คนไทยทุกคนทราบดีว่า เราจำเป็นต้องมีโรงพยาบาลเอกชน เพื่อเป็นทางเลือกเพื่อให้บริการกับประชาชนในทุกระดับ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่า ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนนั้นมีอัตราสูงกว่าโรงพยาบาลของรัฐ และบางแห่งก็สูงเกินจนไม่สมเหตุสมผล โดยเฉพาะกรณีของประชาชนที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องเข้ารับการรักษาฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ หรือด้วยอาการของโรคต่างๆ ทั้งที่ไม่มีความพร้อม อาจต้องประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายตามมา ข้อมูลจาก สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อ้างอิงถึงคณะแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดีระบุว่า ราคายาของโรงพยาบาลเอกชนที่สูงมากกว่าโรงพยาบาลรัฐถึง 70-400 เท่า แต่จะทำอย่างไรให้ราคายา และเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์มีความเป็นธรรม ในขณะที่คุณภาพในการรักษาพยาบาลได้มาตรฐาน เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้นำยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เข้าเป็นสินค้าและบริการควบคุม ตามที่กระทรวงพาณิชย์ โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เสนอ ด้วยเล็งเห็นว่าปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชน มีการคิดราคาแพง ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ล่าสุด ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ที่มีกรรมการจากกระทรวงสาธารณสุข สมาคมประกัน ตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีมติเสนอมาตรการที่จะนำมาใช้ในการกำกับดูแล เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภคที่เข้าไปใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชน 3 มาตรการ มาตรการที่ 1 การดูแลในเรื่องราคายาและเวชภัณฑ์ จะมีการนำราคาของยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ซึ่งเบื้องต้นจะมีประมาณ 1,000 รายการ และส่วนใหญ่เป็นยาและค่ารักษาพยาบาลที่ประชาชนต้องใช้บริการกันเป็นจำนวนมาก โดยจะนำขึ้นเผยแพร่ในเว็บไซต์กลางและเว็บไซต์ของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่ง เพื่อให้เปรียบเทียบราคาได้ จากนั้นจะเพิ่มรายการที่เหลือเข้าไป มาตรการที่ 2 การเพิ่มช่องทางการร้องเรียนกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จะใช้ช่องทางผ่านสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 โดยหากประชาชนที่เข้าไปใช้บริการแล้วพบว่ามีการคิดราคาที่สูงเกินจริง สามารถร้องเรียนเข้ามาได้ และหากเห็นว่ามีราคาสูงจริง ก็จะเข้าไปตรวจสอบ และขอให้โรงพยาบาลทำการชี้แจงต้นทุนได้ หากพบว่าไม่เหมาะสม ก็จะมีมาตรการทางกฎหมายเข้าไปจัดการต่อไป มาตรการที่ 3 การกระตุ้นให้ผู้บริโภครู้จักสิทธิ์ของตัวเองในเรื่องการซื้อยา จะรณรงค์ให้ผู้บริโภครู้ว่าในการเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล และหากต้องใช้ยาเพื่อการรักษา สามารถที่จะขอให้แพทย์เขียนใบสั่งยา เพื่อให้ผู้ป่วยไปซื้อยานอกโรงพยาบาลได้ แต่ที่ผ่านมา ไม่ค่อยมีใครกล้าปฏิเสธ ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิ์ที่ทำได้ และไม่ได้มีกฎหมายห้ามไว้ ซึ่งหากรณรงค์ทำให้ผู้บริโภครู้จักสิทธิ์ของตัวเอง ก็จะทำให้โรงพยาบาลเอกชนไม่กล้าคิดราคายาที่แพงกว่าปกติ เพราะหากแพง ผู้ป่วยก็สามารถที่จะไปซื้อยาข้างนอกได้ ทั้งนี้ 3 มาตรการดังกล่าว เป็นเพียงมาตรการเบื้องต้น จะต้องมีมาตรการเพิ่มเติมในอนาคต และจะต้องมีการประเมินผลของมาตรการดังกล่าว แต่นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการแก้ปัญหาสิทธิและโอกาสในการรักษาพยาบาล รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่เป็นปัญหาสะสมและหมักหมมในสังคมไทยมายาวนาน