การที่สำนักงบประมาณออกคำสั่งด่วนที่สุด ให้ถอนเรื่องโครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2568 วงเงินกว่า 51,584 ล้านบาท ถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่อาจมองข้ามในเชิงโครงสร้างการใช้งบประมาณแผ่นดิน โดยเฉพาะเมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติรับไต่สวนข้อกล่าวหา “ส่อขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 144” ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบโดยมีรายชื่อนักการเมืองพรรคเพื่อไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง

คำถามสำคัญจึงไม่ใช่แค่เรื่อง “ผิดหรือไม่ผิด” แต่คือ "ระบบการจัดงบประมาณมีจุดอ่อนตรงไหน?" และ "จะป้องกันการเมืองแทรกงบได้อย่างไร?"

โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบจากภัยแล้งทั่วประเทศ และได้รับอนุมัติโดย ครม. ไปแล้วกว่า 28,990 โครงการย่อย ทั่วประเทศในระยะเวลาเร่งด่วน ภายใต้การดูแลของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

แต่ข้อกล่าวหาที่ว่า "มีการจัดสรรงบประมาณให้ ส.ส. พรรคการเมืองรายละ 50 ล้านบาท" อาจทำให้โครงการนี้หมดความน่าเชื่อถือในสายตาประชาชนทันที ไม่ว่าผลการสอบสวนจะออกมาเช่นไร

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 144 ระบุชัดเจนว่า ส.ส. ห้ามแทรกแซงการใช้งบประมาณ หรือเสนอแนะในลักษณะที่เป็นการล็อกเป้าหมายการใช้จ่ายโดยตรง เพราะจะกลายเป็นการใช้งบเพื่อ “ตอบแทน” หรือ “ต่อรอง” ซึ่งบั่นทอนหลักธรรมาภิบาลของภาครัฐ

คำกล่าวหาที่ว่า มี ส.ส. แบบแบ่งเขตของพรรคเพื่อไทยบางรายได้จัดสรรงบคนละ 50 ล้านบาท แม้ยังอยู่ระหว่างการไต่สวน แต่ก็ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงระบบที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

การที่สำนักงบประมาณสั่ง “ถอนเรื่อง” เท่ากับว่า 28,990 โครงการทั่วประเทศอาจต้อง “หยุดชะงัก” แม้จะอยู่ในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง ขณะที่หน่วยงานท้องถิ่น อบจ. และประชาชนในพื้นที่ กำลังตั้งความหวังกับการจัดสรรงบดังกล่าว

การจะตัดวงจรไม่ให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงงบประมาณ ต้องผลักดันระบบงบประมาณแบบมีส่วนร่วม ให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนเสนอแผน เพื่อป้องกันการล็อกงบเฉพาะกลุ่ม และมีการเปิดเผยข้อมูลโครงการทั้งหมดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

กระนั้น ทุกฝ่ายต้องตระหนักการใช้งบประมาณแผ่นดินต้องไม่ใช่ "ของขวัญ" สำหรับนักการเมือง แต่ต้องเป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน หากรัฐไม่สามารถจัดระบบป้องกันการเมืองแทรกงบได้ ก็จะส่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของรัฐและฝ่ายนิติบัญญัติ