ทองแถม นาถจำนง วันนี้มีเรื่องน่าคิดมาสะกิดใจท่านเรื่องหนึ่ง “ความดีเท่านั้น ที่จะทำให้คนนับถือและเชื่อฟัง ไม่ใช่อำนาจ” (“คึกฤทธิ์ ปราโมช”) ความข้อนี้เป็นสัจธรรมในสังคมทุกระดับ แต่วันนี้จะยกมาเฉพาะประเด็นเรื่องของ ผู้ใหญ่กับเด็ก หรือคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ใน “สยามรัฐหน้า ๕” ฉบับวันที่ 7 กรกฎาคม 2515 “คึกฤทธิ์ ปราโมช” เขียนไว้ว่า “ใครที่เคยอ่านเรื่องรามเกียรติ์ก็จะต้องรู้จัก “ทรพี” “ทรพา” ควายขนาดใหญ่มหึมาสองตัว ทรีพีเป็นความหนุ่มลูกทรพา ทรพาเป็นพ่อของทรพีและเป็นควายแก่ เมื่อทรพีเป็นหนุ่มขึ้นมา ทรพีก็สู้กับทรพาผู้เป็นพ่อหรือเป็นควายแก่ เข้าไปสู้กันอยู่ในถ้ำจนเลือดนองไหลออกมาเป็นแม่น้ำ ฟังดูเผิน ๆ ก็อาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องเละเทะของคนโบราณ ผู้ซึ่งชอบเชื่อถือในสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ความจริงนั้นเปล่าหรอก เรื่องรามเกียรติ์ตอนนี้แสดงให้เห็นพลังของสัตว์หนุ่มที่ต้องการจะช่วงชิงอำนาจหัวหน้าฝูงจากสัตว์แก่ชนิดเดียวกัน ซึ่งเป็นธรรมดาโลก มีอยู่ในสัตว์ทั่วไป รวมทั้งในมนุษย์ด้วย ขอเรียกพลังนี้ว่า “พลังทรพี” ในฝูงสัตว์ที่มีจ่าฝูงนั้น เมื่อปรากฏว่ามีสัตว์ที่เป็นหนุ่มขึ้นมา สัตว์หนุ่มนั้นก็จะต้องหาทางประลองกำลังกับจ่าฝูงซึ่งมีอายุมากกว่าเพื่อแย่งความเป็นจ่าฝูงนั้น หากจ่าฝูงที่มีอายุมากกว่าสู้กำลังสัตว์หนุ่มไม่ได้ สัตว์หนุ่มก็เป็นจ่าฝูงต่อไป แต่ถ้าหากว่าจ่าฝูงเอาชนะสัตว์หนุ่มได้ จ่าฝูงก็คงอยู่ในตำแหน่งนั้นต่อไป ส่วนสัตว์หนุ่มที่พ่ายแพ้นั้นก็จะคงอยู่ในฝูง เป็นส่วนหนึ่งของฝูง ทั้งหมดนี้เป็นสัณชาติญาณของสัตว์โลกทุกชนิด ถ้าใครเคยเลี้ยงหมาจำนวนมาก ๆ ขนาดเป็นฝูงอย่างผมเลี้ยง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหมาไทยแล้ว จะต้องได้เคยพบว่าหมาตัวผู้ตัวใดตัวหนึ่งหรือหลายตัวซึ่งกำลังแตกเนื้อหนุ่มขึ้นมานั้น จะต้องพยายามใช้พลังทรพีกับเจ้าของหมาซึ่งมันนึกว่าเป็นจ่าฝูง ต้องกำราบปราบปรามให้แพ้กันไปข้างหนึ่ง จึงจะอยู่กันไปได้ด้วยปกติสุข สัญชาตญาณและพลังธรรมชาติเหล่านี้ ถ้ายังมีอยู่ก็แปลว่าสัตว์นั้นยังแข็งแรง เป็นพันธุ์ที่ดี และจะสืบพันธุ์ไปได้อีกนาน พุดง่าย ๆ ว่าเป็นอาการที่ดีของฝูงสัตว์ มนุษย์เราก็มีสัญชาตญาณอย่างนี้ คนหนุ่ม ๆ ของมนุษย์ก็มีพลังทรพีอย่างนี้ พอเติบโตเป็นหนุ่มขึ้นมา ก็อยากลองดีกับผู้ใหญ่หรือคนที่แก่กว่า มีความมักใหญ่ใฝ่สูงอยากจะเป็นผู้นำในสังคม คอยหาโอกาสขวิดผู้ใหญ่อยู่เสมอ จะเป็นเพราะสัญชาตญาณหรืออะไรก็ตามที สังคมมนุษย์ก็รู้ถึงพลังทรพีนี้ และได้หาทางจำกัดหรือควบคุมตลอดมาด้วยวิธีต่าง ๆ ในสังคมมนุษย์ในทวีปเอเชียเรานี้ ทรพาทั้งหลายได้ช่วยกันอบรมทรพีมาเป็นเวลาช้านานว่าผู้ใหญ่นั้นเป็นผู้ที่ควรเคารพนับถือ พ่อแม่เป็นผู้ที่มีพระคุณล้นเหลือ ความเห็นของผู้ใหญ่นั้นเป็นความเห็นที่รอบคอบ เพราะได้พิจารณาแล้วด้วยความรู้และประสบการณ์ จึงย่อมจะผิดพลาดได้ยาก พูดกันเป็นสุภาษิตว่า เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด ด้วยการอบรมเช่นนี้ การต่อสู้ระหว่างทรพีกับทรพาก็ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักในสังคมมนุษย์ มนุษย์ได้อยู่กันมาด้วยความเรียบร้อยเป็นเวลาช้านาน ตามความจริงนั้น ถึงแม้ว่ามนุษย์จะมีสัญชาตญาณและพลังเช่นเดียวกับสัตว์โลกอื่น ๆ โดยทั่วไป แต่ด้วยความเป็นมนุษย์ สัณชาติญาณและพลังเหล่านั้นจึงอยู่ลึกซึ้ง และมีความละเอียดอ่อนในตัวมนุษย์พอที่จะควบคุมได้ มนุษย์มีอีกอย่างหนึ่งซึ่งสัตว์อื่น ๆ ไม่มี คือเหตุผล ด้วยเหตุนี้ ถ้าหากว่าทรพาทั้งหลายยังสามารถดำรงตัวให้อยู่ในฐานะอันควรแก่ความเคารพนับถืออย่างที่ตนเรียกร้องเอาจากทรพีได้แล้ว ทรพีก็คงจะยังนับถือต่อไป ไม่ก้าวร้าว หมายความว่า คนรุ่นผู้ใหญ่ก็ยังดำรงตนให้อยู่ในฐานะที่ควรแก่ความเคารพ ไม่มากไปด้วยโทสะ โมหะ และโลภะ บิดามารดายงแสดงคุณของตนให้ปรากฏแก่ลูกได้อยู่โดยสม่ำเสมอ และผู้ใหญ่ยังสามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของตนให้แก่คนรุ่นหนุ่มได้ สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องระงับพลังทรพีที่มีอยู่ในตัวมนุษย์มิให้ระเบิดออกมา เป็นอย่างเดียวที่จะทำให้ทรพีไม่แสดงอำนาจขึ้นมาได้ แต่ถ้าในสังคมใดคุณสมบัติต่าง ๆ ของผู้ใหญ่เสื่อมคลายไป หรือหมดไป ทรพีก็จะต้องแสดงอำนาจขึ้นมาจนได้ และถ้าจะสู้กันจริง ๆ แล้ว ทรพาก็ต้องตาย ใครไม่เชื่อก็ไปเปิดเรื่องรามเกียรติ์อ่านเอาเองเถิด สรุปได้ว่าการใช้อำนาจกับรุ่นหนุ่มรุ่นสาวนั้น ไม่เกิดประโยชน์อันใด และไม่มีผลดีในทางใดทั้งสิ้น ความดีเท่านั้นที่จะทำให้คนนับถือและเชื่อฟังได้ไม่ใช่อำนาจ”