ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำคณะการทูตและการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต
หากจะพูดถึงความมั่นคงในศตวรรษที่ 21 คงไม่ใช่เพียงเรื่องของอาวุธนิวเคลียร์ กองกำลังทางทหาร หรือพรมแดนทางกายภาพอีกต่อไป แต่ประเด็นด้านความมั่นคงได้ขยายไปสู่พื้นที่ใหม่ที่ไม่อาจจับต้องได้ — เทคโนโลยี โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ได้กลายเป็น “สมรภูมิใหม่” ที่กำหนดพลวัตของอำนาจในระดับโลก และกำลังเปลี่ยนแปลงสมการของความมั่นคงและการเมืองระหว่างประเทศอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ความมั่นคงเชิงเทคโนโลยี = นิยามใหม่ของอำนาจ?
ในอดีต ตัวชี้วัดอำนาจของรัฐประกอบไปด้วย จำนวนคน กำลังทหาร เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี โดยมักเทน้ำหนักไปที่ปัจจัยด้านกำลังทหารและเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ในปัจจุบัน “อำนาจทางเทคโนโลยี” ได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญของการแข่งขันทางอำนาจของรัฐ ที่กล่าวได้ว่าน่าจะแซงความสำคัญของปัจจัยอื่นๆไปเสียสิ้น เนื่องด้วยรัฐที่สามารถพัฒนาและควบคุมเทคโนโลยีชั้นสูงได้ ก็จะได้เปรียบเชิงเศรษฐกิจและกำลังทหารอีกทั้งยังมีเทคโนโลยีที่จะทดแทนคนจำนวนมากได้ตามไปด้วย เทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ AI, ควอนตัมคอมพิวเตอร์, ดาวเทียมสื่อสาร และอาวุธทางไซเบอร์ จะสามารถสร้างอิทธิพลทางยุทธศาสตร์ต่อรัฐอื่นได้ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร การข่าวกรอง และแม้แต่การบงการพฤติกรรมของประชากร
จึงไม่แปลกที่เทคโนโลยีจะถูกมองว่า เป็นนิยามใหม่ของอำนาจ
จีนและสหรัฐอเมริกาต่างเข้าสู่การแข่งขันครั้งนี้อย่างเข้มข้น โดยสหรัฐฯ มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีโดยใช้กลไกตลาดและการร่วมมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Google, Microsoft และ OpenAI ขณะที่จีนใช้กลไกรัฐรวมศูนย์ และการสนับสนุนจากรัฐทั้งในด้านงบประมาณและการควบคุมข้อมูล ซึ่งทำให้เกิดความกังวลในหมู่ประเทศประชาธิปไตยว่าเทคโนโลยีอาจถูกนำไปใช้ในการควบคุมและสอดแนมประชาชนในวงกว้าง
ปัญญาประดิษฐ์: โอกาส หรือ ภัยคุกคาม?
AI กลายเป็นดาบสองคมในเวทีความมั่นคงระหว่างประเทศ ด้านหนึ่ง AI มีศักยภาพในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ลดต้นทุนในการป้องกันประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยงานด้านความมั่นคง แต่อีกด้านหนึ่ง AI อาจถูกนำไปใช้ใน “สงครามลูกผสม” (Hybrid Warfare) เช่น การปล่อยข้อมูลเท็จผ่าน Deepfake การโจมตีทางไซเบอร์แบบอัตโนมัติ หรือการสังหารเป้าหมายโดยไม่ต้องพึ่งมนุษย์ จนทำให้เกิดคำถามเชิงจริยธรรมและความรับผิดชอบทางกฎหมายของรัฐอย่างมากมาย อาทิ กรณีของการใช้ AI ในระบบอาวุธไร้คนบังคับ (Autonomous Weapon Systems) ที่ได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงในสหประชาชาติ หลายประเทศรวมถึงกลุ่ม NGO ต่างๆ ต่างเรียกร้องให้มีการควบคุมหรือห้ามใช้อาวุธดังกล่าวโดยเด็ดขาด เนื่องจากอาจละเมิดหลักมนุษยธรรมในการทำสงคราม แต่ในทางกลับกัน รัฐมหาอำนาจกลับมองว่านี่คือ “ความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์” ที่ไม่อาจปล่อยผ่านได้
นอกจากนี้ การแข่งขันด้านเทคโนโลยีได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าสนใจต่อนโยบายทั้งด้านการต่างประเทศและการค้า ตลอดจนที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบของพันธมิตรระหว่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ และพันธมิตรในยุโรป ได้จัดตั้งกลุ่ม “Chip 4” ร่วมกับเกาหลีใต้และไต้หวัน เพื่อควบคุมห่วงโซ่อุปทานของเซมิคอนดักเตอร์ ในขณะที่จีนได้ผลักดันนโยบาย “การพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยี” เพื่อลดการพึ่งพาภายนอกและหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรจากตะวันตก หรือแม้แต่ มาตรการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ต่อบริษัทจีน เช่น การห้าม NVIDIA ส่งชิป AI ให้กับจีน หรือการกีดกัน Huawei จากโครงข่าย 5G เหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ต่อไปในอนาคต
บทสรุป: ความมั่นคงในยุคเทคโนโลยี
ความมั่นคงระหว่างประเทศในยุคสมัยนี้ไม่สามารถมองผ่านเลนส์ของทหารหรือภูมิรัฐศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของอำนาจในมิติของข้อมูล เทคโนโลยี และจริยธรรม รัฐที่สามารถปรับตัวและกำหนดทิศทางของเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับภัยคุกคามในปัจจุบันตลอดจนหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนได้ จะเป็นรัฐที่สามารถรักษาเสถียรภาพในระยะยาวได้ อย่างไรก็ดี รัฐควรพัฒนาความสามารถของตนในด้านการป้องกันตนเองจากภัยคุกคามที่มาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อให้เกิดศักยภาพสูงสุด
สำหรับประเทศไทย คำถามสำคัญคือ เราจะวางยุทธศาสตร์ของเราในเวทีเทคโนโลยีโลกอย่างไร จะเลือกข้าง หรือจะหาจุดสมดุลระหว่างการแข่งขันและความร่วมมือ รวมไปจนถึง เราจะมีอิสระทางเทคโนโลยีได้อย่างไร หรือเราอาจต้องลงทุนกับการศึกษาวิจัยมากขึ้น และที่สำคัญที่สุด คือเราจะสร้างระบบนิเวศเทคโนโลยีที่ปลอดภัย โปร่งใส และเป็นธรรมได้อย่างไร — เพราะในท้ายที่สุด ความมั่นคงไม่ใช่เรื่องของใครคนหนึ่ง แต่คือโครงสร้างร่วมที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการปกป้อง เพื่อความปลอดภัยและประโยชน์ที่ยั่งยืนของส่วนรวม
เอวัง