สถาพร ศรีสัจจัง
สาวก โยฮ้น เทวนันทะ-กวีผู้รจนาบทกวีร้อยแก้วขนาดยาวเรื่อง"Violent Lanka : The Day for Slaughter" ที่วิทยากร เขียงกูล เป็น “บรรณาธิการแปล” เป็นพากย์ไทยไว้ในชื่อ "ลังกาวิกฤต : วันสังหารประชาชน" และจัดพิมพ์ครั้งแรกโดยมูลนิธิโกมล คีมทอง เมื่อเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.2517 (หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516ไม่กี่เดือน)นั้น เปิดถ้อยคำกวีบทแรกเพื่ออธิบายสิ่งที่ท่านเห็นว่าเป็น “ภาพวิกฤติทางสังคม” ของประเทศศรี ลังกา ในปี พ.ศ.2514 ดังนี้
"เมื่อคนจน/เก็บมะพร้าวเพียงสองสามผล/จากที่ดินของเพื่อนบ้านผู้มั่งคั่ง/เพื่อจะนำไปเลี้ยงบุตรน้อยที่อดโซ/สิ่งนั้นถูกเรียกว่า “การลักขโมย” /ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย/เขาต้องกลายเป็นผู้ต้องหา/โทษของเขาอาจต้องถึงจำคุก"
และตามด้วยท่อนที่ 2 (หรือท่อนแย้ง)ว่า
“เมื่อคนรวย/ดำรงชีวิตอย่างเสเพล ฟุ้งเฟ้อ/บริโภคสิ่งที่เกินความจำเป็นในชีวิตอย่างไร้ขอบเขต/ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อาหาร หรือความบันเทิง/ขณะที่คนอื่นอดตาย เปล่าเปลือย และทุกข์ทรมาน/สิ่งนั้นถูกเรียกว่า “ถูกต้องตามกฎหมาย”/ไม่มีกฎหมายฉบับใด/ที่จะกล่าวหาพวกเขา…”
ภาพการนำเสนอด้วยท่วงทำนองบทกวีที่เปี่ยมไปด้วยคำ และ “ความ” ที่เรียบๆง่ายๆนี้ สะท้อนให้เห็นถึงภาพความ “วิกฤติ” ทางสังคมด้านคุณธรรม-จริยธรรมอย่างตรงประเด็น ชัดแจ้ง และอย่างน่าเจ็บปวดยิ่งนัก(สำหรับผู้ที่ความคิดจิตใจผ่านการ “เรียนรู้” แบบ “มนุษย์” ที่มีความแตกต่างจาก'เดรัจฉาน “มาหลายชั่วอายุของสายพันธุ์” โฮโม เซเปี้ยน'แล้ว)
คำถาม-วันนี้ของสังคมไทย ปัญหาเช่นที่ว่านี้ยังคงเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างชัดแจ้งเป็นรูปธรรม หรือไม่?
บทกวียังกล่าวต่อไปอีกว่า
"…เมื่อนักการเมืองและข้ารัฐการ/ไม่ว่าพรรคใดก็ตาม ได้เป็นรัฐบาล/ละเลยต่อความต้องการขั้นพื้นฐาน และข้อร้องขอของประชาชน/อย่างกว้างขวาง/ทุกๆวันมา และเป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยไป/นั่น…ไม่เรียกว่าความรุนแรง/เพราะไม่มีการทำร้ายแต่อย่างใด/ที่มองเห็นเป็นรูปร่าง/แต่การทำร้ายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น/ในเมื่อ/กำลัง อำนาจ และอิทธิพลทั้งหมด/ยืนอยู่ข้างเขาแล้ว/กำลังกองทัพและตำรวจ/ก็ยืนอยู่เบื้องหลังเขาด้วย"
แล้วยังต่อความอย่างชวนสังเวชใจยิ่งขึ้นไปอีก ว่า
