ทวี สุรฤทธิกุล

“สมเพช” แปลอย่างสุภาพได้ว่า “ไม่น่ารัก ไม่สวยงาม”

“สังเวช” ถ้าจะแปลให้น่าฟังก็คือ “น่าเศร้าใจ เสียใจด้วย”

ผู้เขียนมีเพื่อนเป็นนักวิชาการอยู่หลายคน บางคนมีหน้าเพจเฟสบุ๊คที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก อย่างเช่นเพจของศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร ประเด็นที่นำเสนอในหน้าเพจนี้(Chaiyan Chaiyaporn)เรื่องหนึ่งก็คือ รณรงค์ให้คนเห็นคุณค่าของทางม้าลาย ผู้ขับรถควรจะชะลอและหยุดรถให้คนที่กำลังข้าม แม้จะไม่มีสัญญาณไฟแจ้งเตือนก็ตาม ถึงขั้นที่มีการจัดทำสติกเกอร์ติดกระจกหลังรถ เพื่อให้ผู้คนตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องนี้ (การรณรงค์นี้เกิดขึ้นหลังกรณีการเสียชีวิตของ “หมอกระต่าย” พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล จักษุแพทย์โรงพยาบาลราชวิถี  ที่ถูก ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ขับบิ๊กไบค์ชนเสียชีวิต ขณะกำลังข้ามถนนที่ทางม้าลาย หน้าโรงพยาบาลสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท เมื่อ 21 มกราคม 2565)

ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อน อาจารย์ไชยันต์ได้ตอบคำถามที่มีคนถามเข้ามาว่า ถ้าเขากำลังข้ามทางม้าลาย แต่มีรถวิ่งมาแล้วไม่หยุด จนเขาต้องกระโดดหลบหลีกและเกือบเป็นอันตราย จะเอาผิดคนที่ขับรถคันที่ทำอย่างนั้นได้หรือไม่ อาจารย์ไชยันต์ตอบว่าเอาผิดได้โดยต้องไปแจ้งความให้ตำรวจดำเนินการ ต่อมาคนที่ร้องมาในเพจได้บอกกับอาจารย์ไชยันต์ว่า ได้ไปหาตำรวจแล้ว แต่ตำรวจไม่รับแจ้งความ เพียงแต่ให้ลงบันทึกประจำวันไว้ ซึ่งอาจารย์ไชยันต์ได้ตอบว่า ลงบันทึกประจำวันไม่สามารถไปเอาผิดคนทำผิดได้ ต้องแจ้งความเท่านั้น แล้วก็เล่าเรื่องแบบเดียวกันนี้ที่อาจารย์เองเคยเจอมากับตัวเอง ซึ่งตำรวจก็จะให้แค่ลงบันทึกประจำวันไว้เช่นกัน แต่อาจารย์ได้ยืนยันกับตำรวจว่าจะขอแจ้งความ และต้องยื้ออยู่นานจนตำรวจต้องยอมให้แจ้งความ

ประเด็นที่ตำรวจไม่ยอมรับแจ้งความนี้  อาจารย์ไชยันต์มองไปว่า เป็นการเลี่ยงที่จะไม่ทำ “งานเล็ก ๆ น้อย ๆ” เพราะตำรวจคงมีงานล้นมือ เมื่อรับแจ้งความแล้วต้องไปตามจับคนที่ทำความผิด ต้องใช้เวลาที่จะต้องไปเปิดกล้องวงจรปิด หรือหาพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้วต้องไปจับคนที่ทำผิดนั้นมารับข้อกล่าวหา มาสอบสวน มาส่งฟ้อง ถ้าผู้ต้องหาปฏิเสธก็ต้องสู้กันหลายศาล คดีเหล่านี้มีวันละเป็นสิบ ๆ คดี รวมเกือบร้อยโรงพักในกรุงเทพฯก็เป็นพัน ๆ คดี ตำรวจไม่อาจจะรับมือได้ทั้งหมด กระนั้นถ้าตำรวจไม่รับทำคดี ตำรวจเองก็อาจจะถูกดำเนินคดีเสียเอง ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือมาตรา 157 นั่นเอง

อาจารย์ไชยันต์มองต่อไปอีกว่า การที่ตำรวจไม่ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด แม้ในความเห็นของตำรวจว่าเป็น “เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ” น่าจะส่งผลเสียแก่สังคมนั้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการสร้างนิสัย “เคารพกฎหมาย” นั่นก็คือต่อไปคนก็จะไม่เคารพกฎหมาย ผู้ที่กระทำความผิดก็จะย่ามใจหรือได้ใจ เพราะเมื่อทำความผิดแล้วก็ไม่เห็นมีใครมาเอาเรื่อง หลายคนก็ยิ่งทำความผิดต่อไป และยิ่งได้ใจที่จะทำความผิดนั้นซ้ำ ๆ หรือทำต่อไปอย่างไม่เกรงกลัวหรือ “เคารพกฎหมาย” ส่วนผู้ที่ถูกกระทำก็จะท้อแท้ใจ และหมดความพยายามที่จะต่อสู้ให้เหนื่อยยากลำบาก รวมถึงเสี่ยงภัยอันตราย หากคนที่ทำความผิดนั้นเป็นผู้มีอิทธิพล หรือต้องการปิดปาก ผู้คนก็จะสิ้นศรัทธาในกฎหมาย และไม่เห็นความสำคัญของกฎหมายทั้งหลายนั้นอีกต่อไป ที่สุดนั้นก็คือ “ผู้รักษากฎหมาย” คือตำรวจนั้น ก็มองว่าการทำหน้าที่และปฏิบัติตามกฎหมาย มีแต่จะสร้างความยุ่งยาก เพิ่มภาระ จึงไม่ทำเสียก็ได้ ตำรวจเองเป็นผู้ถือกฎหมาย จะบิดพลิ้วจัดการกับกฎหมาย หรือใช้กฎหมายอย่างไรก็ได้ กฎหมายจึงเป็นแค่เครื่องมือของตำรวจ หาใช่คัมภีร์หรือศาสนาของตำรวจที่จะต้องยึดมั่นจนสุดชีวิต จึงไม่ต้องเคารพหรือยึดตัวบทกฎหมายในการทำหน้าที่แต่อย่างใด

