รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
วันที่โลกเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะจากเทคโนโลยี ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ คำถามสำคัญที่ต้องตอบให้ได้ คือ จะสร้าง “คน” แบบไหนให้พร้อมรับมืออนาคต? เพราะยุคนี้ทุกสิ่งเชื่อมโยงถึงกันและความไม่แน่นอนกลายเป็นเรื่องปกติ คนต้องไม่มีเพียงความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ แต่ต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์และมีจริยธรรมด้วย
แนวคิด STEAM ต่อยอดจาก STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics) โดยเพิ่ม A (Arts) พร้อมบูรณาการศาสตร์ด้านมนุษยศาสตร์และศีลธรรม กลายเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษา เพราะ STEAM Education ไม่ได้มุ่งผลิตเพียงนักเทคโนโลยีนักวิทยาศาสตร์ แต่มุ่งสร้างพลเมืองที่คิดเชิงสร้างสรรค์ แก้ปัญหาอย่างเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจความซับซ้อนของโลก
หลายประเทศแสดงให้เห็นผลลัพธ์ของ STEAM อย่างเป็นรูปธรรม เช่น จีน ที่ยกระดับ STEM เป็นยุทธศาสตร์ชาติ โดยในปี 2016 กระทรวงศึกษาธิการจีนประกาศใช้แผน The 13th Fifth Year Plan for Education in the Information Age เพื่อผลักดันการศึกษา STEM ข้ามสาขา และปีต่อมา ได้บรรจุวิชาเทคโนโลยีและวิศวกรรมในหลักสูตรประถมและมัธยมเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ จีนยังลงทุนด้าน R&D อย่างมหาศาล โดยรัฐบาลกลางร่วมกับมหาวิทยาลัยและภาคธุรกิจ มุ่งพัฒนาเทคโนโลยียุทธศาสตร์ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์ไร้คนขับ และหุ่นยนต์ แม้จะไม่มีตัวเลขแน่ชัดเกี่ยวกับจำนวนโรงเรียนที่ใช้ STEAM/STEM แต่รายงานของกระทรวงศึกษาธิการจีนปี 2023 ระบุว่าจีนมีโรงเรียนกว่า 498,300 แห่ง และนักเรียน 291 ล้านคน ซึ่งบ่งชี้ถึงขนาดของระบบการศึกษาที่ครอบคลุมหลักสูตรดังกล่าวได้ในวงกว้าง ผลลัพธ์คือ วันนี้จีนก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านสิทธิบัตรโลก มีสิทธิบัตรจดใหม่กว่า 1.4 ล้านรายการต่อปี
ใน สหราชอาณาจักร รัฐบาลผลักดัน Creative Industries Sector Deal อย่างเป็นทางการในปี 2018 ภายใต้นโยบาย Industrial Strategy เน้นบูรณาการศิลปะกับเทคโนโลยี เช่น AR/VR ผ่านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนา “creative skills of the future” รายงานของกระทรวงวัฒนธรรม สื่อ และการกีฬา (Department of Culture, Media and sport - DCMS) ในปี 2019 ระบุว่า Creative Industries สร้างมูลค่ามากกว่า 115.9 พันล้านปอนด์ต่อปี และสร้างการจ้างงานกว่า 2.3 ล้านตำแหน่ง
ส่วน แคนาดา แสดงให้เห็นความสำเร็จผ่านโครงการ CanCode ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลแคนาดาเริ่มดำเนินการในปี 2017 เพื่อให้เยาวชนทั่วประเทศได้เรียนรู้ทักษะโค้ดดิ้งและดิจิทัล โครงการนี้ดำเนินการโดยรัฐบาลโดยตรงและให้ทุนแก่องค์กรไม่แสวงหากำไรและสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาหลักสูตรและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ข้อมูลจาก Innovation, Science and Economic Development Canada หรือ ISED ระบุว่า ณ เดือนมีนาคม 2022 โครงการ CanCode เข้าถึงเยาวชนกว่า 4.5 ล้านคน และฝึกอบรมครูมากกว่า 190,000 คน ทั่วประเทศ ซึ่งเกินเป้าหมายเดิมที่คาดไว้ว่าจะมีเพียง 2 ล้านคน นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังชี้ว่าเด็กกว่า 65% สนใจอาชีพด้านนวัตกรรมเพื่อสังคม และกว่า 90% แสดงทักษะดิจิทัลขั้นพื้นฐานได้สำเร็จ
กล่าวได้ว่า STEAM คือกลไกสำคัญการสร้างศักยภาพมนุษย์ที่พร้อมแข่งขันในโลกอนาคต ทั้งในแง่ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และความเป็นมนุษย์ เพราะการศึกษาที่ดีไม่ควรแยกมนุษยศาสตร์ออกจากวิทยาศาสตร์ แต่ต้องเชื่อมโยงทั้งสองด้านเพื่อสร้างสมดุลระหว่างทักษะและคุณธรรม และเมื่อพิจารณาจากรายงานของ OECD (2020) ก็ย้ำว่าทักษะสำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 21 คือการคิดเชิงสร้างสรรค์และการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่ง STEAM ช่วยปลูกฝังได้ตรงจุด หลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ฟินแลนด์ สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์
ต่างปรับนโยบายการศึกษาสู่ STEAM อย่างจริงจัง เพื่อเตรียมคนให้พร้อมสำหรับตลาดงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ยูเนสโก (UNESCO) ก็ประกาศให้การศึกษาแบบ STEAM เป็นแนวทางหลักในการพัฒนาทักษะเด็กและเยาวชนทั่วโลก เพราะสามารถส่งเสริมทั้งสมรรถนะด้านดิจิทัล ความเข้าใจวัฒนธรรม และจริยธรรมได้ในเวลาเดียวกัน
สำหรับประเทศไทย แม้จะมีนโยบาย Thailand 4.0 ที่เน้นขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม แต่รายงานของ World Economic Forum (2023) ระบุว่าทักษะความคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนของแรงงานไทยยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอาเซียน ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2566) ชี้ว่าโรงเรียนในชนบทกว่า 40% ขาดอุปกรณ์การเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้างเด็กไทยที่คิดเป็นและแก้ปัญหาได้อย่างรอบด้าน
หากประเทศไทยต้องการให้เด็กมีศักยภาพครบทั้งความรู้ ทักษะ และคุณธรรม STEAM Education น่าจะเป็นทางเลือกที่ช่วยให้รอดสำหรับอนาคต ผ่านการดำเนินการอย่างเป็นระบบใน 4 มิติ ได้แก่ ปฏิรูปหลักสูตรอุดมศึกษาให้บูรณาการ Humanities และ Ethics กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างโอกาสให้ครูและอาจารย์เข้าถึงการอบรม STEAM อย่างทั่วถึง จัดหาอุปกรณ์การเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ให้โรงเรียนชนบท และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้จากปัญหาจริง
ในยุคที่ความไม่แน่นอนกลายเป็นเรื่องปกติ การมี “คนที่คิดเป็น ทำเป็น และเป็นคนดี” คือหลักประกันที่มั่นคงที่สุดของประเทศ หวังว่า STEAM Education จะเป็นคำตอบที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ เพราะนี่คือ...ประเด็นเชิงนโยบายและแนวคิดสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นในกิจกรรม ‘ปาฐกถาพิเศษศิโรจน์ ผลพันธิน’ ในหัวข้อ “บทบาทอุดมศึกษาไทยกับการพัฒนาประเทศ” ที่เพิ่งจัดขึ้นครับ...