" เมื่อผู้นำทางศาสนาทั้งหลาย/มหาสังฆนายก พระผู้ทรงฐานันดรศักดิ์/คณะกรรมการวัด และทายกสภา/ผู้ห่วงใยแต่ผลประโยชน์ของวัด/พยายามยัดเยียดความกดดันทางศีลธรรมให้ประชาชน/ในนามของศาสนาและศานติธรรม/นั้นไม่ถูกเรียกว่าความรุนแรง…พวกเขาพร่ำบ่นไปเรื่อยไม่รู้จบสิ้น ด้วยวลีที่ว่างเปล่า/ด้วยภาษาที่ล้าสมัย/ตามหลักเกณฑ์ซึ่งคลุมเครือ…และพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ อันปราศจากประโยชน์/เรี่ยไรเงินอย่างไม่หยุดหย่อน/จากประชาชน/เพื่อก่อสร้างอาคารและสถาบันศักดิ์สิทธิ์/เพื่อพยุง ฐานะและศักดิ์ศรีของตนไว้…
และสรุปความลงว่า
"…ผู้นำทางศาสนาของเราโดยมาก/จึงเป็นพวกตีตนออกจากประชาชน ตีนไม่ติดดิน/ไม่ห่วงใยใคร…"
ทั้งยังสรุปเป็นความเห็นเชิงองค์รวมอย่างสำคัญยิ่งในช่วงกลางๆเรื่องของบทนิพนธ์ไว้ว่า
“…ถ้าจะกล่าวกันโดยสรุปแล้วก็ต้องว่า /ระบบทั้งหมดเลว!/ไม่ว่าในด้านนิติธรรม หรือระเบียบปฏิบัติของสังคม/ระบบย่อมครอบงำปัจเจกบุคคล/การครอบงำบุคคลโดยระบบนั้นวางอยู่บนพื้นฐานของ/การใช้อำนาจรุนแรง/มันเป็นความรุนแรง/ที่แฝงเร้นและแยบยล/จนคนทั่วไป ไม่สังเกตเห็นว่านั่นเป็นความรุนแรง!"
หรือสังคมไทยวันนี้-จะไม่ตกอยู่ในสภาพ"วิกฤต"ดังที่กวีได้พร่ำพรรณนาให้เห็น?
ยิ่งความตอนท้ายๆของบทกวีที่ว่า…
"มีนักรัฐศาสตร์ผู้หนึ่งสรุปว่า/"อาณาจักรคือสมบัติของโจร"/ดังนั้นกฎหมายและระเบียบแบบแผนจึงถูกบัญญัติขึ้นมา/แม้แต่ความอยุติธรรมก็ถูกบัญญัติไว้/ความไร้ระเบียบถูกบัญญัติไว้ ถูกทำให้เป็นสถาบัน/การกดขี่กันอย่างดื้อๆ/ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังหน้ากาก/ของกฎหมายและจารีตประเพณี/มันเป็นเช่นนี้เรื่อยมา ไม่ว่าจะยุคสมัยใด…"
หรือจะไม่ช่วยชี้อธิบายถึงสภาพวิกฤตสังคมไทยปัจจุบัน!?
แต่ “คำถาม” ส่งท้ายที่น่าจะเป็นคำถามสำหรับ “วิกฤติสังคมไทย” วันนี้อย่างแท้จริง ก็คือท่อนหนึ่งของ “ความ” ที่สำคัญยิ่งซึ่งกวีผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตุให้ไว้…ที่ว่า
“…ยังจะยังมีวิกฤติการณ์
หายนภัยและโศกนาฎกรรมอีกสักเท่าใด
ที่เราจักต้องฟันฝ่า
ก่อนที่จะได้เรียนรู้
อีกนานสักเท่าใด
ที่เราจะยังพอใจ
กับความคิดที่ลดค่าความเป็นมนุษย์
ความคิดที่เชื่อว่า การคดโกงฉ้อฉล
เป็นธาตุแท้ของมนุษย์…”
ขอบคุณหนังสือเล่มน้อยที่แสนจะทรงคุณค่าที่ชื่อ “ลังกาวิกฤต : วันสังหารประชาชน” ของมูลนิธิโกมล คีมทอง และขอกราบคารวะ “สาวก โย ฮัน เทวนันทะ” กวีแห่งแห่งประเทศศรี ลังกา ผู้ชี้ภาพวิกฤติของสังคมศรี ลังกา จนสามารถส่องเห็น “วิกฤติสังคมไทย” และสังคมโลกวันนี้ อย่างลุ่มลึกจริงใจ และ อย่างมีหัวใจเพื่อประชาชนแบบไม่แฝงเร้นเงื่อนไขอื่นไว้ ณ เบื้องนี้อีกครั้ง!!!