ผู้เขียนเชื่อว่าเราหลายคนคงจะเจอเหตุการณ์แบบที่อาจารย์ไชยันต์และแฟนเพจได้เจอมานี้อยู่บ้างอย่างแน่นอน แต่เราก็มองว่าเป็นเรื่อง “เล็กๆ น้อย ๆ” แล้วก็ให้มันผ่านไป แต่เรื่องนี้ถ้ามองให้ดีจะเห็นว่ามีผลกระทบต่อสังคมเป็นอย่างมาก ที่อาจจะกล่าวได้ว่าบ้านเมืองของเราที่มัน “โหลยโท่ย” ในหลาย ๆ เรื่อง ก็เพราะผู้คนไม่เคารพกฎหมายนี้แหละ รวมถึงที่ได้สร้างนิสัย “เลว ๆ”นี้ ให้กับคนเลว ๆ จำนวนมาก ตั้งแต่ที่เป็นเด็กในชุมชนหมู่บ้าน ไปจนถึงผู้ใหญ่ที่ปกครองประเทศชาติบ้านเมือง

ผู้เขียนนึกถึงขบวนรถมอเตอร์ไซค์ที่วิ่งเฉี่ยวโฉบกลางช่องทางด่วนอย่างหนาแน่นตลอดวัน แต่ก็ไม่เห็นตำรวจมาจัดการอะไร บางทีก็แค่เข้ามา “จัดฉาก” เพื่อจับบ้างไม่จับบ้าง ตามรอบตามเวลา และยิ่งถ้าเป็นหน้าเทศกาล เช่น สงกรานต์ พวกมอเตอร์ไซค์เหล่านี้ก็วิ่งเกะระรานชาวบ้านเต็มเมืองไปหมด โดยตำรวจออกมาบอกว่าเป็นหน้าเทศกาลก็ “ผ่อนปรน” กันบ้าง หรือจะมีการจับบ้างก็เพื่อ “สร้างวินัยจราจร” ก็ทำพอเป็นพิธี

ตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ มีรถที่มาจอดผิดกฎหมายเต็มไปหมด แต่ผู้ใช้กฎหมายก็อ้างถึงการมีกฎหมายหลายฉบับ ตามฟุตบาทเป็นเรื่องของสำนักงานเขตและตำรวจเทศกิจ ตรงถนนก็มีแบ่งเป็นของตำรวจท้องที่ ตำรวจจราจรกลาง และตำรวจทางหลวง ซึ่งบ่อยครั้งที่ถูกนำมาเป็นข้ออ้างถึงความยากลำบากที่จัดการตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ แน่นอนว่าการละเลยแบบนี้ก็คือการ “เพาะเชื้อเลว” ให้กับคนที่ไม่เคารพกฎหมายทั้งหลายนั้น

มองไปที่พวกนักการเมืองและข้าราชการ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ เราก็จะเห็น “เชื้อเลว” ที่ถูกบ่มเพาะมาอยู่เต็มไปหมด การที่นักการเมืองและข้าราชการถูกสร้างมาให้รู้สึกว่า กฎหมายเป็นแค่เครื่องมือในการ “ทำมาหากิน” จะพลิกแพลงใช้อย่างไรก็ได้ ยิ่งพลิกแพลงเก่งก็ยิ่งมีอำนาจและร่ำรวยมากขึ้น และคนเลว ๆ แบบนี้ก็จะเกาะกลุ่มกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ตั้งแต่ที่เป็นก๊วนหรือพรรคพวกในชุมชนท้องถิ่น ไปจนถึงเป็นแก๊งค์หรือพรรคการเมืองในรัฐสภาและรัฐบาล เช่นเดียวกับที่ได้เห็นในกระทรวงทบวงกรมทั้งหลาย ที่รวมกันเป็นรุ่น เป็นเหล่า และเป็น “เพื่อนพ้องน้องพี่” เต็มไปหมด

“ความเลว” ก็เหมือน “เชื้อโรค” คือเริ่มจากอาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วลุกลามระบาดไปทั่วทั้งสังคม

“เชื้อความเลว” เหล่านี้มองให้เห็นในสังคมไทยอย่างเด่นชัด แบบที่เราได้เห็นคนในบางตระกูล “เลวทั้งโคตร” ตั้งแต่บรรพบุรุษมาจนถึงลูกหลานในทุกวันนี้