มาแล้วยังดีกว่ามาช้า มาช้ายังดีกว่าไม่มาและมาถูกทางแล้ว เพราะว่าการนิ่งเท่ากับยอมรับ เพราะต่อให้กองทัพจะประกาศปาวๆว่า เป็นอธิปไตยของไทย ไม่จำเป็นที่จะต้องนำข้อพิพาท 4 จุด ได้แก่ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด ปราสาทตาควาย และพื้นที่สามเหลี่ยมมรกต ขึ้นสู่ศาลโลก เพียงเพราะกลศึกจากเหตุปะทะชายแดนที่ “ช่องบก” อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 แต่เสียงที่ศาลโลกรับฟังคือ เสียงของนายกรัฐมนตรี ผู้นำของประเทศไทย จึงจะมีน้ำหนัก
ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศชัดกรณีกัมพูชาที่จะส่งเรื่องไปยังศาลโลก ไทยยืนยันว่าไม่รับเขตอำนาจศาลโลก ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศ ได้ดำเนินการผ่านวิธีทางการทูต ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นความร่วมมือที่ดีอยู่แล้ว และเป็นที่ยอมรับในเวทีสากล และมีผลลัพธ์ที่ออกมาดีโดยตลอด และเรื่องนี้ในบางครั้งไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดต่อสาธารณะชนได้ เพราะเป็นการเคารพการพูดคุยข้อมูลทั้งสองประเทศ เป็นสิ่งจำเป็นที่อาจจะไม่ได้สามารถรายงานได้ตลอด
นี่คือคำประกาศอย่างชัดเจนของนายกรัฐมนตรีของไทย เพราะหากย้อนไปในอดีตมีเรื่องราวที่ไทยเราต้องเจ็บปวด กับกรณี “เขาพระวิหาร” ที่จุดเริ่มต้นความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาเรื่อง “ปราสาทพระวิหาร” ย้อนไปถึงยุคอาณานิคม ปี พ.ศ. 2447 ที่สยามทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส ใช้ “สันปันน้ำ” เป็นหลักแบ่งพรมแดน ซึ่งตามหลักการนี้ ปราสาทพระวิหารควรอยู่ฝั่งไทย
แต่ปี พ.ศ. 2451 ฝรั่งเศสกลับจัดทำแผนที่โดยพลการ ทำให้ปราสาทอยู่ฝั่งกัมพูชา และแม้รัฐบาลสยามจะทราบ แต่ไม่ได้คัดค้านในขณะนั้น ด้วยเหตุผลด้านการทูตและการรักษาอธิปไตยโดยรวม
ปี พ.ศ. 2502 กัมพูชายื่นฟ้องไทยต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ให้คืนปราสาทพระวิหาร โดยอ้างแผนที่ปี 2451 ผลคือปี 2505 ศาลตัดสินให้ “ตัวปราสาท” เป็นของกัมพูชา ด้วยเหตุผลสำคัญว่า “ไทยไม่คัดค้านแผนที่” จึงถือว่ายอมรับโดยปริยาย
แม้ไทยจะยอมถอนกำลังจากตัวปราสาท แต่ยังคงอ้างสิทธิ์ในพื้นที่โดยรอบ เนื่องจากศาลไม่ได้ตัดสินแน่ชัดว่าเขตแดนจริงอยู่ตรงไหน
ในปี 2554 กัมพูชายื่นคำขอ “ตีความ” คำพิพากษาเดิม โดยอ้างว่าไทยยังไม่ปฏิบัติตามครบถ้วน พร้อมเรียกร้องให้ศาลออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว
ไทยคัดค้าน โดยระบุว่าไม่ใช่การตีความ แต่เป็นคดีใหม่แฝงการอุทธรณ์ อย่างไรก็ตาม ศาลโลกกลับรับพิจารณา และมีคำสั่งให้ทั้งสองฝ่าย “ถอนทหาร” ออกจากเขตพิพาท และอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์เข้าพื้นที่
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ศาลโลกมีคำตัดสินเป็นเอกฉันท์ว่า พื้นที่ทั้งหมดบน “ชะง่อนผาพระวิหาร” เป็นของกัมพูชา และไทยต้องถอนทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ออกโดยสมบูรณ์
แม้ศาลจะยังไม่ชี้ขาดเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาโดยตรง แต่ระบุชัดว่าไทยต้องเคารพอธิปไตยของกัมพูชาในพื้นที่ที่ได้วินิจฉัยแล้ว ทำให้ไทยต้องจำกัดกิจกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง
ดังนั้น วันนี้ ขีดเส้นใต้ชัดๆว่า “ไทยยืนยันว่าไม่รับเขตอำนาจศาลโลก”