบิดเบือน และโฆษณาชวนเชื่อ ที่สร้าง “โลกคู่ขนาน” ของความจริง (alternative facts)

อาเรนท์บอกว่า นี่คือสภาวะที่อันตรายมาก เพราะ “ลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จเริ่มจากการทำลายความจริง” ปลุกปั่นความกลัว เกลียดชังคนต่างชาติ ต่างศาสนา เช่นเดียวกับฮิตเลอร์ ที่ใช้ยิวเป็นแพะรับบาป
ทรัมป์ใช้ เม็กซิกัน, มุสลิม, จีน เพื่อรวมศูนย์ความโกรธของคนอเมริกัน

บิดเบือนแนวคิด “ชาติ” และ “ความยิ่งใหญ่” แนวทางแบบ "Make America Great Again" เหมือน “Volk” ของนาซีเยอรมัน ชาติในฝันฮิตเลอร์ แบบ “โหยหาสวรรค์หาย” (Yearning for the lost paradise)

อาเรน์คงไม่คิดว่าทรัมป์เป็นฮิตเลอร์ แต่เขาใช้กลไกคล้ายกัน เช่น โฆษณาชวนเชื่อ วาทกรรมชาตินิยม การทำลายความจริง โกหกจนตัวเองและประชาชนจำนวนมากเชื่อว่าจริง

สิ่งน่ากลัวที่สุดคือ ความเฉยชา การไม่คิด และความยอมรับของประชาชน (ตามแนวคิด “อำนาจนำทางวัฒนธรรม” ของกรัมชี cultural hegemony ที่ครอบงำความคิด ระบบคุณค่า จนคนไม่ตั้งคำถาม ต่อต้าน)

สิ่งที่อาเรนท์วิพากษ์อย่างแรง คือ “การไม่คิดของประชาชน” เธอกล่าวถึง “banality of evil” คนธรรมดาที่ไม่โหดเหี้ยม แต่ “ไม่คิด” ไม่ตั้งคำถาม แค่ทำตามหน้าที่อย่างเครื่องจักร ทำให้อาชญากรรมใหญ่หลวงเกิดขึ้นได้โดยไม่รู้สึกผิด

อาเรนท์อาจมองว่า คนอเมริกันที่เลือกทรัมป์ “ไม่ได้เป็นคนชั่ว”  แต่พวกเขาอาจหยุดคิด หลงเชื่อวาทกรรม และโอนอ่อนต่อความสะดวกทางอารมณ์ อยู่ในโซนสบายของตน บ่นและบอกว่า “ไม่เป็นไรฉันไม่แคร์” “ฉันไม่เกี่ยว” 

อันตรายของเผด็จการใหม่ในศตวรรษนี้คือ “เผด็จการผ่านประชาธิปไตย” ประชาชนโหวตให้พรรคการเมืองและระบอบที่ทำลายเสรีภาพของตนเอง